PLC เกิดแล้วที่นี่ เมื่อเช้าวันนี้เอง....


PLC คืออะไร ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  สิ่งสำคัญคือ "เขา" พบว่า หากมีองค์ประกอบต่อไปนี้ แล้วดีสำหรับนักเรียน...

  • Professional เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับอาชีพ หรือหน้าที่บทบาทของเรา...
  • Learning คือเกิดการเรียนรู้...
  • Community คือ ชุมชน คือร่วมกัน ช่วยกัน คุยกัน .....

หากนิยามแบบนี้ วันนี้เกิด PLC แล้ว ที่ GE (General Education) มมส. .... ขอเล่าแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ ....

วันนี้คุณอาเพ็ญศรี ใจกล้า  กับลูกศิษย์ ๒ คน คือ แสน และ แซม มาหาผมที่ทำงานแบบให้ตั้งตัวพอสมควร... หลังจากที่ทั้ง ๓ คนกลับไป ผมรู้สึกได้ชัดว่าใจผมมีความสุขมาก... ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าตนเองก็มีประโยชน์บ้างเหมือนกัน...

ทั้ง ๓ คน ได้ "ถก" และ "ทำ" กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาการเรียนรู้ผ่านโครงงานบนฐานปัญหาจริงของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่เราคุยกันเป็นปัญหา "สดๆ" หน้างาน ทำให้การพูดคุยสนุกมาก...สนุกจนผมลืมเวลาไปเลย....... ผมเริ่มจำสัมผัสได้แล้วว่า อะไรคือ "พลัง" ของ PLC .... ความสนุกนี้ชัดจริงๆ...

แสนและแซมกำลังทำโครงการจิตอาสาเพื่อแก้ปัญหา "เกษตรกรใช้สารเคมี" ต่อเนื่องจากผลงานของ "ฮักนะเชียงยืน" ที่พวกเขาได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง (อ่านที่นี่) ปีนี้กลุ่มฮักนะเชียงยืนได้เสนอโครงการและได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลต่อเนื่อง... ผมและคุณอาฟังแกมตั้งคำถาม  ทราบประเด็นเด่นๆ ดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมายปีนี้คือ เกษตรกร ๒๐ ครอบครัว 
  • เป้าหมายปลายธงคือ ทำให้เป้าหมายลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร 
  • หลักคิด คือ เปิดประเด็นให้ตระหนัก เมื่อได้ประเด็นแล้วนำมาศึกษาค้นคว้า นำผลที่ได้สื่อสารป้อนกลับให้เกษตรกร โดยใช้เครื่องมือคือ การจัดการความรู้ + "ศิลปะและละคร"  ก่อนจะสรุปและเผยแพร่ในวงกว้างต่อไปด้วย "หนังสั้น... นี่คือความสามารถที่ผมไม่มี จึงเป็นของดีมีค่าที่จะได้พัฒนาตนเองด้วยหากได้ร่วมติดตาม... 
  • วิธีการ คือ ฝึกให้น้องๆ ที่เป็นลูกหลานในหมู่บ้านของกลุ่มเป้าหมาย ได้เรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้ KM และศิลปะในเบื้อต้น แล้วสร้างความเข้าใจ (ระดับตีความ) ด้วยบทบาทสมมติและสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมายด้วยการแสดงละคร เพื่อเปิดประเด็น (พัฒนาโจทย์) ก่อนจะศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถ่ายทอดเชิงปฏิบัติการจริงกับกลุ่มเป้าหมาย (ทำปุ๋ยชีวภาพ) แล้วสื่อสารผลการเรียนรู้กลับสู่กลุ่มเป้าหมายด้วยละครอีกครั้ง และรวบรวมทำเป็นหนังสั้นในตอนท้าย ...
  • แสนบอกว่า "สิ่งที่กังวลคือ การเปิดประเด็นไม่ได้" ... ผมเข้าใจว่า กังวลว่าชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญ และต่อต้าน

ผมแสดงความคิดเห็นตลอดทุกช่วงตอนที่เราคุยกัน..และสรุปในตอนท้ายว่า
๑) ควร "มอง" แบบ สั่งสมความสำเร็จ มากกว่าการมุ่งไปที่ "ผล" ที่ต้องการ

ผมเห็นว่า ความมุ่งมั่นของแสนกับแซมสำคัญมาก เป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังในการทำกิจกรรมจิตอาสาที่จะแก้ปัญหาของเกษตรกร ๒๐ ครัวเรือนนี้ สาเหตุที่มีพลังล้นเหลือขนาดนี้น่าจะเป็นเพราะการทำงานนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง แต่เป็นการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น โดยเฉพาะเป้าหมายยาก ซึ่งหมายถึง หากทำสำเร็จจะเกิดประโยชน์มาก... สิ่งสำคัญในการให้ความเห็นจึงต้องระวังไม่ให้ทำลายแรงบันดาลใจนี้เด็ดขาด...

ผมเสนอให้ลองทำ "แผนที่เป้าหมาย" เพื่อเก็บเกี่ยวความสำเร็จเล็กๆ ตามรายทาง ระหว่างที่พวกเขาดำเนินการไปในแต่ละขั้นตอน โดยช่วยกันแลกเปลี่ยน "วางแผน" ว่า ก่อนจะไปถึงเป้าหมาย อะไรบ้างที่เราต้องทำให้สำเร็จก่อน แล้ว "ปักหมุด" ว่า จุดไหนที่อยู่ใด โดยใช้มิติของ "เวลา" เป็นแกนคร่าวๆ และยึดหลักการทรงงาน "ง่ายไปยาก" และ "ค่อยเป็นค่อยไป"... ความสำเร็จในแต่ละจุดที่เราไปถึง "หมุด" นั้นๆ จะเป็น "พลัง" หนุนเนื่องไปเรื่อย .... ตรงนี้หมอวิจารณ์ท่านใช้คำว่า "สะสมความสำเร็จเล็กๆ"

ผมแนะนำให้ แสนและทีม ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่เป็นเชิงพฤติกรรมมากกว่าผลผลิต (ได้ทำ ได้ปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติของนักเรียนน้องๆ ที่มาร่วมเรียนรู้และแสดงละคร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจาก ความรู้ความเข้าใจ ทักษะการคิดที่พัฒนาขึ้น ...

๒) ควรน้อมนำหลัก ปศพพ. มาใช้ในทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการของการดำเนินงาน 

ผมวิพากษ์ว่า แผนดำเนินงานที่แสนเล่าให้ฟังสั้นๆ (ในเวลาที่จำกัด) นั้น ยังขาดการมองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการศึกษาค้นคว้าที่เน้นมิติด้านวัตถุ ทั้งๆ ที่ในการดำเนินงาน ต้องอาศัยความรู้ด้าน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนใหญ่ ...ผมเสนอว่า ควรเริ่มจาก ๔ มิติ เพื่อให้ไปถึง ๔ มิติ (อันนี้ไม่ได้พูดตรงๆ แต่เกริ่นให้ไปคิดเอง) ...คำสำคัญก็คือ ศึกษาให้มีความรู้ "บริบท" และใช้ "บริบท" นั้นเป็นทุนในการดำเนินงาน...

๓) ควรดำเนินการในลักษณะที่ได้เรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning)

ความจริงสิ่งที่แสน แซม และเพื่อนๆ ทำอยู่กับเป็นการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติ ได้เรียนรู้จากของจริง ประสบการณ์จริงๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ ควรระลึกให้ลงลึกในรายละเอียดให้มากขึ้น คือ การนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยเฉพาะการสำรวจ ทดลอง และการเก็บข้อมูล ที่ควรต้องทำอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ อภิปรายข้อมูลที่ได้ .....กรณีนี้ใน "วงเรียน" แรกๆ อาจไม่ลึก แต่รอบนี้แสนและเพื่อนมีประสบการณ์มาก่อน อาจจะลงลึกได้ถึงการเก็บข้อมูลเชิงตัวเลข...

๔) อย่าลืมเป้าหมายสำคัญคือการ "ฝึกตนเอง"

ผมคิดว่า สิ่งสำคัญคือ เราสามารถ "ทำประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท" ได้... ผมแนะนำแสนกับแซมและฝากไปถึงเพื่อนๆ ด้วยว่า กระบวนการเรียนรู้นั้นจะดีที่สุดเมื่อเกิดขึ้นเป็น "วงเรียน" คือครบ "วงจร" ที่ประกอบด้วย "อินพุต" และ "เอาต์พุต" สิ่งที่แสนทำอยู่ดีเยี่ยมมากแล้ว คือ เขียนบล็อค เล่าเรื่องต่างๆ ในการปฏิบัติ .... คำแนะนำเป็นเพียงบอกว่า หากการเขียนที่เป็นเอาพุตทำทันทีคือ "สดๆ" จะทำให้สมองได้ฝึกแบบเต็มที่ และให้แผ่ขยายไปสู่เพื่อนๆ ด้วย....

ตอนท้ายของการสนทนา เราคุยกันเรื่องการเขียนบทความ ผมเองก็เขียนไม่เก่ง เลยได้แต่แนะนำ ย้ำๆ ดังนี้

  • ให้รู้ชัดว่าเขียนให้ใครอ่าน อ่านทำไม เจตนารมณ์การเขียนต้องชัดว่า ผู้อ่านเป็นคนได้ประโยชน์  หรือไม่ต้องมีใครอ่าน เขียนบันทึกข้อมูล เขียนเพื่อพัฒนาตนเอง 
  • การเขียนต้องให้เห็น วิธีคิด (หลักคิด หลักปฏิบัติ) วิธีทำ (how to) เห็นความเชื่อมโยง (ต่อกันเป็นเรื่องราว) และเห็นผลลัพธ์หรือเห็นความสำเร็จ 
  • ผมแนะนำว่า การเขียนแบบงานวิชาการนั้น ไม่น่าอ่าน  เขียนสไตล์เรื่องเล่าจะดีกว่า เพราะ การเขียนเรื่องเล่า ถ้าเขียนได้ดี จะเห็น บรรยากาศ เห็นภาพ เห็นอารมณ์ เห็นความรู้สึก และผู้เรื่องได้ดี จะสามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากติดตาม (ประโยคหลังนี้แสนเป็นคนพูดเอง)

สุดท้าย ผมประทับใจการอุปมาอุปมัยของตนเองในขณะที่ตอบคำถามเรื่องความกังวลของแสนเกี่ยวกับการเปิดประเด็น ผมบอกว่า

....หากเราเติมน้ำลงในแก้วที่มีน้ำเต็มน้ำย่อมล้นเสีย หรือหากเราไปเทน้ำที่มีอยู่ในแก้วออก น้ำก็ย่อมจะลดลง... กลุ่มเป้าหมายย่อมไม่ต้องการให้น้ำของเขาลดลง และอีกทั้งไม่ต้องการน้ำเติมลงในแก้วใบที่เต็มอยู่แล้ว ....ดังนั้น หากเราไปด้วยความจริงใจ ไม่ได้ต้องการจะไปปรับเปลี่ยนบังคับใคร หรือจะไปเอาอะไรจากใคร เราก็ไม่ต้องกังวลใดๆ เลย...

 (ผมคิดว่าในขณะที่พูดคุย จิตใจและสมองผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างที่ผมก็ยังอธิบายไม่ได้ว่ามีกลไกอย่างไร ...แต่สังเกตได้แล้วหลายครั้ง)

๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

อ.ต๋อย

หมายเลขบันทึก: 558481เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2014 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในวันนี้ขอขอบพระคุณมากครับ..อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท