กรณีศึกษาน้องซันเมี๊ยะไมทา : วันที่เป็นไทยของเด็กจากแม่ในศูนย์พักพิง


    เด็กชายศรัณญ์ คีรีบุปผา เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่โรงพยาบาล ARC มีเอกสารรับรองการเกิด ทร.1/1 ในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ เป็นบุตรชายคนแรกของนางซานดา ซึ่งเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง กับนายไนท์ คีรีบุปผา ชายสัญชาติไทย อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 10 (บ้านเลตองคุ) ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

            เด็กชายศรัณญ์ เข้ารับการรักษาตัวครั้งแรกที่โรงพยาบาลอุ้มผางหลังจากคลอดได้ 5 วัน มีเลขประจำตัวผู้ป่วย HN 56498 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ด้วยอาการตัวเหลือง ต้องทำการฉายแสงรักษาเด็กตัวเหลืองเป็นเวลา 3 วัน  แต่เนื่องจากเด็กยังไม่ได้รับการแจ้งเกิดจึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชน และไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล ทางโรงพยาบาลอุ้มผางจึงออกบัตรขาวเพื่อเข้าถึงการบริการสุขภาพให้กับเด็กชายศรัณญ์

            จากการสอบปากคำ นายไนท์ ผู้เป็นบิดา จึงทราบว่า ตั้งแต่แรกเกิดทราบแล้วว่าต้องแจ้งเกิดให้ลูก แต่ที่ยังไม่ไปดำเนินการเพราะเป็นห่วงว่าจะมีผลตอนที่ภรรยาจะทำเรื่องเดินทางไปประเทศที่สาม จนระยะเวลาล่วงเลยมา 3 เดือนเศษ

ตอนนี้ นายไนท์ต้องการแจ้งเกิดให้บุตรชาย ผู้เขียนจึงปรึกษากับปลัดสุระวุธ หัวหน้าผู้รับผิดชอบศูนย์พักพิงบ้านนุโพ ทำให้ทราบว่าการแจ้งเกิดย้อนหลัง ต้องมีการสอบปากคำเพิ่มเติม จึงแนะนำให้นายไนท์ติดต่อสอบถามรายละเอียดการแจ้งเกิดย้อนหลังจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนประจำศูนย์พักพิงบ้านนุโพ

บันทึกด้านบทเขียนเมื่อสองปีก่อน ครั้งนั้น ผู้เขียนรู้จัก ซันเมี๊ยะไมทา หรือ น้องซาลาเปา ในชื่อ เด็กชายศรัณญ์ ตามที่นายไนท์ ผู้เป็นบิดา ซึ่งแจ้งชื่อทำประวัติประจำตัวผู้ป่วยโรงพยาบาลอุ้มผาง

กว่าสองปีที่คลินิกกฎหมายอุ้มผาง ร่วมดำเนินการตั้งแต่การตรวจดีเอ็นเอ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไทยเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ (TCR) จนได้รับผลยืนยันความเป็นพ่อลูก กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นเอกสาร เช่น การแก้ไขหนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล ARC ในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านสุโพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Lac โดยคุณอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ รวบรวมพยานบุคคล ยื่นคำร้องขอแจ้งเกิดเกินกำหนดของบุคคลสัญชาติไทย กระทั่งได้รับการอนุมัติ ออกสูติบัตรบุคคลสัญชาติไทยและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทร.14 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 และมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเภทเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556

กรณีที่ยาวนานทั้งเวลา และใช้พลังจากหลายส่วนจนซันเมี๊ยะไมทา ใช้สิทธิในสัญชาติไทยและใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นบทเรียนที่ทำให้ผู้เขียนเฝ้าระวังและป้องกัน โดยการกำชับให้บิดาที่มีบุตรจากมารดาที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงฯ นำเอกสารหนังสือรับรองการเกิด ทร.1/1 ไปแจ้งเกิดเพื่อให้เด็กได้รับสูติบัตรผู้มีสัญชาติไทย ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล รวมถึงกรณีของนางซานดาซึ่งกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดซ้ำรอยได้อีก

-------------------------

โดย นางจันทราภา นนทวาสี จินดาทอง บันทึกภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อ 9 ธันวาคม 2556

หมายเลขบันทึก: 555813เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2013 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2013 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสงสาร เป็นกำลังใจให้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท