สหกรณ์นอกภาคการเกษตรไทยขาดศูนย์กลางทางการเงิน(ธนาคารเพื่อการสหกรณ์)ไปเป็นเวลา 40 ปี (พ.ศ. 2509–2549)


สหกรณ์นอกภาคการเกษตรไทยขาดศูนย์กลางทางการเงิน(ธนาคารเพื่อการสหกรณ์)ไปเป็นเวลา 40 ปี (พ.ศ. 2509–2549)

ลำดับเหตุการณ์

ปี พ.ศ. 2486
มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อ การสหกรณ์ ขึ้น แต่ยังมิได้ตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์

ปี พ.ศ. 2490
รัฐบาลได้อนุญาตให้เปิด “ธนาคารเพื่อการสหกรณ์" ขึ้น ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2490 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของสหกรณ์ โดยรัฐบาลมีหุ้นส่วนในธนาคารด้วยเพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านเงินทุน และยัง มีสหกรณ์รูปต่างๆ เกิดขึ้นอีกด้วย

พ.ศ. 2505

กรมสหกรณ์ธนกิจได้รับคำสั่งจาก กระทรวงสหกรณ์ ให้ดำเนินการเปลี่ยนธนาคารสหกรณ์ ทั้งสอง 2 ธนาคาร คือ ธนาคารสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสหกรณ์ประเภทอื่น และให้หยุดดำเนินการธนาคารเพราะว่า รัฐสภา ได้ออกพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาใช้ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505 มีบทบัญญัติว่า ธนาคารพาณิชย์จะตั้งขึ้้นได้ก็แต่ในรูปบริษัทนจำกัด ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ความหวังที่จะขยายการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์จังหวัดให้แพร่หลายออกไปเป็นอันสิ้นสุดลง

และมาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใด นอกจากธนาคารพาณิชย์ ใช้ชื่อ หรือคำแสดงชื่อ ในธุรกิจว่า "ธนาคาร" หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน

ที่มา : อาลัยสหกรณ์จังหวัด เชิญ บำรุงวงศ์

ปี พ.ศ. 2509
(ปีนี้เป็นปีแรกที่ สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ขาดศูนย์กลางทางการเงิน ในรูปธนาคารเพื่อการสหกรณ์)
ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ได้เปลี่ยนเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยพระราชบัญญัติจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร" ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแเก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตรให้กว้างขวางออกไป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร

ปี พ.ศ. 2518
ชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด มีโครงการซื้อไซโลเพื่อเก็บและอบข้าวโพดส่งไปขายต่างประเทศ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ข้อบังคับของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไม่สามารถให้กู้ได้เพราะชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด
มีร้านสหกรณ์เป็นสมาชิก (จะให้กู้เฉพาะสถาบันที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกเท่านั้น ตามพรบ. จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่และมีมติให้คืนหุ้นที่ร้านสหกรณ์ถือไว้ ให้แก่ร้านสหกรณ์ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่หุ้นของ สหกรณ์การเกษตร และขอจดทะเบียนเปลี่ยนข้อบังคับและเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 เป็นต้นมาปัจจุบัน ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ย้ายที่ทำการจากแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (เดิม คือ ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร) มาก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ที่ 79 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ร้านสหกรณ์ที่เคยเป็นสมาชิกชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รวมตัวกันตั้ง ชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนข้อบังคับเมื่อ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2518 โดยใช้ชื่อย่อว่า “ชรสท." ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของ ชุมนุมการขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด ออกเป็นชุมนมุร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด

ปี พ.ศ. 2549
ธกส.ได้กลับมาให้บริการ ทางการเงินแก่สหกรณ์นอกภาคเกษตรอีกครั้ง ในรูปธนาคารเพื่อการสหกรณ์เหมือนเมื่อแรกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2549
- มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓) และ (๔) ของมาตรา ๙ แห่ง พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
(๔) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์"

วิเคราะห์

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2509 – ปี พ.ศ. 2549 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 40 ปี สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ขาดศูนย์กลางทางการเงินในรูปธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ซึ่งบรรพชนชาวสหกรณ์ได้มองการณ์ไกล ก่อตั้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 สำหรับขบวนการสหกรณ์ทั้งสหกรณ์ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

เป็นเหตุให้ขบวนการสหกรณ์ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสถาบันทางการเงินของตนเองเพื่อให้บริการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ในภาคเกษตร และสหกรณ์นอกภาคเกษตรขึ้นมาทดแทน ดั่งเช่น ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ซึ่งสามารถให้บริการ ขบวนการสหกรณ์ไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จนถึงปี พ.ศ. 2509 ในสมัยนั้น

จึงเกิด บริษัทสหประกันชีวิต และ แนวความคิดที่จะตั้ง U-Bank ขึ้นจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เพื่อให้บริการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ขึ้นเพื่อทดแทน สิ่งที่ขาดหายไป 40 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2509 – พ.ศ.2549)

ความคิดเห็นส่วนบุคคลของพีระพงศ์ วาระเสน คิดว่าปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ที่เกิดขึ้นอยุ่ในปัจจุบันน่าจะผลสืบเนื่องจากการขาดศูนย์กลางทางการเงิน รูปธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ในการให้บริการ สหกรณ์นอกภาคการเกษตร และธนาคารเพื่อการสหกรณ์ เชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร

และเพื่อเป็นการพัฒนาการเชื่อมโยงทางการเงินของ ขบวนการสหกรณ์ ในระหว่างสหกรณ์นอกภาคการเกษตร เอง และระหว่างสหกรณ์นอกภาคการเกษตร กับสหกรณ์ภาคการเกษตร ในระยะเริ่มต้นนี้ จะต้องขอความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้ขยายบริการในลักษณะธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ให้กับขบวนการสหกรณ์ไทยให้เทียบเท่ากับธนาคารเพื่อการสหกรณ์ที่เคยเกิดขึ้น และให้บริการอย่างพอเพียงกับความต้องการของขบวนการสหกรณ์ไทย เพื่อทดแทนบริการที่ขาดหายไป ในระยะเวลา 40 ปีดังกล่าว

พีระพงศ์ วาระเสน
23 มกราคม 2557

หมายเลขบันทึก: 559936เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2014 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2017 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท