ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 4 - (จากสารนาถ สู่ พุทธคยา), INDIA


 

ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 4 -  (จากสารนาถ สู่ พุทธคยา)

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 

วันที่ 4 ของการจาริกแสวงบุญ คณะเราพักที่วัดไทยสารนาถมาแล้วรวม 3 คืน ได้รับประทานอาหารไทยอร่อย ๆด้วยฝีมือพ่อครัวคนไทยมาทุกมื้อ วันนี้เราจะออกเดินทางจากสารนาถไปพุทธคยา ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางเกือบทั้งวัน เพราะไม่ว่าถนนหนทางจะเรียบหรือขรุขระก็ตามทางการอินเดียกำหนดให้รถทุกชนิดวิ่งได้ไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างทางหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่นมีรถชนคนตาย บาดเจ็บ หรือชนวัว(แม้ไม่ตาย) รถทุกคันต้องหยุดหมด จนกว่าจะหาตัวคนผิดมาลงโทษและจัดการเรื่องได้เรียบร้อย รถทุกคันจึงจะไปได้

เช้าวันนั้นเมื่อรับประทานอาหารที่วัดไทยสารนาถเสร็จแล้ว เราก็ออกเดินทางประมาณเวลา 8.30 น. มีคนงานของวัดเกือบทุกคนออกมาคอยส่งคณะกฐินของ “มาทายี” มากมาย ( มาทายี แปลว่า แม่ใหญ่) ซึ่งเป็นคำที่เขาเรียกคุณศศิธร ธนานาถ ผู้จัดการของมูลนิธิมฤคทายวัน ผู้ที่นำกฐินมาทอดที่วัดนี้ทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา คุณศศิธร ก็จะแจกเงินค่าทิปให้ทุกคนก่อนกลับเสมอ เนื่องจากวันนี้เราต้องเดินทางไกล พ่อครัวจึงเตรียมอาหารใส่กล่องให้ไปรับประทานระหว่างทางคนละหนึ่งกล่อง กับสัมคนละหนึ่งลูก เวลาประมาณ 11. 45 น. เรามาถึงร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ “Family Restaurant” ซึ่งคงมีที่เดียวระหว่างทางจากสารนาถไปพุทธคยา ดังนั้นผู้เดินทางจึงต้องมาแวะรับประทานอาหารและใช้บริการห้องน้ำกัน โดยเฉพาะคณะทัวร์ต่าง ๆ ที่ร้านอาาหารแห่งนี้มีคนประมาณ 25 คนที่มารอคอยรับอาหารที่เหลือจากผู้มาแวะที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ๆ กุหลาบรู้สึกมีความสุขที่เห็นเด็ก ๆ ดีใจเมื่อได้อาหารที่กุหลาบแบ่งให้ เพราะกุหลาบไม่รับประทานเนื้อสัตว์มาเป็นเวลาปีเศษแล้ว จึงให้เขาได้เกือบเต็ม ๆ ชุดเพราะเป็นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ เห็นเด็ก ๆ แล้วก็สงสาร เขาพยายามทำตัวเรียบร้อย นั่งคอยด้านนอกอย่างสงบเสงี่ยม เป็นระเบียบมาก แต่ก็คอยเมียงมอง สบตาเราตามโอกาส เด็ก ๆจะอยู่ด้านนอก ไม่พยายามเข้ามาภายในร้านเลย เพราะกลัวถูกตีด้วยไม้จากเจ้าของร้านหรือคนที่ยืนคุมอยู่ พระอาจารย์ผู้บรรยายให้คำแนะนำว่าไม่ควรให้เขา ไม่ว่าเงินหรืออาหาร โดยเฉพาะคนที่อุ้มเด็กมา หรือพี่ที่ทำเป็นอุ้มน้องมา เขาไปขอยืมหรือขอเช่าเด็กเล็กมา หากเราให้เขาก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจ และเป็นการสนับสนุนให้มีการเช่าเด็กมาทรมาน ตากแดด ตากฝน น่าสงสารมากกว่าเสียอีก ผู้ที่มาบ่อยและจำได้จะเห็นว่าเด็กอาจไม่ใช่คนเดิม กี่ปี ๆ ก็ตัวเท่าเดิมอยู่นั่นแหละ หากจะให้ทานก็ควรให้ผ่านมูลนิธิแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้เขาไปจัดสรรและช่วยกันดีกว่า เขาจะได้ไม่มารุม ยื้อแย่ง หรือรังแกทุบตีกันเอง เคยมีกรณีที่มีคนขอทานลงไปนอนชักดิ้นพลาด ๆ และโทษว่าเป็นเพราะกินอาหารของเราเข้าไป ทำให้เดือดร้อนกันหมดทุกคน แม้จะสงสารก็ต้องทำใจ บางทีหากทนสงสารไม่ไหวหากแอบให้บ้างก็อย่าให้ใครเห็นก็แล้วกัน

ร้านอาหารแห่งนี้คงเป็นร้านแห่งเดียวหรือดีที่สุดแล้วกระมัง สังเกตจากภาพถ่ายที่ติดอยู่ในร้าน แม้แต่ท่านกัมมะปะ (Karmapa)หรือว่าที่พระสังฆราชองค์ต่อไปแห่งทิเบตที่ได้รับการแต่งตั้งแล้วอย่างเป็นทางการ ก็เคยมาแวะที่ร้านนี่   ท่านผู้อ่านคงทราบเรื่องราวการระลึกชาติได้ของท่านกัมมะปะ (Karmapa) นะคะ เป็นเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์มาก คล้าย ๆ ภาพยนตร์เกี่ยวกับการระลึกชาติได้ของเด็กทิเบตในเรื่อง”Little Buddha “ เลยนะคะ ว่า ก่อนที่พระสังฆราชองค์ก่อนของทิเบตจะสิ้นพระชนม์ ท่านจะเขียนบอกไว้ว่าองค์ที่จะสืบต่อจากท่านต่อไปจะมีลักษณะพิเศษอย่างไร เกิดที่ไหน เมื่อไร ขณะที่เกิดมีปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างไร จากนั้นผู้มีหน้าที่ก็ต้องไปค้นหา และพิสูจน์ความระลึกชาติได้ของเด็กจนเป็นที่ยอมรับ 

เราเดินทางมาถึงพุทธคยาประมาณ 15.30 น. เข้าพักที่ Royal Residency Gaya Hotel อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งตัวสวยงามแล้วเดินทางจากโรงแรมประมาณ 10 นาทีไปนมัสการสถานที่สำคัญบริเวณพุทธคยามหามณฑล เช่นสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหนือแท่นวัชรอาสน์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ชมสระมุจลินทร์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ นมัสการพระพุทธเมตตาภายในมหาวิหารพุทธคยา เมื่อไปถึงปรากฏว่ามีผู้คนหนาแน่นมาก ตั้งแต่การเข้าคิวผ่านจุดรักษาความปลอดภัยซึ่งเข้มงวดมาก หญิงและชายต้องแยกตรวจคนละแถว วันนั้นเราได้เข้าไปนมัสการพระพุทธเมตตา และทำประทักษิณรอบพุทธคยามหาเจดีย์ 3 รอบ คณะเรายังไม่มีโอกาสสวดมนต์ยาวๆ และนั่งสมาธิ ใต้ต้นโพธิ์ หน้าพระแท่นวัชรอาสน์ เพราะขณะนั้นเริ่มมืดและใกล้หมดเวลาเข้าชมและนมัสการแล้ว อีกทั้งในเย็นวันนั้นชาวพุทธจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันมาที่นี่มีมากมายจริง ๆ เป็นที่น่าปลื้มใจมาก

พรุ่งนี้เช้าคณะเราจะมาที่นี่อีกและได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแห่งการรอคอยมานานแสนนาน.. สำหรับคืนนั้นเราไปทอดผ้าป่ากันต่อที่วัดไทยพุทธคยา เมื่อออกมาจากวัด เห็นผู้คนมากมายสองข้างถนนเล็ก ๆ ภายในวัด ภายหลังได้ความว่าที่วัดไทยพุทธคยามีโรงทานแจกให้ชาวอินเดียที่ยากจนด้วย ค่าอาหารต่อคืนประมาณ 3,500 บาท อนุโมทนาสาธุค่ะ หลังจากที่กลับไปรับประทานอาหารเย็นที่โรงแรมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดแล้ว พวกเราจึงรวบรวมปัจจัยจากคณะแสวงบุญ จากนั้นจึงเดินกลับไปร่วมทำบุญกับโรงทานที่วัดค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเรื่องราวการไปแสวงบุญนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #.
หมายเลขบันทึก: 557361เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณกุหลาบขา

ภาพอยู่ไหนเอ่ย

อยากดูภาพด้วยนะคะ เป็นทริปที่อิ่มบุญจริงๆ นะคะ

งงและโก๊ะจริงหนอเรา ทำไมภาพจึงสลับไปมาไม่เรียงขึ้นหรือลงตามที่เราจัดล่ะนี่

อ้าว! งงอีกรอบ ที่เขียนขอบคุณ คุณ Bright Lily ไว้หายไปไหน ขอบคุณใหม่อีกรอบนะคะ คุณ Bright Lily เคยทักกุหลาบเรื่องไม่มีรูปมาถึงสองหนแล้ว เยี่ยมมากค่ะ ขอบคุณยิ่งนักเจ้าค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันสาระนำเที่ยวดีๆเช่นนี้ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยือนและให้กำลังใจนะคะ

Bright Lily : _/|\_
ชยพร แอคะรัจน์ : _/|\_
นาง นงนาท สนธิสุวรรณ : _/|\_
ยง : _/|\_

ยินดีมาค่ะพี่นงนาท ขอบคุณพี่เช่นกัน ที่มีข้อเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจมาฝากน้อง ๆ เสมอ _/|\_

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท