ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 1 - (ทอดกฐินวัดไทยสารนาถ - พาราณสี), INDIA


ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 1 - (ทอดกฐินวัดไทยสารนาถ - พาราณสี)

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556

ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ตรัสถึงสถานที่สำคัญ 4 แห่งที่พุทธศาสนิกชนพึงเดินทางไปแสวงบุญคือ

  1. ลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ
  2. พุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมสมสัมโพธิญาณ
  3. สารนาถ สถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยังให้กงล้อแห่งพระธรรมจักรเริ่มเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก วิถีทางที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณโดยมรรค 8เริ่มต้นขึ้นที่นี่
  4. กุสินารา สถานที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่มหาปรินิพพาน

การได้ไปกราบไหว้ บูชา สักการะยังสถานที่ทั้ง 4 แห่งนี้นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นในพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ประสงค์ให้พุทธบริษัท ได้เห็นความไม่แน่นอนของสถานที่ ความขำรุดทรุโทรมของสถานที่ และสิ่งก่อสร้าง ความไม่คงทนยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เมื่อได้เห็นแล้วก็จะเกิดความสังเวช และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของวัตถุ ตลอดจนพลอยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึก ความนึกคิด และการรู้ถึงอารมณ์ของตนเอง จึงรู้จักสภาพของจิต เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ และรู้แจ้งจากความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือจุดประสงค์ของการไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน

การเดินทางครั้งนี้มีผู้แสวงบุญ 22 คน ใช้เวลา 15 วัน ส่วนใหญ่พักที่โรงแรมทั้งสิ้น ยกเว้นที่เมืองสารนาถพักที่วัดไทยสารนาถ 3 วัน ที่วัดนี้มีพ่อครัวคนไทยจากจังหวัดพะเยาทำอาหารให้รับประทานทั้งสามเวลา อาหารอร่อย สถานที่สะอาด สะดวกในการเดินทาง และอยู่สบายมาก ๆ พักห้องละ 2 คน คณะเราพักที่นี่เพราะเราทอดกฐินที่วัดไทยสารนาถ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน วัดนี้สร้างโดยมูลนิธิมฤคทายวันมหาวิหารที่นำเรามาจาริกแสวงบุญนี่เองค่ะ โดยท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธิโมลี ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิมฤคทายวันมหาวิหาร คณะ 6 วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพ เป็นผู้นำมา ท่านเจ้าคุณเคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทามาเป็นเวลา 4 ปี และนำคณะมาปฏิบัติธรรมเช่นนี้ทุกปีติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เราจึงได้ความรู้จากท่านอย่างเต็ม ๆ ตลอดเวลา 15 วัน พร้อมกับการปฏิบัติธรรมบนรถ และในสถานที่สำคัญ ๆ อีกหลายแห่งเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวยให้ นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์มหาสิทธิชัย นักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในเดือนมีนาคม 2556 นี้ พระอาจารย์ท่านนี้เรียนที่อินเดียมา 9 ปี และสำเร็จเปรียญ 9 ประโยค ท่านจึงบรรยายและให้ความรู้กับพวกเราได้ยอดเยี่ยมและเพลิดเพลินมาก อีกประการหนึ่งที่กุหลาบรู้สึกว่าโชคดีและประทับใจมาก ๆ คือคุณศศิธร ธนานาถ ซึ่งเป็นผู้จัด เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนาโดยปวารนาตนเองตั้งแต่ปี2519 ที่เมืองกุสินาราว่าชีวิตที่เหลืออยู่จะขอนำคนไทยมาปฎิบัติธรรม มาไหว้พระ ณ แดนพุทธภูมิทุกปี และก็ได้ทำมาทุกปีเป็นเวลา 37 ปีโดยไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ  ปัจจุบันพี่ศศิธรอายุ 78 ปีแล้วค่ะ ยังมีความจำเป็นเลิศ คุยสนุก ขณะอยู่บนรถ พี่ศศิธรก็บรรยายสลับกับวิทยากรอีก 2 ท่านทุก ๆ วันค่ะ คณะเราจึงโชคดีที่สุดที่มีวิทยากรที่มีความรู้และความชำนาญสูงในเรื่องพระพุทธศานา สถานที่ในอินเดียและเนปาล ตลอดจนขนบธรรมเนียมของสองประเทศนี้เป็นผู้บรรยายถึง 3 ท่านค่ะ

วันแรกของการเดินทางคือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนสิสอง วันลอยกระทงค่ะ เดินทางโดยสายการบินไทย TG 327 ออกจากกรุงเทพเวลา 9.00 น. ถึงนครพาราณสีเวลา15.35 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 30 นาทีใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง วันนั้นเราพักที่วัดสารนาถ และมาพร้อมกันที่โบสถ์เวลา 8.30 น. เพื่อทอดกฐินที่วัดนี้

ท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธิโมลี ได้ให้ความรู้ว่า คำว่า "กฐิน" แปลว่า "บุญที่ทำได้ยาก" ที่ทำได้ยากเพราะ

   1. ทำได้เพียงช่วง 1 เดือนหลังจากออกพรรษา (แรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12) คณะแสวงบุญของเราทอดกฐินเป็นวันสุดท้ายพอดีค่ะ

   2.  ต้องมีพระสงฆ์ 5 รูปขึ้นไปจึงจะรับกฐินได้

   3.  พระสงฆ์แต่ละรูปต้องบวชมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ท่านว่า "ผ้าไตรกฐิน" นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผ้ากฐินนั้นมีเพียงผืนเดียว อีกสองผืนนั้นเป็นผ้าบริวารกฐิน 

 การไปจาริกแสวงบุญในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในที่ที่ไม่สะดวกสบายทั้งการเดินทาง พี่พัก และอาหารนั้นกุหลาบคิดว่าทำได้ยากพอควร คือต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายที่แข็งแรง ความตั้งใจและมีศรัทธาจริง ๆ มีกำลังทรัพย์ที่ยอมสละได้จริง หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งการไปจาริกแสวงบุญที่ใด ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ กุหลาบตั้งใจที่จะบันทึกความสุข ความประทับใจ ตลอดจนความรู้ที่ได้รับจากการไปทำบุญครั้งนี้ไว้ให้มากที่สุดเสมือนเป็นบันทึกส่วนตัวไว้กันตัวเองลืม จะมีผู้อ่านหรือไม่ เพียงใด ไม่ได้คำนึงถึง เพราะรางวัลที่กุหลาบได้รับจากตนเองนั้นคุ้มค่าอยู่แล้ว หากบันทึกนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านใด หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอยากไปแสวงบุญในแดนพุทธภูมิเช่นนี้บ้าง กุหลาบก็จะดีใจมากค่ะ  

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านนะคะ

กุหลาบ มัทนา 

คำสำคัญ (Tags): #.
หมายเลขบันทึก: 557099เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ถึงผู้คนจะดูมาก แต่มองดูท่าทางสบายๆ นะคะ...ขออนุโมทนาบุญ ทอดกฐินด้วยนะคะ

ซึ้งกับคำๆนี้ "เพราะรางวัลที่กุหลาบได้รับจากตนเองนั้นคุ้มค่าอยู่แล้ว หากบันทึกนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านใด หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอยากไปแสวงบุญในแดนพุทธภูมิเช่นนี้บ้าง กุหลาบก็จะปลื้มใจและมีความสุขมากค่ะ"

คนมีบุญก็ีควาสุขแบบนี้แหล่ะครับ

อยากไปแบบนี้ด้วยจังครับ...แต่ยาวไปหน่อยครับ 15วัน ลางานไ่ได้นานขนาดนี้ครับ

ขอบคุณเรื่องเล่าและประสบการณ์ดีๆ ในอินเดีย.จร้า

ขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่เข้ามาอ่านบันทึกและมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจนะคะ อย่าลืมแวะมาอ่านอีกนะคะ เพิ่งเริ่มต้นค่ะ :)

คุณ เพชรน้ำหนึ่ง
อาจารย์ ดร.ชยพร แอคะรัจน์
พระคุณเจ้าพระจาตุรงค์ อาจารสุโภ
อาจารย์ ดร. พจนา แย้มนัยนา : คนมากจริง ๆ ค่ะอาจารย์ เขาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่ถิ่นนี้ค่อนข้างยากจนมาก มีอะไรขายได้ก็ขาย ไม่มีก็ขอดื้อ ๆ ไม่ค่อยมีอันตรายเรื่องวิ่งราว หากมีอะไรเกิดขึ้นก็มุงดูกันเต็มถนนเลยค่ะอาจารย์
คุณ ส.รตนภักดิ์
คุณ ยง : คุณยงเคยไป 12 วันรวดมาแล้วก็นับว่านานมากเช่นกัน หากจะต่ออีกสัก 2-3 วันคงไม่กระไรนักนะคะ หากมีวันลาสะสมไปปีต่อไปได้ก็จะดีไม่น้อยค่ะ ทริปที่กุหลาบไปนี้มีบางคนกลับก่อนด้วยค่ะ เพราะวันหลัง ๆ 4 วัน เป็นการไปเที่ยวที่อื่น ไม่เกี่ยวกับการแสวงบุญค่ะ ขอบคุณมาก ๆ สำหรับกำลังใจในความเห็นนะคะ
คุณโสมคำปัญญา ลือนาม
ผอ.อัญชัญ ครุฑแก้ว : ขอบคุณ ผอ. มากนะคะที่ให้กำลังใจเสมอมา

ขออนุญาตเสริมหลักการรับกฐินของท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธิโมลี ในข้อ ๓ เพิ่มอีกนิดหนึ่งนะครับ...

พระสงฆ์ที่ว่าบวชมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน ก็คือพระสงฆ์ในข้อ ๒ นั่นเอง ตามพระวินัยที่ได้ศึกษามา พระสงฆ์ ๕ รูปจะต้องเป็นผู้ที่อยู่จำพรรษาในวัดเดียวกันด้วย ไม่ใช่ไปนิมนต์จากที่อื่นมารับกฐิน  ผู้อยู่จำพรรษาผ่านมาแล้วก็จะต้องบวชครบ ๓ เดือนอยู่แล้ว ความจริงไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้  เช่น แถวชนบทบางวัดมีพระอยู่จำพรรษา ๓ รูป แต่พอออกพรรษาคณะกรรมการจัดงานกฐินกันขึ้นมาอย่างใหญ่โต เพื่ออะไรก็แล้วแต่  ไปนิมนต์พระวัดอื่นมาร่วมรับกฐิน  นั่นแสดงว่า อานิสงส์ที่พระจะได้รับก็ไม่สมบูรณ์  อานิสงส์ที่ชาวบ้านจะพึงได้รับก็ไม่สมบูรณ์เหมือนกัน จึงเกิดคำว่า "กฐินเดาะ"  น่าจะเป็นไปได้เพียงการถวายผ้าป่าเท่านั้น  ในจุดนี้ยังคิดว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่มาก...

ในส่วนของผ้าท่านกล่าวถูกต้องแล้ว ผ้ากฐินมีเพียงผืนเดียว พระผู้ครองท่านสามารถสวดอธิษฐานห่มได้เพียงผืนเดียว จะเป็นผ้าสังฆาฏิ(พาดบ่า) ผ้าจีวร(คลุม) หรือผ้าสบง(นุ่ง) ก็ได้(อังสะไม่เกี่ยว) เลือกเอาผืนใดผืนหนึ่ง  ผ้าไตรที่ชาวบ้านญาติโยม นำมาถวายพระกัน ๓ ไตร ๔ ไตรนั่นจึงเป็นผ้าบริวารทั้งสิ้น  ปัจจุบันกฐินเมืองไทยกลายเป็น "กฐินเงิน" กันไปมาก พอเสร็จงานแล้วถามว่า "วัดท่านทอดกฐินได้เท่าไหร่?"  โดยลืมคำนึงถึง "พระวินัย" ที่พุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ สรรหาของมาขายมาบูชากันให้รกรุงรังไปหมด...(ขอบ่นหน่อยนะครับประสบการณ์ตรงเห็นมาเยอะ)  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท