ปัญจภาคีในท้องถิ่น ร่วมยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ออกกลางคันหรือหายออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์


               เมื่อ 19-20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เราซึ่งเป็นทีมงานจาสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพของเยาวชน(สสค) ได้ไปเยี่ยมการดำเนินการตามโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด จังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 3  คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ของจังหวัด นำโดยท่านอาจารย์ทองสุข  รวยสูงเนิน  ท่านปลัดอบจ. และผู้บริหารของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนระดับจังหวัดพาเราไปเยี่ยมชมกิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนที่ออกกลางคัน  ด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ท้องถิ่นบริเวณชายแดน ช่องจอม อำเภอกาบเชิง และอำเภอบัวเชต 

                 
                เราได้เห็นการทำงานที่เป็นระบบในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นร่วมกันสำรวจข้อมูลเด็กเยาวชนที่ออกกลางคันหรือหายออกไปจากระบบ ตามสาเหตุต่างๆ ทั้งความยากจน  ยาเสพติด  เบื่อเรียน  ตั้งครรค์ในวัยเรียนฯลฯ แล้วให้โอกาสทางการศึกษาแก่เขาตามความต้องการจำเป็นด้วยความสมัครใจ  ซึ่งมี กศน.และวิทยาลัยการอาชีพเป็นแกนหลักจัดสอน อบรม ให้ถึงบันไดบ้าน  โดยมีปัญจภาคีในท้องถิ่นจับมือกันอย่างเหนียวแน่น  โดยมีความเชื่อว่าถ้าทุกคนมีการศึกษา มีอาชีพมีงานทำ  จะทำให้ปัญหาสังคมหมดไป
                    
             
            
ปัญจภาคีในท้องถิ่นมี 5 ภาคี คือ  1.ท้องที่(กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง) 2.ท้องถิ่น(เทศบาล อบต.)3.หน่วยงานทางการศึกษา(กศน. วิทยาลัยการอาชีพ เขตพื้นที่ สถานศึกษา)  4.หน่วยงานสนับสนุนการศึกษา(สถานพินิจ พัฒนาสังคม สาธารณะสุข ตำรวจ วัด มหาวิทยาลัย) และ  5.องค์กรเอกชน(สมาคม มูลนิธิ)

           

          ปีนี้จังหวัดนำร่องทำ 6 อำเภอ ปีต่อไปจะขยายไปอีก 11 อำเภอ จนครบ 17 อำเภอทั้งจังหวัด ปีนี้ สสค.สนับสนุนงบประมาณ ปีต่อไปท้องถิ่นภายใต้การนำของ อบจ.สุรินทร์และปัญจภาคีได้ร่วมกันวางแผนกำหนดเป็นภารกิจของท้องถิ่นและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนไว้แล้ว
           

          เราได้เห็นเยาวชนที่ได้รับโอกาสมาเรียนมาฝึกอาชีพกันอย่างตั้งใจและสนุกสนาน บางคนก็อุ้มลูกมาเรียนทั้งสามีภรรยาที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัยเรียน  เห็นภาพแล้วน่าชื่นชมจริงๆ  เฉพาะที่อำเภอบัวเชตมีเด็กและเยาวชนที่ออกกลางคันมาเรียนในปัจจุบัน ชั้นประถม 19 คน ม.ต้น 54 คน  ม.ปลาย 93 คน  โดยฝึกอาชีพไปพร้อมกันด้วย ซึ่งวิทยาลัยการอาชีพสอนให้และสามารถสะสมเพื่อเทียบโอนได้วุฒิ ปวช.ด้วย
           
            
               ทำให้ผมคิดว่า นี่แหละคือการปฏิรูปประเทศไทยที่ใช้ท้องถิ่นเป็นฐานอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 557045เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้นักพัฒนาและผู้รับทุกท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท