วันนั้นของพ่อ


การที่เราคิดและเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ จะทำให้เราเห็นว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ...จะกลัวไยเล่า ในเมื่อตายมาแล้วไม่รู้สักกี่ครั้ง ... ปัญหาหลักอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะ “ไม่หลงตาย” ต่างหาก ด้วยการหลงตายจะนำพาไปสู่ภพภูมิที่ไม่น่ารื่นรมย์เลยสักนิด

วันนั้นของพ่อ

เกศินี จุฑาวิจิตร

 

            นิตยสาร Secret ปักษ์หลังของเดือนพฤศจิกายน เป็นฉบับ “หัวเราะร่ารับความตาย”

          เรื่องเด่นในฉบับ คือบทสัมภาษณ์ แมเรียน กรูซาลสกี้ (Marian Gruzalski) เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของเธอพร้อมความตั้งใจในการก่อตั้ง “สถานบำบัดผู้ป่ายระยะท้าย” หรือHospice เป็นจำนวน 4 แห่งในสหรัฐอเมริกาและเดินทางไปให้คำปรึกษาแก่สถานบำบัดผู้ป่วยระยะท้ายมาแล้วทั่วโลก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคิดและรู้สึกว่า ความตายเป็นกัลยาณมิตรและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความตายอย่าง “สงบ สง่างาม และมีเกียรติ ด้วยใจที่น้อมรับ”

          การสูญเสียลูก 3 คนและการเลิกรากับสามีในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เป็นวิกฤติของชีวิตที่ “ปลุก” ให้เธอ “ตื่น” ขึ้นมาพบสัจธรรมและวิถีแห่งธรรม โดยเธอบอกว่า

          “คนเราให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นของชีวิตกันมาก แต่มักจะละเลยจุดบั้นปลายของชีวิตทั้งๆ ที่การเริ่มต้นและการสิ้นสุดมีความสำคัญไม่แพ้กัน”

          นอกจากนั้นก็มีเรื่องของหมอก้อง-สรวิชญ์ กับชีวิตที่มีความตายเป็นเพื่อนร่วมทาง

          เรื่องของกิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ กับอาม่าของเธอ และเรื่องสั้น “อุปายโกศล” ของ ไพลิน รุ้งรัตน์ ที่ช่วยให้เห็น “นาฏลักษณ์อันงดงามของความตาย” ที่ชัดเจนมากขึ้น

          Secret ฉบับนี้จึงแทบจะวางไม่ลงจริงๆ!!

           ว่ากันด้วยเรื่องของชีวิต ชีวิตของคนเราไม่ใช่แค่เส้นตรงเส้นหนึ่ง แต่เป็นเส้นตรงหลายๆ เส้นที่เรียงต่อกันเป็นวงกลม เป็นวัฏฏะ     หากตอนปลายของเส้นตรงนั้นหักงอหรือบิดเบี้ยวมันก็จะทำให้วงกลมวงนั้นบิดเบี้ยวไปด้วย ความจริงเราไม่ได้อยากมีชีวิตที่งดงาม ...ชาติแล้วชาติเล่า...เป็นวงกลมที่เรียบสวยหรือกลมดิกเท่านั้น

           ความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ จะทำให้คนเราไม่อยากที่จะมีชีวิตเป็นวงกลม อยากออกจากวงกลม

           แต่สำหรับฉัน ...แม้อยากจะออก แต่ความเพียรก็ยังมีไม่มากพอ (ฮา) ก็จะขอสะสมบุญไปพลางๆ ก่อน อย่างไรก็ดี การที่เราคิดและเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ จะทำให้เราเห็นว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

           ...จะกลัวไยเล่า ในเมื่อตายมาแล้วไม่รู้สักกี่ครั้ง ... ปัญหาหลักอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะ “ไม่หลงตาย” ต่างหาก ด้วยการหลงตายจะนำพาไปสู่ภพภูมิที่ไม่น่ารื่นรมย์เลยสักนิด

          บ้านของฉันเป็นครอบครัวเล็กๆ พ่อกับแม่รับราชการ เงินเดือนข้าราชการไม่ได้มากมายเหลือเฟือ พอที่จะเลี้ยงลูกให้เป็น “เทวดา” แต่นั่นก็มากมายเพียงพอที่จะดูแลลูกเล็กๆ สามคนให้มีชีวิตเป็นอย่างดีตาม อัตภาพของเรา คำสอนและการเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัวของพ่อและแม่ทำให้พวกเราไม่รู้สึกว่า “ขาด” อะไรและต้อง “โหยหา” อะไรที่อยู่นอกบ้านหรือนอกกาย

          ทุกคืนพ่อจะนำลูกๆ สวดมนต์ บ้านเราจะตักบาตรทุกเช้า ...ทุกเช้าได้อย่างเหลือเชื่อ... ที่เหลือเชื่อก็เพราะว่าทุกวันนี้พ่อของฉันในวัย 89 ปีก็ยังสวดมนต์ นั่งสมาธิและตักบาตรเป็นกิจวัตรประจำวัน ในขณะที่แม่ลูกสาวตัวดียังไม่อาจทำเช่นนั้นได้ทุกวันด้วยข้ออ้างมากมาย

          แม่ของฉันจากไปแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน พวกเราเลือกที่จะทำให้ 7 วันในโรงพยาบาล เป็นชีวิตที่สงบที่สุด ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ไม่ยื้อยุดใดๆ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี ฉันคิดว่านี่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง แม้จะคุ้นเคยกับมรณานุสติที่พระไพศาล วิสาโล หมั่นตอกย้ำ และแม้จะคิดว่าถ้าแม่เลือกได้ แม่ก็จะเลือกเช่นนี้เหมือนกัน หากก็มีบางชั่วขณะเท่านั้นที่แวบขึ้นมาว่า เราทำถูกจริงๆ หรือ !!!

          Secret ช่วยตอกย้ำ...ถูกทางแล้วจริงๆ

         ฉันเริ่มคิดถึง “วันนั้น” ของพ่อ แม้วันนี้พ่อยังแข็งแรง เดินและทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกอย่างด้วยตนเอง แต่พ่อก็พร้อมทุกเมื่อที่จะ “เดินทางไกล”  เราช่วยกันวางแผนให้การเดินทางไกลของพ่อเป็นการเดินทางที่ราบรื่นประดุจใยไหม

         ด้วยความไม่ประมาท พ่อเตรียมและกักตุน “เสบียง” มาโดยตลอด พ่อและแม่สอนพร้อมทำให้เห็นเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่องรวมทั้งการเตรียมเสบียงบุญไว้ใช้ในภายภาคหน้าด้วย

 

ที่มาภาพ www.magazinedee.com 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 555824เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2013 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2013 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ

-เห็นด้วยกับ“คนเราให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นของชีวิตกันมาก แต่มักจะละเลยจุดบั้นปลายของชีวิตทั้งๆ ที่การเริ่มต้นและการสิ้นสุดมีความสำคัญไม่แพ้กัน”

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับการเล่าเรื่องราวดีๆ ข้อคิดดีๆจากหนังสือดีๆค่ะ

เป็นนิตยสารที่อ่านอยู่บ่อยๆครับ ชอบสาระประโยชนืมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท