เลือกตั้งองค์การนิสิต ปี ๒๕๕๗ : ว่าด้วยนโยบายของผู้สมัครฯ


ถึงแม้การเลือกตั้งองค์การนิสิต จะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เอาเป็นเอาตาย หรือชี้เป็นชี้ตายเหมือนการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน-อบต- สจ- สว,- สส. ในสังคมจริงก็เถอะ แต่ผมเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ละเลยไม่ได้ ไม่พูดไม่ย้ำเลยก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการส่งเสริมให้นิสิตกลายเป็นพลเมืองที่ไม่รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตัวเองแบบกรายๆ ไปในตัว

๑๓ มกราคม ๒๕๕๗  เป็นอีกครั้งที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งองค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗  ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารกองกิจการนิสิต บุคลากรกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  คณะกรรมการกลางจากนิสิต และผู้สมัครลงรับเลือกตั้งจาก ๒ กลุ่ม คือกลุ่มนิสิตพลังสังคม และกลุ่มนิสิตมอน้ำชี 

โดยหลักๆ แล้วในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานตามระบบและกลไก PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นที่ัตั้ง  ซึ่งมุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์  รวมถึงการนำปัญหาจาก “อดีตและปัจจุบัน” มาร่วมคิดและร่วมตัดสินใจร่วมกัน  เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น คล่องตัวและบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์การจัดการเลือกตั้ง


สำหรับผมแล้ว ผมยังคงปักธงให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำนโยบายของแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละพรรค  โดยเฉพาะการสะท้อนให้เห็นว่าในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา กลุ่มนิสิตที่ชนะการเลือกตั้ง ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ตาม “นโยบาย” ที่หาเสียงไว้  มิหนำซ้ำกิจกรรมที่จัดขึ้น มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สัมพันธ์กับนโยบายที่ป่าวประกาศไว้  เสมือนสร้างภาพสวยหรู ขายฝันแต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ แถม “สภานิสิต” ก็ไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำเป็นไปตามนโยบายหรือไม่  ยิ่งพลอยให้ภาพฝันก่อนการเลือกตั้งกับภาพความจริงหลังการเลือกตั้งเป็นหนังคนละม้วนกันเลยก็ว่าได้


แน่นอนครับ  ถึงแม้การเลือกตั้งองค์การนิสิต จะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เอาเป็นเอาตาย หรือชี้เป็นชี้ตายเหมือนการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน-อบต- สจ- สว,- สส. ในสังคมจริงก็เถอะ  แต่ผมเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ละเลยไม่ได้  ไม่พูดไม่ย้ำเลยก็ไม่ได้  เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการส่งเสริมให้นิสิตกลายเป็นพลเมืองที่ไม่รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตัวเองแบบกรายๆ ไปในตัว และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการบั่นทอนเรื่อง "จิตสาธารณะ" ในระดับบุคคลและสังคมไปในตัวด้วยเหมือนกัน

 

ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งในรั้วมหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นการเรียนรู้ครรลองชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย  เรียนรู้โครงสร้างทางสังคม  เรียนรู้เรื่องหน้าที่ เรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตบนวิถีของคำว่าแพ้-ชนะ และอื่นๆ อีกจิปาถะ 

และนอกจากนี้แล้ว  ผมยังสะท้อนแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาในสไตล์ “จริงจัง จริงใจ” ต่อนิสิต เป็นต้นว่า

  • นโยบายควรสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย เช่น ปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)  เอกลักษณ์ (มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์ (นิสิตเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  ค่านิยมของการเป็นนิสิต (MSU FOR ALL) 
  • นโยบายควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เช่น  มหาวิทยาลัยสีเขียว หรือมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ  มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน  หรือการบูรณาการกิจกรรมนิสิตกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยงานบริการวิชาการแก่สังคม และงานด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
  • นโยบายควรสอดคล้องกับกระแสหลักของสังคม เช่น  พลังงานและสิ่งแวดล้อม  ภาษาและประชาคมอาเซียน  เศรษฐกิจพอเพียง 
  • นโยบายควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่สามารถขับเคลื่อนได้  ทั้งทำได้เอง หรือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัย  หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นนโยบายที่ต้องถูกนำไปขับเคลื่อน ไม่ใช่หาเสียงสร้างภาพฝันลมๆ แล้งๆ พอให้ได้คะแนนเสียงเท่านั้น
  • ฯลฯ

อย่างไรก็ดีในสิ่งที่สะท้อนไปนั้น ยืนยันว่าเป็นข้อเสนอแนะกว้างๆ ไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ให้นิสิตทำตามแนวคิดของผม  หากแต่พยายามสื่อให้เห็นว่าภายใต้องค์กร หรือบ้านหลังเดียวกันนั้น  การจะทำอะไรสักอย่าง ย่อมควรต้องคิดคำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างร่วมกัน  มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำไปคนละมุมคนละทิศ  เสมือนไร้ยุทธศาสตร์นั่นเอง  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเองก็ไม่ลืมที่จะชื่นชมว่าสิ่งที่นิสิตได้คิดและบัญญัติเป็นนโยบายนั้น “ดีอยู่แล้ว”  เพียงแต่หากสามารถปรับแต่งให้สัมพันธ์กับนโยบายของมหาวิทยาลัยได้ยิ่งดี  รวมถึงหากชนะเลือกตั้งแล้ว ต้องทำในสิ่งที่ป่าวประกาศไว้  หรือแม้แต่แพ้เลือกตั้ง ก็อย่าละทิ้งที่จะทำในสิ่งที่ป่าวประกาศไว้


นอกจากนี้แล้ว  ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสภาพปัญหาของ “อดีต-ปัจจุบัน” ที่ว่าด้วยการเลือกตั้งองค์กรนิสิตจากปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗  เพื่อป้องกันและแก้ไขร่วมกัน   เช่น 

  • มุ่งสร้างความเข้าใจกับนิสิตว่า “การเลือกตั้งเป็นหน้าที่”
  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย  ทั้งโดย กกต. และผู้สมัคร
  • เชิดชูคณะที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเกิน ๕๐ % ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ในสังกัดคณะนั้นๆ
  • ให้ถือว่าการใช้สิทธิ์เลือกตั้งองค์กรนิสิตเป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาให้ทุนการศึกษาที่สำคัญๆ เช่น ทุนภูมิพล  ทุนนักกิจกรรม
  • กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันเดียวกัน (สภานิสิต สโมสรนิสิต และองค์การนิสิต)  เพื่อสร้างความคึกคักในการเลือกตั้งและการประหยัดงบประมาณ
  • ทำหนังสือมอบอำนาจให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้ลงนามรับรองการมาใช้สิทธิ์ในสมุดบันทึกกิจกรรม
  • ฯลฯ

 

ครับ, ค่อยมาดูกันอีกทีว่าสิ่งที่โสเหล่ร่วมกันในวันนี้  จะนำไปสู่การปรับแต่งกี่มากน้อย  หรือหลังการเลือกตั้งแล้ว กิจกรรมที่จะมีขึ้นสัมพันธ์กับนโยบายที่ป่าวประกาศประชาสัมพันธ์หาเสียงอยู่ในขณะนี้หรือไม่...

เพราะนี่คือการเรียนรู้ที่ไม่ควรละข้ามไปได้  และการเรียนรู้คือกระบวนการเติบโตของชีวิต !

 

หมายเลขบันทึก: 559172เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2014 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆและDDDDDDDDDDDDDDDDDD"........ช่วยกันเชียร์....เจ้าค่ะ.......เด็กวันนี้..คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า....

.... การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสภาพปัญหา ..... เป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ครับ คุณ ยายธี

หากแต่วันนี้ ในบางสภาวะของผู้ใหญ่ ก็มิอาจเป็นแบบอย่างของเด็กได้เลย...
ยิ่งวันนี้ ยิ่งได้รับรู้ว่าเด็กตัวเล็กๆ ต้องจบชีวิตลงเพราะวิถีการเมืองของผู้ใหญ่ ยิ่งพลอยเศร้าใจ...

ครับ พี่ Dr. Ple

ขณะหนึ่งของผู้คน ก็ไม่พึงใจที่จะเรียนรู้ผ่านปัญหาเดิมๆ เท่าไหร่ มุ่งหน้าตั้งตาทำโดยไม่ถอดบทเรียน สุดท้ายข้ามไม่พ้น ตกหลุมดำเดิมๆ อีกรอบ สูญเสียเวลาและทรัพยากรอย่างน่าใจหาย ครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท