ผู้แทน


ผู้แทน (representative)

 

ในช่วงนี้ความหมายของคำว่า "ผู้แทน" เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และจะมีผลตามต่างๆนานาอันมีความสำคัญต่อชีวิตและสังคม ของตัวเราเอง ครอบครัว ชุมชน และโดยรวมทั้งประเทศ จึงขอรำพึงรำพันเรื่องนี้สักนิดนึง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อันหมายความว่าไม่เพียงแต่เราจะชอบพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน สังสรรค์กันเท่านั้น แต่โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ถูกออกแบบ (creator concept) หรือวิวัฒนา (evolution concept) ให้เป็นสัตว์สังคมเลยทีเดียว เพราะเผ่าพันธุ์มนุษย์เกิดมาเรามีร่างกายที่อ่อนแอมาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน กว่าที่เราจะสามารถอยู่อย่างพอช่วยตัวเองให้มีชีวิตรอดได้ ข้อดีก็คือ เราไม่จำเป็นต้องมี "ทุกอย่าง" ที่เอื้อต่อสุขภาวะของเรา ความเป็นสัตว์สังคม เราจะสามารถไปขอหยิบยืมสิ่งอื่นๆอันเป็นปัจจัยแห่งความสุขที่เราต้องการแต่เราไม่มี จากคนอื่นๆได้ และเราก็จะมีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาสิ่งที่ "เรามี" ก็เพื่อไม่เพียงเฉพาะตัวเราเอง แต่เพื่อให้หยิบยืมแก่คนที่ต้องการสิ่งที่เรามีไปด้วย

พออยู่ด้วยกันในสังคมอันมีทรัพยากรจำกัด ก็ต้องมีการแบ่งสันปันส่วนกัน ในในที่สุดก็ต้องไปสร้าง "ระบบ" ในการจัดการการที่จะมาอยู่ด้วยกัน ระบบที่ว่านี้ก็ถูก "ออกแบบ" มาโดยคนในสังคมนั่นแหละ เรียกว่า "ระบบการปกครอง" เพื่อให้สังคมหรือชุมชนนั้นๆเกิดความเสถียรในระดับที่อยู่ได้ดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกันต่อความทุกข์ประเภทต่างๆพอให้เกิดความสมดุล

ขั้นตอนการ "ออกแบบ" นี้เองที่เกิดระบอบการปกครองที่หลากหลายขึ้นมา มีปรัชญาเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่มากมาย และจนบัดนี้ทุกๆระบอบที่ถูกออกแบบขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีระบอบไหนที่สมบูรณ์แบบ ไร้ข้อบกพร่องเลย อาจจะเป็นเพราะปริมาณคนในชุมชน และคุณลักษณะต่างๆของสมาชิกในชุมชน ความหลากหลายของมนุษย์ในการมองเห็นและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ฯลฯ ทำให้แม้แต่ระบอบที่อาจจะดีที่สุด แต่เมื่อเพิ่ม "ข้อบกพร่องของมนุษย์" ลงไปในสมการเมื่อไร ก็เกิดความไม่แน่นอน และความไม่เสถียรขึ้นมาได้เสมอ

ระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ หรือนักนิติศาสตร์ ขอวิพากษ์เรื่องนี้ในฐานะสมาชิกชุมชนธรรมดาๆ ระบอบนี้น่าสนใจที่การแก้ปัญหา "ความหลากหลาย"​ ของสมาชิกในชุมชนนั้นมีความเป็นระบบ คือ เราก็รวมเอาคนที่ "เห็นคล้ายๆกัน" มานับเป็นหนึ่งคนสิ จะได้ลดจำนวนคนที่จะมาพูด นี่คือระบอบ "ผู้แทน" ที่หนึ่งคน เราหวังว่าคนๆนี้จะเป็นตัวแทนของคนจำนวนมากได้ (อันเป็นที่มาของการกำหนดว่า ผู้แทนหนึ่งคนน่าจะแสดงความคิดเห็นแทนคนได้สักเท่าไหร่ดี) 

ที่มาของ "ผู้แทน" คนนี้นี่น่าสนใจ เพราะกระบวนการจะกำหนดคุณภาพเสมอ เหมือนงานวิจัย ที่ research methodology หรือระเบียบวิธีวิจัยจะเป็นตัวกำหนดความถูกต้อง และคุณค่าของงานวิจัยนั้นๆ

โดยหลักการ ผู้แทน ก็คือ "แทนความคิด ความต้องการ ความรู้สึก" ของคนที่เขาแทน ไม่ใช่แทนรูปร่าง หน้าตา แต่เป็นมาแทนเพื่อแสดงสิ่งที่อยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะทำ อยากจะให้เกิด ดังนั้นหากกระบวนการเลือกผู้แทนนั้น รับรองหลักการนี้ เราก็จะได้ผู้แทนที่ตรงตาม specification 

สิ่งที่น่าสนใจคือ พอเรามา "พลิกมุม" ดูด้านต่างๆ มันเกิดมุมมองได้หลากหลาย อาทิ

  • ผู้แทนในแง่ academic ก็จะแทนความคิด ความต้องการ ความรู้สึกที่ผลักดันมาจากความรู้ ปัญญา เทคโนโลยี
  • ผู้แทนในแง่เศรษฐศาสตร์ ก็จะแทนความคิด ความต้องการ ความรู้สึกที่ผลักดันมาจากเรื่องอาชีพ การสร้างผลิตผล แรงงานประเภทต่างๆ
  • ผู้แทนในด้านโครงสร้างสังคม ก็จะแทนสิ่งเหล่านั้นในอีกหลายๆมิติ เช่น สุขภาวะ สาธารณสุข ความยุติธรรม ความปลอดภัยมั่นคงต่อชีวิต ฯลฯ

ดังนั้นเวลาที่คนๆหนึ่งพูดคำว่า "ผู้แทน" นั้น เราไม่อาจจะมั่นใจได้ทันทีว่า ตกลงหมายถึงมิติไหน หรือทุกมิติ หรือบางมิติ

และที่น่าพิจารณาไปกว่านั้นก็คือ ถ้าผู้แทนเป็นตัวแทน คือเป็น proxy เท่านั้น ความสำคัญจริงๆต้องอยู่ที่ "คนที่ผู้แทนนั้น ทำหน้าที่แทน" ว่าคนเหล่านั้นต้องการอะไร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ "ทราบว่า​" ตนเองต้องการอะไร และคนที่ทราบทุกคนก็ใช่ว่าจะแสดงออกมาให้คนอื่นทราบ และคนที่ทราบก็จะมีหลายมิติที่ตนเองต้องการ และอาจจะเคยหรือไม่เคย จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ตนเองอยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะทำ ว่าอะไรก่อนอะไรหลัง ถ้าได้เลือกเพียงไม่กี่อย่าง จะเอาอะไรก่อน และมีแม้กระทั่ง "คนที่ไม่ทราบ และไม่สนใจจะคิดด้วยว่า ต้องการสังคมแบบไหนถึงจะดีที่สุด"

สภาผู้แทนราษฎร

โดยหลักการเดิม สภานี้ (congress, congregation ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะสมุหนามของสัตว์ชนิดต่างๆในภาษาอังกฤษจะแยกไปตาม species เช่น flock of birds, herd of cow, school of fish และที่มี email chains เมื่อไม่นานมานี้คือ congress of baboons!!) เป็นตัวแทนราษฎรในแง่ใด?

  • academic
  • economic
  • social structure
  • all of the above

เพราะถ้าหากเรามาทำวิเคราะห์ย้อนหลังแล้วพบว่า "ผู้แทน" ในสภาที่ว่านี้ ไม่ได้สะท้อน values ของสังคมอย่างที่ต้องการแต่แรก ผลที่ได้รับจากการมีผู้แทน ก็จะไม่ได้ "แทน" จริงๆ แต่เป็นแทนเทียมๆไป

เราจะเรียกสภาผู้แทน หรือสภาประชาชน สภาเปรสิเดียม คองเกรส ฯลฯ ภาษาอะไรก็แล้วแต่ แต่หลักการยังคงเหมือนเดิม และกระบวนการที่เราใช้นั้น มัน "การันตี" ผลหรือไม่?

ณ จุดๆนี้ คนจะเริ่มเหนื่อยกับการที่จะได้ผู้แทนตามหลักการ และหลายๆคนเร่ิมจะ settle คือยอมเอาที่ว่า "เอาแบบง่ายๆ พอทำได้ก็แล้วกัน ไม่ต้องเป๊ะมาก" เมื่อกระบวนการถูกลดหย่อนการกรองคุณสมบัติและหลักการของผลลัพธ์ เราก็จะได้อย่างที่กระบวนการนั้นทำให้ คือผลลัพธ์ที่เริ่มเบี่ยงเบนออกไป ออกไปมากน้อยขนาดไหน ขึ้นกับการออกแบบกระบวนการเริ่มต้น กระบวนการรักษา กระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการแก้ไข

และในอีกแง่มุมหนึ่ง

ถ้ามนุษย์แตกต่างกัน และมีศักยภาพ มีความสนใจ มีความละเอียดรอบคอบ มีปัญญาที่หลากหลาย เรานำเอาคนที่ "ไม่ถนัด" ด้านหนึ่ง ไปออกแบบอะไรอีกเรื่องหนึ่ง เพียงเพราะเพื่อ "เป็นตัวแทนเสียง" จะเป็นผลดีหรือผลร้ายเช่นไร? 

ในชีวิตจริง เราพึ่งพา "ผู้เชี่ยวชาญ" ค่อนข้างมาก เพราะอย่างที่เกริ่นในตอนแรก มนุษย์นั้นแตกต่างกัน เราถนัดไม่เหมือนกัน (และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน) เราไม่ใช้วิธีโหวตเสียงข้างมากให้ใครเป็นคนทำบะหมี่ ให้ใครตัดเสื้อ ให้ใครเป็นตำรวจทหาร ให้ใครเป็นหมอเป็นพยาบาล เป็นวิศวกร เป็นทนาย เป็นผู้พิพากษา กรรมกร สาวโรงงาน คนกวาดขยะ ช่างเครื่อง คนขับรถประจำทาง ฯลฯ ทั้งๆที่เราก็อยากกินบะหมี่ อยากมีเสื้อผ้าสวยๆ อยากจะถูกคุ้มครอง อยากจะมีระบบดูแลสุขภาพที่ดีๆกันทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็น "มิติทางสังคมที่ทุกคนต้องการ" แต่เราไม่ได้ใช้ระบบ "ผู้แทน" ในการคัดเลือกคนมาทำเรื่องเหล่านี้

สภาประชาชน

ประเทศเรากำลังประสบปัญหาที่ค่อนข้างหนัก และมีความคิดเห็นที่แตกแยก แตกต่างกันมาก บางคนบอกว่าเป็นปัญหา "ความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน" แต่ในวาระปัจจุบัน มัน "ไม่ใช่เรื่องการเมือง" เท่านั้น แต่เป็นเรื่องความถูกผิด

  • เรื่องจะคอรับชั่นดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ประเด็นความคิดเห็นทางการเมือง
  • เรื่องจะให้อภัยคนโกงชาติได้หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นความคิดเห็นทางการเมือง
  • เรื่องการจะมีหรือไม่มีระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณประเทศ ไม่ใช่ประเด็นความคิดทางการเมือง
  • เรื่องจริยธรรมการเสียบบัตรลงชื่อทำงาน ลงคะแนนเสียง ไม่ใช่ประเด็นความคิดเห็นทางการเมือง
  • เรื่องการไม่ยอมรับฟังคำอภิปรายที่แตกต่างจากของตนเอง ไม่ใช่ประเด็นความคิดเห็นทางเมือง

คนที่พยายามพูดเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นเพราะแค่ความคิดเห็น "ไม่ตรงกันทางการเมือง" ก็เพียงเพื่อจะแถไปใช้วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองเท่านั้นเอง เรื่องที่ว่ามาข้างต้นนั้น เป็นเรื่องความถูกผิดที่ชัดเจนมาก

สิ่งสำคัญที่เราต้องการในการปฏิรูปประเทศ คือ "กระบวนการ" ที่จะคัดกรองให้เราสามารถจะได้ "ผู้แทน" ที่เป็นผู้แทนจริงๆ ตามหลักการของระบอบการปกครอง ไม่ใช่ผู้แทน technical ซึ่งเป็น tecnique ที่มี flaws มีความบกพร่องทางการตรวจสอบ การคัดเลือก และการควบคุมการทำงาน

สภาประชาชนที่เราต้องการนั้น จะเป็น "ใครก็ตาม" ที่สามารถออกแบบกระบวนการที่ว่านี้ขึ้นมา เพื่อกำจัดความผิดพลาดของระบบ ก็จะตรงต่อความต้องการแล้ว เรายังไม่ได้เริ่มแม้กระทั่งเห็น "ระบบใหม่" เลย แต่ทำไมคนถึงได้คัดค้านการแก้ไขระบบที่เราเห็นแล้วว่าผลงานของระบบมันเป็นเช่นไร

"ผู้แทน" ในสภานี้ ไม่ได้เป็นผู้แทนในมิติอาชีพ ในมิติจำเพาะ แต่เป็นมิติสังคม ที่มี values พื้นฐานคือ ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต สุขภาวะตามอัตภาพ ความก้าวหน้ามั่นคงของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน เราไม่ได้ต้องการคนจาก "ทุกอาชีพ" แต่ต้องการคนที่ compassion กับการจัดระบบ กับความยุติธรรม และการมุ่งมั่นที่จะกำจัดความเลวร้ายในสันดานอันเป็นภัยต่อส่วนรวม ไม่ต่อรองกับซาตานเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

คงจะยาก แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้

สกล สิงหะ

เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

๑๑ นาฬิกา ๓๓ นาที วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗

ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง

 

หมายเลขบันทึก: 558667เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2014 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2014 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่ช่วยเสริมความคิดเห็นในทางการเมือง

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ ครับ

ทั้งนี้..ทั้งนั้น..คงเป็น..ความยากกกส์(แบบยกกำลังไม่รู้จบ)...ซาตานที่มีเยอะะะะไปหมด..รูปโฉม..ดูดีทั้งนั้น..จนสังคมซื่อเบื่อ..ไปซ้ะเล่ว..ทำไงดี..บำบัดได้ไหมเนี่ยะ..คุณหมอเจ้าขา....ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท