และแล้วกระดูกก็หัก


                                   

เที่ยงแก่ๆของอาทิตย์ที่แล้ว เพิ่งตรวจผู้ป่วยนอกรายสุดท้ายเสร็จ เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่าขอแทรกอีกรายนะคะ คนไข้เจ็บตะโพกมาก แพทย์ท่านอื่นในชั้นเดียวกันไปทานข้าวกันหมดแล้ว ญาติเข็นผู้ป่วยเข้ามาเองเลย อ้าว! ผู้ป่วยเก่าที่ดูแลกันมา4-5 ปีแล้ว เป็นผู้หญิงอายุ     ปี ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้ายมาประมาณ 5 ปีแล้ว เดินไม่ได้ แต่คนดูแลมีกัน 2-3 คน ดูแลกันดีมาก ช่วยพยุงให้ยืนขึ้นบ้าง ทำกายภาพบำบัดให้ทุกวัน จนแขนขาซ้ายพอขยับได้บ้างแต่ยกต้านแรงโน้มถ่วงไม่ได้

2 วันก่อนมาโรงพยาบาลรอบนี้ คนดูแลจับบิดพลิกตัวยังไงไม่ทราบ หลังจากนั้นผู้ป่วยก็ปวดสะโพกซ้าย คราวนี้จับนั่ง จับยืนก็ไม่ไหวเสียแล้วเจ็บสะโพกซ้ายมากทีเดียว ผู้ป่วยอยู่บนรถเข็นพูดคุยรู้เรื่องดี จับเหยียดขาซ้ายก็ไม่ปวด แต่พอไปกดด้านข้างสะโพกซ้ายบอกเจ็บมาก จึงตัดสินใจส่ง x-rays สะโพกทั้งสองข้าง ปรากฏว่ากระดูกสะโพกซ้ายหัก ( subtrochanteric fracture ) จึงได้ส่งปรึกษาแพทย์ทางด้านศัลยกรรมกระดูก หลังจากนั้นผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กเชื่อมกระดูก เพื่อให้กลับไปมีกิจกรรมใกล้เคียงแบบเดิมให้มากที่สุด

                                

กระดูกหักรายนี้เรียก fragility fracture หมายถึงแค่แรงเบาๆก็ทำให้กระดูกหักได้แล้ว เนื่องจากกระดูกเปราะบาง ซึ่งรายนี้มีหลายสาเหตุ คือ อายุมาก เป็นอัมพาตครึ่งซีก ไม่ได้ลุกเดิน ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยไม่ลุกเดินอยู่แล้วก็คิดว่าไม่น่าจะมีโอกาสหกล้มให้กระดูกหักได้ จึงไม่ได้รักษาเรื่องกระดูกพรุน แต่ก็คิดผิดเพราะแค่พลิกตัวเร็วและเกิดแรงบิดที่กระดูก ก็ทำให้หักได้อย่างผู้ป่วยรายนี้ ฉะนั้นหลังการผ่าตัดเชื่อมกระดูกแล้ว จึงต้องจัดโปรแกรมเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดการหักซ้ำสองอีก โดย

  1. ฝึกกายภาพบำบัด และจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหัดยืนบ้าง เพื่อกระตุ้นให้มีการลงน้ำหนักที่ขาบ้าง ถึงแม่จะเดินไม่ได้ก็ตาม
  2. จัดอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงพอ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการให้ได้รับโปรตีนพอเพียง ( 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ) เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
  3. จัดให้ผู้ป่วยได้รับแดดบ้างวันละ 15 นาที
  4. ฝึกคนดูแลเรื่องการเคลื่อนย้าย พลิกตัว เพื่อป้องกันการล้มหรือกระดูกหักซ้ำ
  5. ให้การรักษาโรคกระดูกพรุนควบคู่ไปด้วย

ผู้ป่วยรายนี้จะเป็นกรณีศึกษา ติดตามเฝ้าระวังเรื่องกระดูกหักซ้ำ ซึ่งกำลังจะทำโครงการ Capture the Fracture อยู่พอดีเลย ขณะนี้ผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรับการฟื้นฟูสภาพอยู่

หมายเลขบันทึก: 559229เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2014 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกำลังใจให้คุณหมอ และคนไข้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท