Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ตอนที่ ๔ ชื่อเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร


เจ้าเมืองแห่งจิตตนคร หรือนครสามีนี้ เรียกกันทั่วไปว่า “จิตต” ตามชื่อของเมือง แต่มีนามอีก ๔ นาม ที่ขนานเรียกกัน คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นการเรียกตามอาการที่แสดงออกของเจ้าเมือง เพราะเจ้าเมืองมีปกติแสดงอาการกิริยาออกมาให้ใครๆเห็นได้หลายอย่าง ที่เด่นๆก็ ๔ อย่าง คือ

แสดงความเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆร่วมกันไปกับชาวเมืองทั้งปวง จะเกิดสุขทุกข์ขึ้นที่ไหน เจ้าเมืองก็ต้องรับรู้และร่วมสุขทุกข์ด้วยเสมอ จึงได้นามว่า “เวทนา” เป็นภาษาของจิตตนคร แปลกันว่า “รับรู้สุขทุกข์”

และเป็นผู้ที่มีความจำดี โดยเฉพาะสิ่งอะไรที่มาทำให้เกิดสุขทุกข์ขึ้นในเมือง จะจำได้เสมอ ถึงบางอย่างจะลืมเร็วไปบ้างก็ยังได้นามว่า “สัญญา” เพราะความที่ช่างจำอะไรต่ออะไรได้ เป็นภาษาของจิตตนครเหมือนกัน แปลกันว่า “รู้จำ”

และยังเป็นผู้ช่างคิดอะไรต่างๆ แต่ก็มิใช่หมายความว่าจะคิดเรื่องที่ดีๆเสมอไป บางคราวก็คิดเรื่องที่ไม่ดีเป็นลมๆไปเหมือนคนทั้งหลาย แต่เจ้าเมืองก็จำเป็นต้องคิด เพราะกิจการทั้งหลายที่ดำเนินไปอยู่ในเมือง เกิดขึ้นจากความคิดของเจ้าเมือง

ถ้าเจ้าเมืองหยุดคิดเสียผู้เดียว กิจการทั้งปวงก็ชะงักหยุดหมด และโดยปกติเจ้าเมืองก็หยุดคิดไม่ได้ ไม่คิดเรื่องนี้ก็ต้องคิดเรื่องนั้น เรียกได้ว่าขยันคิดมากที่สุด จนถึงชาวเมืองทั้งปวงหลับกันหมดแล้ว เจ้าเมืองยังไม่หลับ ยังตรวจบันทึกเรื่องต่างๆอยู่กับมโน ทำให้มโนต้องปวดศีรษะไปบ่อยๆ จึงได้นามว่า “สังขาร” เป็นภาษาของจิตตนคร ที่แปลกันว่า “ช่างปรุงคิด”

ทั้งยังเป็นผู้ชอบออกไปรับข่าวสารที่ส่งเข้ามาจากระบบชั้นนอกชั้นในอยู่ตลอดเวลา มีข่าวสารอะไรส่งเข้ามา ก็จะต้องรับในทันที เรียกว่ารับข่าวสดกันทีเดียว จะต้องออกไปดูให้รู้เห็นด้วยตาตนเอง จะต้องออกไปฟังให้รู้ด้วยหูตนเอง จะต้องไปดมให้รู้กลิ่นด้วยจมูกตนเอง จะต้องออกไปลิ้มให้รู้รสด้วยลิ้นตนเอง จะต้องออกไปถูกต้องให้รู้สิ่งที่มากระทบถูกต้องด้วยกายตนเอง

ถ้าไม่ออกไปเช่นนั้น ก็ตรวจตราเรื่องราวต่างๆ จากรายงานของมโนให้รู้ด้วยใจตนเองอีกเหมือนกัน จึงได้นามว่า “วิญญาณ” ซึ่งเป็นภาษาของจิตตนครอีกเหมือนกัน ที่แปลกันว่า “ช่างรู้ต่างๆ”

นามทั้ง ๔ นี้ ชาวจิตตนครใช้เรียกเจ้าเมืองกันเพราะเหตุที่เจ้าเมืองมีลักษณะต่างๆดังกล่าว

อันที่จริง การเรียกชื่อของใครว่าอะไรตามลักษณะพิเศษของผู้นั้น ไม่ใช่เป็นของแปลก เหมือนอย่างคนเรานี่เอง ที่เป็นคนร้ายกาจมาก ต้องหลบหนีเจ้าหน้าที่เข้าไปอยู่ในป่า ก็ถูกขนานนามว่า “เสือ” ส่วนที่เป็นคนดีมีเมตตากรุณาในคนทั้งหลายก็เรียกว่า “ผู้มีเมตตา” เป็นต้น

สุทัตตเศรษฐีในสมัยพระพุทธเจ้า คนเรียกกันว่า “อนาถปิณฑิกะ” เพราะเป็นผู้มีเมตตาให้อาหารแก่คนอนาถาอยู่เสมอ และเรียกชื่อนี้กันแต่ชื่อเดียว จนชื่อเดิมเกือบจะไม่รู้จักกัน

บรรดานามของเจ้าเมืองทั้ง ๔ นามว่า “วิญญาณ” คนมักชอบเรียกกันในบางโอกาส จนถึงคล้ายกับเป็นนามที่สำคัญที่สุด อันที่จริงทั้ง ๔ เป็นนามรองทั้งนั้น

นามที่สำคัญที่สุดของเจ้าเมืองจิตตนครคือ “จิตต” คือจิตนั้นแหละเป็นตัวแท้ตัวจริง ส่วนนามอื่นทั้ง ๔ มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเป็นเพียงอาการแสดง

ได้กล่าวไว้แล้วว่า จิตเป็นที่รับอารมณ์หรือกิเลส เมื่อรับไว้มากก็ย่อมเศร้าหมองมาก มีความสุขน้อย เมื่อรับไว้น้อยก็ย่อมมีความผ่องใส มีความสุขมาก

อาการแสดงออกของจิตทั้ง ๔ อย่างคือ “รับรู้สุขทุกข์” “รู้จำ” “ช่างปรุงคิด” และ “ช่างรู้ต่างๆ” นั้น

แม้เจ้าเมืองทุกจิตตนครจะมีเสมอกัน คือแม้จะสามารถรับรู้สุขทุกข์ รู้จำ ช่างปรุงคิด และช่างรู้ต่างๆเสมอกัน แต่การรับอารมณ์หรือกิเลสเครื่องเศร้าหมองไว้ ไม่จำเป็นต้องเสมอกัน

เหมือนคนหลายคนอยู่ในบ้านเดียวกัน แดดออกร้อนจ้า ทุกคนเห็นด้วยกัน เห็นเหมือนกัน คนไหนเดินออกไปรับแสงแดด คนนั้นก็ร้อน คนไหนเพียงแต่เห็น เพียงแต่มองดู ไม่เดินออกไปรับ คนนั้นก็ไม่ร้อน

อาการของจิตทั้ง ๔ อย่างก็เหมือนกัน ถ้าจิตดวงใดปฏิบัติต่ออาการของจิต เหมือนคนเห็นแดดเดินออกไปรับแสงแดด จิตดวงนั้นก็ร้อน ถ้าจิตดวงใดปฏิบัติต่ออาการของจิต เหมือนคนเห็นแดดไม่เดินออกไปรับแสงแดด จิตดวงนั้นก็เย็น

ความร้อนของผู้เห็นแดดมิได้เกิดจากที่เห็น แต่เกิดจากที่เดินออกไปรับฉันใด ความร้อนของจิตก็มิได้เกิดจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เกิดจากการที่จิตรับไว้ฉันนั้น

ถ้าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิด จิตเพียงแต่เห็น แต่ดูให้รู้ว่ามีอาการอย่างไร เหมือนแดดออก คนเพียงแต่เห็น เพียงแต่ดูให้รู้ว่าแดดแรงแดดร้อน จิตก็จะไม่ได้รับความร้อนอันเนื่องจากอาการดังกล่าวทั้ง ๔ เช่นเดียวกับคนจะไม่ได้รับความร้อนอันเนื่องจากแสงแดด

พูดง่ายๆก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะเป็นไปเช่นไร จิตต้องมีสติเพียงรู้ว่า เป็นไปเช่นนั้น ต้องไม่เผลอสติปล่อยตัวออกไปคลุกเคล้าเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือไม่ไปยึดมั่นไว้นั่นเอง

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะสักแต่ว่ามีอยู่ตามปกติวิสัยของผู้ยังมีชีวิต จะไม่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ร้อนเศร้าหมอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

คำสำคัญ (Tags): #จิตตนคร
หมายเลขบันทึก: 556922เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท