ความซื่อสัตย์


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี มีชฎิลโกงผู้หนึ่งเป็นดาบสหลอกลวง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของพ่อค้าคนหนึ่ง เขาสร้างศาลาให้ดาบสและปรนนิบัติด้วยอาหารอันประณีต ด้วยเชื่อว่าดาบสเป็นผู้ทรงศีล จึงนำทองคำร้อยแท่งไปฝังไว้ใกล้ๆ ศาลาของดาบสนั้น เพื่อให้ดาบสช่วยดูแลรักษา ดาบสพูดให้เขาเกิดความสบายใจว่า 
      " ขึ้นชื่อว่าความโลภในสิ่งของผู้อื่น บรรพชิตไม่มีเลย "

เวลาผ่านไปสองสามวัน ดาบสได้นำทองคำไปฝังไว้เสียที่แห่งอื่น แล้วย้อนกลับมา ในวันรุ่งขึ้นฉันอาหารในบ้านของพ่อค้าแล้วกล่าวอำลาว่า 
      " อาตมาอาศัยท่านอยู่นานแล้ว ความพัวกับพวกมนุษย์ย่อมมี ธรรมดาการพัวพันเป็นมลทินของบรรพชิต เพราะฉะนั้น อาตมาจะขอลาไป "

แม้พ่อค้าจะอ้อนวอนอย่างไร ก็จะไม่อยู่ท่าเดียว เมื่อพ่อค้าบอกว่า 
      " ไปเถิดพระคุณเจ้า "

ตามไปส่งจนถึงประตูบ้านแล้วกลับเข้าบ้านไป

ดาบสนั้น เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็เดินกลับมา พร้อมกับยื่นหญ้าเส้นหนึ่งให้แก่พ่อค้าพร้อมกล่าวว่า 
      " มันติดชฎาของอาตมาไป จากชายคาเรือนของท่าน ขึ้นชื่อว่า อทินนาทานไม่สมควรแก่บรรพชิต "

พ่อค้ายิ่งเลื่อมใสเข้าใจว่า 
      " ดาบสนี้ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น แม้เพียงเส้นหญ้า โอ! พระคุณเจ้าช่างเคร่งคัดจริง ๆ "

ก็พอดีมีชายบัณฑิตคนหนึ่งไปชนบทเพื่อต้องการสิ่งของ ได้พักแรมอยู่ในบ้านพ่อค้านั้นด้วย เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วฉุกคิดว่า 
      " ต้องมีอะไรสักอย่างแน่ ๆ ที่ดาบสนี้ถือไป "

จึงถามพ่อค้าว่า 
      " ท่านได้ฝากอะไรไว้กับดาบสไหม ? "

พ่อค้าจึงเล่าเรื่องฝากให้ดาบสดูแลหลุมฝังทองคำ ๑๐๐ แท่ง เขาจึงบอกให้พ่อค้ารีบไปตรวจเช็คดูว่าหายหรือไม่ เมื่อพ่อค้าไปตรวจดูแล้วปรากฏว่าไม่เห็นทองคำ จึงรีบกลับมาบอกชายบัณฑิตนั้น แล้วพากันรีบติดตามดาบสจับมาทุบบ้าง เตะบ้าง ให้นำทองคำมาคืน เมื่อพบทองคำแล้ว ชายผู้เป็นบัณฑิตจึงพูดว่า 
      " ดาบสนี้ขโมยทองคำ ๑๐๐ แท่ง ยังไม่ข้องใจ กลับมาข้องใจในเรื่องเพียงเส้นหญ้า "

แล้วกล่าวคาถาว่า
     " ถ้อยคำของท่านช่างไพเราะอ่อนหวานเสียนี่กระไร ท่านรังเกียจกระทั่งหญ้าเส้นเดียว
       แต่เมื่อขโมยทองคำไปตั้ง ๑๐๐ แท่ง กลับไม่รังเกียจเลยนะ "

หลังจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีแล้ว พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ มีพระสาคตเถระเป็นพระอุปัฏฐาก ได้จาริกไปจนถึงภัททวติกานิคม ถึงแม้พวกชาวบ้านที่เห็นแล้วพากันมา กราบทูลไม่ให้เสด็จไปท่าอัมพะ เพราะอัมพติฏฐกนาค มีพิษร้ายจะทำอันตรายก็ตาม ก็ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยินถ้อยคำของคนเหล่านั้น เสด็จเข้าไปปูลาดหญ้านั่งขัดสมาธิอยู่ในที่อยู่ของนาคนั้น ส่วนพระสาคตเถระเข้าไปใกล้อาศรมนาคแล้วปูลาดหญ้านั่งขัดสมาธิอยู่ใกล้ๆนาคนั้น นาคได้แสดงฤทธิ์ บังหวลควันและทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้น พระเถระก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน ได้ปราบนาคให้หมดฤทธิ์ตั้งอยู่ในศีล ในเวลาชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น

รุ่งเช้า พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกได้เข้าไปในเมืองโกสัมพี เรื่องราวที่พระสาคตเถระปราบนาคได้แพร่กระจายไปทั่วเมือง ฝูงชนชาวเมืองโกสัมพี ทำการต้อนรับพระพุทธองค์แล้วไปไหว้พระสาคตเถระ พร้อมกับปวารณาว่า " ถ้าพระเถระต้องการอะไรที่หาได้ยาก จงบอก จะจัดถวาย " พระเถระกลับนั่งนิ่งเสียไม่พูดว่าอะไร แต่พวกภิกษุหัวดื้อฉัพพัคคีย์ พากันบอกฝูงชนว่า " โยม สุราสีแดงดุจเท้านกพิราบสิ บรรพชิตหาได้ยาก และเป็นของชอบใจของพระเถระด้วย " ชาวเมืองได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์สาวกฉันในวันพรุ่งนี้

ในตอนเช้า ชาวเมืองต่างก็พากันจัดเตรียมสุราสีแดงดุจเท้านกพิราบไว้ถวายพระเถระทุกเรือน พระเถระดื่มสุราแล้วเมา เดินไปล้มลงที่ประตูเมืองนอนบ่นพร่ำเพ้ออยู่ เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จได้เสด็จกลับ พบพระเถระนอนอยู่เช่นนั้น จึงรับสั่งให้ประคองพระเถระนอนหันศีรษะไปทางพระบาทของพระองค์ พระเถระกลับนอนเหยียดเท้าไปทางพระพักตร์ของพระพุทธองค์ พระองค์จึงทรงตรัสโทษของการดื่มสุราว่า 
      " พระสาคตะเคยเคารพในเรา บัดนี้ไม่มีแล้ว เคยเป็นผู้มีความสามารถปราบพญานาคได้ บัดนี้ไม่มีแรงที่จะปราบแม้กระทั่งงูปลา ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่ดื่มแล้ว ปราศจากความจำได้หมายรู้ สิ่งนั้นภิกษุไม่ควรดื่ม " 
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะดื่มสุราเมรัย

ในตอนเย็น พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภาพูดถึงโทษของการดื่มสุรา พระพุทธองค์ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี มีฤาษีอยู่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้อภิญญาและสมาบัติ อาศัยอยู่ในป่าหิมวันตะ ครั้นถึงฤดูฝนจึงอำลาอาจารย์เพื่อเข้าเมืองถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ทำให้ประชาชนและพระราชาเลื่อมใสแล้ว พักอยู่ในพระราชอุทยาน ต่อมาวันหนึ่งในเมืองพาราณสีมีเทศกาลดื่มสุรา พระราชาดำริว่า พวกบรรพชิต หาสุราได้ยาก จึงรับสั่งให้ถวายสุราอย่างดี เป็นอันมากแก่ฤาษี

พวกฤาษีดื่มสุราแล้วเมา บางพวกลุกขึ้นฟ้อนรำ บางพวกขับร้องจนหลับไป พอสร่างเมาพากันตื่นขึ้นมาเห็นอาการอันแปลกของพวกตน ก็เสียใจว่าไม่ควรทำ จึงพากันกลับไปหาอาจารย์ เล่าเรื่องนั้นให้แก่อาจารย์ฟังว่า
     " พวกกระผมได้พากันดื่ม ได้พากันฟ้อนรำ พากันขับร้องแล้ว ก็พากันร้องไห้ 
       เพราะดื่มสุราที่ทำให้สัญญาวิปริต เห็นดีแต่ที่มิได้กลายเป็นลิงไปเสียเลย "

อาจารย์ได้สอนว่า " ธรรมดานรชนที่เหินห่างจากการอยู่ร่วมกับครู ย่อมเป็นเช่นนี้ได้ทั้งนั้น "

 

 

หมายเลขบันทึก: 556077เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ความซื่อสัตย์...เป็นสมบัติของคนดี...จ้ะ

ชอบอ่านนิทานหรือพุทธชาดกค่ะ เก็บไว้เล่าให้ลูกฟังและถามความคิดเห็นเขาด้วยค่ะ ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท