มะเร็งตับโดยนายแพทย์ถนัด ไพศาขมาศ


มะเร็งตับ

 

  มะเร็งตับ เป็นมะเร็งน่ากลัวและพบได้มากในคนไทย โดยเป็นมะเร็งที่พบได้มากอันดับต้น ๆ

ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วเพราะพบเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว

 

สาเหตุของมะเร็งตับในประเทศไทยมีหลายสาเหตุดังนี้

     เกิดจากไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดบีและซี คนที่เป็นพาหะไวรัสบีจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดมะเร็งตับเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป คนที่เป็นพาหะไวรัสบีคือผู้ที่มีเชื้อไวรัสบีในร่างกายแต่ยังไม่มีอาการ คนกลุ่มนี้สามารถแพร่กระจายโรคให้ผู้อื่นได้โดยทางเลือดหรือเพศสััมพันธ์ ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็มีความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายและมีโอกาสเกิดตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้

 

   เป็นที่ทราบกันดีว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการทำลายตับ และหากตับถูกทำลายจนกลายเป็นตับแข็ง ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับจะสูงมาก นอกจากนี้สารพิษต่อตับที่ก่อมะเร็งที่รู้จักกันทั่วไปคือ อะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราบางชนิด พบได้ในอาหารแห้งหรือหมักดอง เช่น ถั่วลิสงคั่วป่น พริกป่น เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ กุ้งแห้ง สารพิษตัวนี้ยังทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถทำลายให้หมดไปได้ แม้จะหุงต้มตามปกติ การเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของตับและร่างกายโดยรวมด้วย

 

 

    อาการของมะเร็งตับในระยะแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกระทั่งมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลาม ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการแน่นท้อง ปวดท้อง จุกเสียด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด ถ้าโรคเป็นมากขึ้น อาการปวดจะชัดขึ้นโดยเฉพาะปวดชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง คลำได้ก้อนบริเวณท้องด้านขวา ท้องมาน มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ตรวจพบเมื่อมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลามแล้วทำให้ยากต่อการรักษาและโอกาสเสียชีวิตมีสูง การป้องกันและการเฝ้าระวังในผู้ที่มีความเสี่ยงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีอาการตับแข็ง ผู้ที่ชอบทานของแห้งของหมักดองที่อาจมีสารก่อมะเร็ง ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว

 

 

   การตรวจหามะเร็งตับ ในปัจจุบัน แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ใช้เครื่องมือคือการทำอัลตราซาวด์ หรือใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาก้อนผิดปกติในตับ การตรวจชิ้นเนื้อ บางรายมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมด้วยตามความเหมาะสม หากตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การรักษาวิธีอื่น คือการใส่ยาเคมีเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง การใช้คลื่นเสียงและเข็มความร้อนทำลายมะเร็ง การใช้สารกัมมันตรังสีทำลายมะเร็ง หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนตับในบางราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค

 

 

 

การป้องกันมะเร็งตับ จึงเป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงโรคนี้ เป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กทุกราย ทำให้อัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลงมาก แต่ไวรัสตับอักเสบซียังพบได้ค่อนข้างมากนอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือทานอาหารที่อาจมีสารก่อมะเร็งและอาหารที่มีเชื้อราขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารดิบที่ปรุงไม่สุกเพราะอาจมีพยาธิใบไม้ในตับซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งของทางเดินน้ำดีได้ซึ่งพบได้มากทางภาคอีสาน

ที่สำคัญคือควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี หากเป็นพาหะไวรัสบีจะแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเฝ้าระวังเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ครับ.......นายแพทย์ถนัด ไพศาขมาศ อายุรกรรมผู้สูงอายุ 

 

(ขอบคุณ เรื่องของมะเร็งตับ โดยนายแพทย์ถนัด ไพศาขมาศ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ )

 

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม พ.ศ ๒๕๕๗

 

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 558719เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2014 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2014 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกที่ได้ย้ำเตือนให้พึงระวัง ครับ

สัปดาห์หน้าจะไปเจาะเลือดเพื่อตรวจดูเชื้อหลังหยุดยามา 6 เดือนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท