ข่าวลือ ข่าวหลอก ในบ้านเรา


ผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคข่าวเสียดสีหลอกลวงรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าผู้บริโภคข่าวทั่วไป

เป็นเรื่องที่เขียนลงใน Happening Magazine นานมาแล้วครับ แต่เหตุการณ์บ้านเราทำให้นึกถึง เลยเอามาให้อ่านกันอีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวเสียดสี หรือ News Satire ซึ่งผมเขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 

spokedark

=======================

ข่าวลือ

คุณจะโกรธไหมครับถ้ามีคนมาเล่าเรื่องโกหกสารพัดให้คุณฟัง คอยหลอกลวงคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อไหมครับว่ากิจกรรมการโกหกซึ่งๆ หน้าประเภทแต่งตัวดีๆ มาโกหกกันทางทีวีนั้นให้เห็นกันทุกวัน ผมไม่ได้พูดถึงนักการเมืองที่กุเรื่องสารพัดกันในสภาฯ แบบที่เราคุ้นเคยกันนะครับ แต่กำลังจะพูดถึงธุรกิจบันเทิงเกี่ยวกับเรื่องโกหกหน้าตายที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในอเมริกา

ธุรกิจที่ผมพูดถึงเขาเรียกว่า News Satire หรือข่าวที่หลอกลวงเสียดสีแบบหน้าเป็น รายการข่าวเปื้อนสาระปนบันเทิงประเภทสรุปข่าวภาคดึก เช่น The Daily Show with Jon Stewart หรือ The Colbert Report สองรายการนี้ออกอากาศทาง Comedy Central สถานีทีวีที่ออกจะเอียงไปทางหัวก้าวหน้า ประมาณว่าเป็นคู่ปรับของ Fox News

ในขณะที่การรายงานข่าวตามสถานีทั่วไปนั้นเน้นความเที่ยงตรงและรวดเร็วของข้อมูล รายการข่าวเสียดสีมุ่งรายงานข่าวทีเล่นทีจริงและอ้างอิงวัฒนธรรมสมัยนิยมเป็นหลัก ตัวอย่างกรณีนโยบาย Don’t Ask Don’t Tell หรือนโยบายกีดกันกลุ่มรักร่วมเพศในกองทัพที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยให้สัญญาว่าจะยกเลิก แต่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาข้อเสนอนี้ถูกเขี่ยลงถังไปโดยตัวแทนรัฐบาลหลายคนออกมาอ้างว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤติต่างๆ มากมาย จะมาตัดสินใจเรื่องใหญ่แบบนี้ตอนนี้คงลำบาก แถมยังอ้างข้ออ้างเดิมๆ ว่าเกย์แบบโจ่งครึ่งนั้นบั่นทอนระเบียบวินัยในกองทัพ สรุปว่ารัฐบาลก็ยังจะรับเกย์เข้าร่วมกองทัพตราบที่ยังปิดบังฐานะทางเพศของตนต่อไป ข่าวดังอย่างนี้ช่องข่าวทั่วไปก็จะรายงานและบอกว่าวุฒิสมาชิกคนให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ อาจมีความเห็นเพิ่มเติมจากผู้อ่านข่าวพอเป็นพิธี ถ้าเป็น Fox News ก็อาจจะออกมาเหน็บพรรคเดโมแครตบ้างเล็กน้อย แต่สำนักข่าวเสียดสีเล่นหนักกว่านั้นเยอะครับ จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกตัวแทนรัฐแอริโซนา เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนการยกเลิกนโยบายนี้เมื่อหลายปีก่อน แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับคำพูดอ้างโน่นนี่ สำนักข่าวเสียดสีอย่าง The Colbert Report ก็ไปขุดเอาเทปการให้สัมภาษณ์ในอดีตที่แมคเคนเคยสัญญาว่าจะสนับสนุนการยกเลิกนโยบายนี้มาแฉ ส่วน The Daily Show ของคุณ Jon Stewart เล่นเลยเถิดไปถึงขนาดเชิญผู้สันทัดกรณี (ตัวปลอม) มาเปรียบเทียบว่าคนแก่นั้นเป็นอันตรายต่อการทำงานของวุฒิสภา (ไม่ต่างจากเกย์เป็นอันตรายต่อภารกิจในกองทัพ) และยกตัวอย่างว่าการกลับคำพูดของแมคเคนนั้น ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนทางนโยบายอะไรแต่เป็นเพียงเพราะคนแก่นั้นหลงลืมง่าย นอกจากนี้ยังเสนอนโยบายให้คนแก่ออกมาปกปิดความแก่ของตัวเอง เพื่อจะได้รับใช้ประเทศได้ต่อไป (เหมือนที่บังคับให้เกย์ออกมาปกปิดสถานะรักร่วมเพศของตน)

นอกจากสำนักข่าวทางทีวีอย่างสองรายการที่ว่ามาข้างต้นยังมีสำนักข่าวออนไลน์อย่าง Onion News ที่มีจุดเด่นคือไม่ต้องอ้างอิงข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันเพราะสร้างข่าวยกเมฆเอาเองทั้งรายการ สำนักข่าวหัวหอมถนัดเล่นมุขแดกดันเสียดสี ลองดูมุมการเมืองก็จะมีข่าวประมาณอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยูบุช เดินทางเยี่ยมเยียนชาวบ้านหลังประสบภัยพิบัติในยุคที่ตนดำรงตำแหน่ง หรือข่าวประธานาธิบดีโอบามาหวังใช้อัลบัมใหม่ของบรูซ สปริงส์ทีนเป็นดรรชนีชี้แนะทิศทางเศรษฐกิจ ด้านข่าวต่างประเทศก็เสนอสกู๊ปพิเศษจากสาธารณรัฐคองโกที่เริ่มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกอาวุธสงครามเพื่อให้ประชาชนใช้ต่อสู้กับกลุ่มกบฎและประกอบอาชีพในอนาคต แม้จะเป็นสำนักข่าวออนไลน์แต่สำนักข่าวหัวหอมก็เอาตั้งหน้าตั้งตาจัดรายการเหมือนการรายงานข่าวของจริง มีนักข่าวประจำมากมาย ผลิตวิดีโอข่าวที่มีอินโทรกราฟฟิก ผู้ดำเนินรายการจากห้องข่าวต่างๆ มารายงานข่าวกันอย่างแข็งขัน แถมมีการสัมภาษณ์ชาวบ้านอีกต่างหาก

ถ้าจะถามว่าทำไมข่าวที่ดูไร้สาระแบบนี้ถึงได้เป็นที่นิยมในอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปผมเองก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือผลการสำรวจจากสถาบันวิจัยด้านการเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐเพนซิลเวเนียพบว่าผู้บริโภคข่าวเสียดสีหลอกลวงรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัครชิงตำแหน่งมากกว่าผู้บริโภคข่าวทั่วไป ผมไม่แน่ใจว่าเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคเหล่านี้มีความรู้มากกว่าเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลที่หลากหลายกว่าหรือเป็นเพราะรายการข่าวเสียดสีหลอกลวงประเภทนี้เปิดมุมมองที่กว้างและลึกกว่าข่าวทั่วไปที่เสนอแต่ข้อมูลโดย (อ้างว่า) ปราศจากความคิดเห็น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับสำนักข่าวเสียดสีเหล่านี้คือการนำมุมมองที่แตกต่างมาตีแผ่ เอาข่าวดีมาเปรียบเทียบกับข่าวห่วย จับผิดนักการเมืองโกหก แม้หลายๆ ครั้งจะเป็นการชักจูงผู้ชม แต่พูดตรงๆ สำนักข่าวในอเมริกาก็แบ่งข้างกันอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าสนับสนุนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา

บ้านเราแม้จะไม่มีช่องข่าวสนับสนุนกลุ่มซ้ายขวาชัดเจนอย่างในอเมริกา แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าแบ่งแยกเป็นสีโน้นสีนี้และก็มีรายการคุยข่าวที่ออกมาตอบรับผู้ชมที่ต่างสีต่างความคิด บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องดีเสียอีกถ้าทุกครั้งที่เราดูข่าวแล้วคอยถามตัวเองว่าที่กำลังรับชมรับฟังอยู่นั้นเป็นข่าวแท้หรือข่าวเทียม ว่าไหมครับ?

=======================

จากบทความนี้จะเห็นว่าข่าวประชดเสียดสี จริงๆ แล้วช่วยเปิดมุมมองให้เรา ช่วยหาข้อมูลที่ย้อนแย้งเอามาตีแผ่แบบขำๆ (แบบปวดท้องน้ำตาไหล) แต่ก็กระตุกต่อมคิด จากวันที่เขียนจนถึงวันนี้ ข่าวประชดประชดในบ้านเราที่ดูโดดเด่นก็คือ เจาะข่าวตื้น นั่นเอง เรื่องการประชดเสียดสีและข้อมูลนี่ไม่ต้องพูดถึงครับ ดีขึ้นทุกคลิป โดยเฉพาะเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน

นับว่าเป็นสื่อออนไลน์/ทางเลือกที่น่าจับตามากๆ และเป็นความหวังให้กับผู้บริโภคนะครับ

เรื่องหนึ่งที่ดูย้อนแย้งก็คือ เรามักเรียกร้องให้ประชาชน สนใจการเมือง สนใจการบริหารเงิน สนใจการทุจริตคอรัปชั่น สนใจเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย คือไปฝากความหวังให้ประชาชน ทั้งๆ ที่ระบบมันไม่ดี และเรื่องเหล่านี้ (การเมือง = นักการเมือง, การเงิน = ธนาคาร สถาบันการเงิน, การตรวจสอบ = สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ทำงานของตน ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้มากครับ มันเกินกำลังประชาชนครับเพราะเราไม่มีกำลังความรู้เพียงพอ ทำได้ก็คือลงชื่อใน change.org แล้วหวังให้หน่วยงานภาครัฐรับฟัง 

ที่สุดแล้ว เรื่องเหล่านี้มีประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน เราทุกคนต้องช่วยกันศึกษา มีสติและใจเย็นๆ

หมายเลขบันทึก: 557553เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...เชื่อยากนะคะ เพราะสื่อก็อยู่ในมือนักการเมือง...รวมทั้งความรู้ ความคิด ของสื่อต่างๆ และผู้รับสื่อด้วย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท