รักษ์แม่วงก์ (การบ้านเฮฮาศาสตร์ 10 ตอนที่ 3)


ฃหวงป่า รักษ์แม่วงก์

          หลังจากได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติและสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาแล้ว วันต่อมาเราได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งมีที่ตั้งที่ทำการอยู่ในเขตอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร  เรามาทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กันก่อนนะครับ

 

 

         อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558,750ไร่ หรือ 894ตารางกิโลเมตร   เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ  ปัจจุบันมีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ  นายสุธน เวียงดาว 

หน่วยงานในพื้นที่

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.1 (ด่านตรวจ กม.57)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.2 (ปางข้าวสาร)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.3 (เขาเขียว)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.5 (ปางสัก)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.6 (ซับตามิ่ง)

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.7 (คลองเสือข้าม)

หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า

          อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สามารถจำแนกลักษณะพืชพรรณและสัตว์ป่าดังนี้ 
  1.ลักษณะพืชพรรณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ประกอบด้วย ป่าดิบเขา ประมาณ 0.88 % ป่าดิบแล้ง ประมาณ 21.85 % ป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณชื้นประมาณ 9.24% ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59.05 % ป่าเต็งรัง ประมาณ 6.77 % และทุ้งหญ้าหรือไร่ร้าง ประมาณ 2.21 % 
  2. ทรัพยากรสัตว์ป่า สามารถจำแนกได้ดังนี้ 
     2.1 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ 
     2.2 สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ 
     2.3 สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ 
     2.4 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ 
     2.5 ปลา จำพวกปลาน้ำจืด จำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์

อ้างอิงจาก : สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชhttp://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1054

        การมาอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ครั้งนี้ เราได้ร่วมเวทีเสวนาในประเด็นหลักๆ คือการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยใช้สถานที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีวิทยากรที่ทาง ส.ป.ก.ได้เชิญมาร่วมให้ข้อมูลก็คือ อ.ศศิน เฉลิมลาภกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิตอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ในฐานะผู้ริเริ่มการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ผ่าน change.org จนกลายเป็นการรณรงค์ที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในเอเชีย

อ.ศศิน  เฉลิมลาภ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

อ.ศศิน เฉลิมลาภ ดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต และ อ.ไพศาล ช่วงฉ่ำ

        เริ่มต้นการเสวนาด้วยการนำเสนอข้อมูลของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์โดยประจักษ์ บัวแก้วนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ  ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์  การเล่าถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดย อ.ศศิน เฉลิมลาภประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อ.ศศิน เฉลิมลาภและประสบการณ์การรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์จากปากของชาวบ้านคือนายผัดไท รักษ์ป่า ซึ่งจากปากของทั้งสองท่าน พอจะสรุปได้ว่าชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะ

  • ชุมชนที่อยู่บริเวณจะได้รับผลกระทบนั้นขาดความเข้มแข็ง เพราะส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น เพิ่มอพยพเข้ามาอยู่ได้ไม่นาน ขาดรากฐานและไม่มีความผูกพันกับป่า  วัฒนธรรมร่วมยังไม่มี
  • ในพื้นที่ยังมีอิทธิพลของการเมืองสูงมาก  ส่อให้เห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จริง

          ส่วนนายผัดไท  รักษ์ป่า เป็นราษฎรที่อยู่นอกพื้นที่(อาศัยอยู่ห่างจากพื้นที่การสร้างเขื่อน 28 กิโลเมตร) และไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยตรง แต่ด้วยได้รับแรงจูงใจจากการทำงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงเกิดสำนึกรักษ์ป่า และสนใจเข้าร่วมต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งการจะสร้างเขื่อนแม่วงก์นี้เคยได้ยินมานานมากตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก เขาร่วมมาแลกเปลี่ยนกับพวกเราด้วยการเริ่มต้นที่ว่า “ผมคุยไม่เก่งแต่เถียงขาดใจ” และพอจะสรุปใจความสำคัญที่เล่าในวันนั้นได้ว่า

  • ชาวบ้านส่วนใหญ่กลัว..ไม่กล้า
  • ไม่รู้ว่าสู้อยู่กับใคร
  • จึงทำให้ดึงเขาออกมาร่วมต่อสู่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้

 


นายผัดไท รักษ์ป่า ถ่ายภาพร่วมกับครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

        ต่อจากนั้นจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะเฮฮาศาสตร์ โดย ดร.สมพร  ช่วยอารีย์ จาก มอ.ปัตตานี ได้นำเสนอข้อมูลจำลองสถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นพบว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น จะป้องกันน้ำที่จะท่วมจังหวัดนครสวรรค์ได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่เหลือน้ำจะไหลไปที่อื่นและกระจายไปโดยรอบ การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องในการป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ น่าจะมีวิธีการบริหารจัดการน้ำรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมและใช้งบประมาณที่น้อยกว่า อีกทั้งการออกแบบการสร้างเขื่อน หากมีการเก็บกักน้ำจริง ยังจะมีปริมาณน้ำที่สามารถเอ่อล้นข้ามสันเขาตรงจุดอื่นทั้งสองข้างตัวเขื่อนได้อีก(จากข้อมูลการจำลองแผนที่ภูมิประเทศ)

          จากนั้นจึงเป็นการสอบถามและเสนอข้อคิดเห็นในส่วนของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านที่คลุกคลีอยู่กับการปลูกป่า สร้างสวนป่า ได้พูดไว้อย่างน่าฟังว่า “เรากำลังอยู่ในสังคมที่ผิดปกติ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีที่ไม่ปกติในการต่อสู้”   และทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ  นายสุธน เวียงดาว ได้สะท้อนความรู้สึกของคนที่ทำหน้าที่รักษาป่าไว้สั้นๆ สรุปได้ว่า “ผมทำงานด้านการอนุรักษ์ป่า ดังนั้นหากไม่ต่อต้านการสร้างเขื่อนที่เป็นการทำลายป่าไม้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่ไปทำไม แต่พูดอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้”  ประมาณนี้ละครับ สุดท้ายเป็นการมอบของที่ระลึกให้กับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ กิจกรรมภาคเช้าจึงจบลงท่ามกลางบรรยากาศที่ของความห่วงใย รักและหวงแหนป่าไม้

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร และ อ.ศสิน เฉลิมลาภ

 

        ภาคบ่ายเราได้เดินทางไปที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อดูสถานที่จริงว่าจะเป็นอย่างไร โดยมี คุณสมาน รอดเหว่าเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าของหน่วยแม่เรวา ให้การต้อนรับและร่วมให้ข้อมูลร่วมกับนายผัดไท  รักษ์ป่า

 

ถนนผ่านชุมชนเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)

         ระหว่างการเดินทางเข้าไปยังจุดที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์  เราเดินทางไปผ่านอำเภอคลองลาน แล้ววกกลับเข้ามาในเขตของ อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร แล้วเข้ามายังเขตอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อใกล้เข้าถึงบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อน เห็นป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นระยะๆ แต่ส่วนใหญ่จะถูกทำลายไปบ้างแต่ก็ยังพอเห็นร่องรอย เหลือป้ายคัดค้านที่มีสภาพสมบูรณ์เพียงไม่กี่ป้าย  ถนนที่ใช้สัญจรไปมาก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ยิ่งกว่าหลุมขนมครก  ฝุ่นก็ฟุ้งกระจายเมื่อเวลามีรถแล่นผ่านไปแต่ละครั้ง  แว่วๆ มาว่าถ้าสร้างเขื่อนเมื่อไรถนนอาจจะดีกว่านี้

          คณะเราเดินทางไปถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รอรับพวกเราอยู่แล้ว จากนั้นจึงได้พาคณะไปดูนิทรรศการการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ได้เห็นภาพของบริเวณที่จะสร้างในปัจจุบัน และหากจะสร้างอีกจุดหนึ่งที่เขาชนกัน จากข้อมูลเบื้องต้นบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมในจุดปัจจุบันจะเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์นับหมื่นไร่  และหากเป็นจุดที่เขาชนกันซึ่งถอยออกไปจากเขตอุทยานก็จะต้องอพยพคนอีกนับ 2 พันครัวเรือน  สรุปว่าที่ไหนก็กระทบทั้งนั้น

 


คุณสมาน รอดเหว่า(เสื้อสีดำ) และนายผัดไท รักษ์ป่าร่วมให้ข้อมูล

 

บริเวณแก่งลานนกยูงจะอยู่บริเวณท้องเขื่อน แนวสันเขื่อน(เขื่อนสูง 57 เมตร)จะสร้างต่อจากแนวสันเขาไปทางด้านขวามือของภาพ

 

ป่าไม้บริเวณลานแก่งนกยูง

 

          จากนั้นคุณสมาน  รอดเหว่า และนายผัดไท รักษ์ป่า ได้พาพวกเราเดินขึ้นไปยังมออีหืด  ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เดินขึ้นไปตามสันเขาที่จะก่อสร้างตัวเขื่อน เพื่อดูบริเวณทั้งสองฟากฝั่งของตัวเขื่อน  ระหว่างการเดินขึ้นมออีหืดระยะทางประมาณ  1  กิโลเมตร เราเดินผ่านป่าที่คาดว่าจะต้องถูกน้ำท่วม ล้วนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้น้อยใหญ่หลากหลาย แตกต่างจากข้อมูลที่ได้รับที่ว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม

 

ป่าสองข้างทางเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมออีหืด

         เมื่อเราเดินขึ้นไปถึงบริเวณจุดชมวิวมออีหืด แล้วมองไปยังจุดที่จะถูกน้ำท่วมเมื่อมีการก่อสร้างเขื่อน  พบว่าบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก มองไกลไปสุดลูกหูลูกตาเห็นป่าสักอันกว้างใหญ่ และบริเวณที่มีรายงานว่ามีการพบเสือโคร่งซึ่งอยู่ตามแนวเขาไกลๆ แล้วยิ่งสลดใจว่าหากเราสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม แล้วเราจะแลกด้วยการตัดป่า ทำลายป่า ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธารแล้วเริ่มคิดต่อว่า “เราคิดดีแล้วหรือที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์”  แล้วมันจะคุ้มค่ากันหรือไม่ เพราะเราจะไม่สามารถสร้างป่าไม้และระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและสมบูรณ์นี้ขึ้นมาทดแทนได้เลย

               

แนวหลังตัวเขื่อนบริเวณชุมชนแม่เรวา (ถ้าสร้างเขื่อนที่เขาชนกันส่วนนี้ก็จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด)

 

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหลังสร้างเขื่อนแม่วงก์

 

        แม้จะมีเวลาได้เรียนรู้ ไม่มากนัก แต่ด้วยหัวใจที่พร้อมที่จะรับรู้ ทำให้เราได้ซึมซับกลิ่นอายของธรรมชาติ ป่าไม้ และความบริสุทธ์ใจของคนรักษ์ป่าที่ยินดีให้ข้อมูลและความจริงของแม่วงก์ ที่มีตรรกะง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซ่อนเร้นหมกเม็ดเหมือนกลุ่มคนที่คิดแต่จะจ้องกอบโดยผลประโยชน์เอาจากธรรมชาติ  ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ ปลุกจิตสำนึกและวิญญาณของการหวงแหนป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

 

 

           ตอนนี้พวกเราเริ่มตระหนักแล้วว่าป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาตินั้นล้วนมีความผูกพันกับตัวเราอย่างแยกกันไม่ออก ไม่ว่าจะมีผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ภูมิอากาศ ฤดูกาลฯลฯ  แต่เราจะทำอย่างไรที่จะให้คนทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนัก และร่วมมือกันปกป้องรักษา หวงแหน ไม่คิดที่จะทำลายทรัพยากรป่าไม้ ให้ลดน้อยลงไปอีก ด้วยวาทะกรรมที่เรียกกันว่าการพัฒนา การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่

         ทางออกของการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น น่าจะมีอีกหลากหลายวิธี  เพราะมนุษย์เรานั้นมีความสามารถและสติปัญญา ที่จะปรับตัวและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อยู่แล้ว  เพียงแต่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันคิดอย่างรอบคอบ ไม่เอาผลประโยชน์ของตนเองและคนเพียงบางกลุ่มเป็นข้ออ้าง เพื่อมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน  ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน  ดูเหมือนว่าเป็นการแก้ปัญหาแต่แท้จริงแล้วกลับสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกไม่มีที่สิ้นสุด

สิงห์ป่าสัก

17 ธันวาคม 2556

หมายเลขบันทึก: 556647เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ยอดเยี่ยมเลย ขอบคุณมากครับ สิงห์

  • สวัสดีครับ อ.บางทราย
  • ผมจะยังปรับข้อมูลและเนื้อหาไปเรื่อยๆ นะครับ
  • อีกสักสัปดาห์จึงจะนิ่ง
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ มีประโยชน์จ้ะ

  • สวัสดีครับคุณมะเดื่อ
  • บันทึกที่ยาวไปนิด เพราะรายละเอีดเยอะมาก
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

ขอบคุณข้อมูลที่น่าสนใจนี้มากๆ ..เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนให้ทราบข้อเท็จจริงและผลกระทบของพื้นที่กับความคุ้มค่าของแผนงานเหล่านี้ค่ะ

สุดยอดข้อมูลแน่นมาก

ทำให้นึกถึงบรรยากาศในการไปห้วยขาแข้งแจ่มชัดเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท