Symbol of Nation : สัญลักษณ์ของชาติกับปรัชญาที่แฝงอยู่ของอินเดีย


ภูมิปัญญาของดร.อัมเบดการ์ ในสัญลักษณ์ของอินเดีย

        

              ดร.อัมเบดการ์เป็นบุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย  จริงอยู่ว่าท่านไม่ได้เป็นคณะผู้ก่อตั้งพรรคครองเกรสของอินเดีย  ซึ่งเป็นพรรคที่บทบาทสำคัญในการกดดันรัฐบาลอังกฤษให้คืนเอกราชให้กับอินเดีย  แต่ท่าน ดร.อัมเบดการ์ก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคคองเกรสประจำเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคคองเกรสแห่งชาติ  ซึ่งต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราช  ท่านจึงมีบทบาทสูงมากในรัฐบาลของพรรคคองเกรสเนื่องจากท่านมีความรู้กว้างขวางในวัฒนธรรมทางความคิดของตะวันตก  อย่างที่ทราบกันคือท่านจบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากอเมริกา  และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์และกฏหมายจากอังกฤษ ดังนั้นรูปแบบการบริหารงานของรัฐบาลกลางตามอย่างตะวันตกก็ดี  รัฐธรรมนูญของอินเดียที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญของอเมริกาก็ดี เกิดจากมันสมองของท่าน ดร.อัมเบดการ์  นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกปรัชญาการเมืองแบบพุทธไว้ในสัญลักษณ์สำคัญของอินเดีย

 

ธงชาติอินเดีย

          สัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในจุดศูนย์กลางของธงชาติอินเดีย คือ รูปธรรมจักร  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา  โดยกำเนิดจากหลักคำสอนในปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า นั่นคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร  ซึ่งแปลว่า คำสอนที่ว่าด้วยการเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา  ธรรมจักรที่ปรากฏอยู่ในธงชาติอินเดียจึงมีนัยยะสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วยธรรมเพื่อดำเนินไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

หัวเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช

                พระเจ้าอโศกมหาราช  กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียทรงใช้เสาหินจารึกประวัติศาสตร์และหลักคำสอน  โดยตั้งไว้ตามสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา  เมื่ออินเดียได้รับเอกราชรัฐบาลอินเดียได้ประกาศใช้รูปหัวเสาหินพระเจ้าอโศกเป็นตราสัญลักษณ์ทางราชการ  โดยนัยยะหมายถึงความยิ่งใหญ่ที่แผ่ไปทั้ง 4 ทิศ  เป็นศูนย์รวมของอำนาจทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม (รูปธรรมจักรปรากฏที่ฐาน)

ตราสัญลักษณ์ของพรรคคองเกรส

              พรรคคองเกรสเป็นพรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะผู้นำการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย  และเมื่อได้รับเอกราชแล้วพรรคคองเกรสได้จัดตั้งรัฐบาลกลางในการบริหารประเทศ  แต่เดิมสมัยท่านมหาตมะ คานธีเป็นผู้นำ สัญลักษณ์พรรคเป็นรูปเครื่องปั่นด้ายของชาวบ้านในอินเดีย  ซึ่งนัยยะก็คงจะเหมือนรูปค้อนและเคียวของพรรคคอมมิวนิสต์  แต่ในปัจจุบันรัฐบาลพรรคคองเกรสของนางโซเนีย  คานธี  ใช้รูปธงชาติที่มีภาพมืออยู่ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์  ตอนแรกผมก็ไม่ทราบความหมายแต่เมื่อได้อ่านหนังสือของท่าน ดร.อัมเบดการ์ผมจึงเข้าใจนัยยะที่แฝงอยู่  ในหนังสือกล่าวถึงการวิวาทะระหว่างท่านกับมหาตมะ คานธี  ดังข้อความต่อไปนี้

 

     "ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้พบกับมหาตมะ คานธี  ท่านได้บอกข้าพเจ้าว่า "ท่านเชื่อในระบบวรรณะ 4"  ข้าพเจ้าถามว่า "วรรณะ 4 ชนิดไหนกัน"  พร้อมกับชี้ไปที่มือของข้าพเจ้า ซึ่งนิ้วก้อยถูกทับอยู่ข้างล่างนิ้วหัวแม่มืออยู่บนสุด แล้วพูดต่อว่า "หรือแบบนี้" พร้อมวางฝ่ามือราบอยู่บนโต๊ะ นิ้วมือวางเรียงกันไป ข้าพเจ้าถามต่อว่า "จตุวรรณะหมายถึงอะไร? มันเริ่มขึ้นเมื่อไร?  และจะสิ้นสุดเมื่อไหร่?"  ท่านไม่อาจตอบปัญหานี้ของข้าพเจ้าได้"

      จากข้อเขียนของดร.อัมเบดการ์นี้ ทำให้ผมเข้าใจนัยยะของรูปฝ่ามือที่เป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคคองเกรส  นั่นคือ สมภาพ ภราดรภาพ และเสรีภาพของประชาชน  เป็นสัญลักษณ์ของการไม่มีชนชั้นวรรณะ  ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน 

สัญลักษณ์เหล่านี้แฝงไว้ซึ่งความหมายอันยิ่งใหญ่  ที่น่าศึกษาและนำมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของบ้านเราในสภาพการณ์ที่ไร้ระเบียบอยู่เช่นนี้

หมายเลขบันทึก: 555916เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2013 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2013 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ทุกวันนี้กลับมีวรรณะ

นักบวชไทย ที่แต่งกายแบบอินเดีย มีการเฉยเมย เมื่อมีการนั่งต่ำนั่งสูงต่อกันขอเพื่อนมนุษย์

จะเห็นได้ว่า การยกเลิกชั้นวรรณะ โดยสมณโคดมนั้น เปล่าประโยชน์ ต่อจิตใจพวกเขา

เพียงเพราะ สภาวะที่เขาต้องการให้มีนาย มีทาสต่อกันเท่านั้นหรือ ที่เขาไม่ปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อพี่น้องมนุษย์

ยกเลิกไปเถิด ชั้นวรรณะน่ะ นี่มันยุคไหนแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท