๙ พระบรมราโชวาท( ๕๕-๖๓)ใน ๑๐๘มงคลเพื่อความสุขและความสำเร็จของชีวิตแบบยั่งยืน(๗)


น้อมนำ ๙ พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ ๙

เพื่อเป็นแสงสว่าง เป็นหนทางแห่งการดำเนินชีวิต พระบรมราโชวาทที่เกี่ยวเนื่องกับหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ทรงพระราชทานต่อ คนไทย เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นหนทางแห่งชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

 

๕๕. ใช้สติปัญญาในการพิจารณาแก้ไขปัญหา

"....ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มีทางแก้ไขได้ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดให้ดี มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิดหรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใดสามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

" การขบคิดวินิจฉัยปัญหาจึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอเพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาดและอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆเป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้ เห็นเหตุ เห็นผล ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัดทุกขั้นตอน

 

๕๖. ตั้งเป้าหมายขอบเขต และหลักการของงานให้แน่นอน

"....การทำงานใดๆไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้สิ้นเชิง และเมื่อปฏิบัติดำเนินงานสู่เป้าหมายนั้นผู้มีการศึกษาต้อง ไม่ละทิ้งหลักวิชาการ ไม่ละทิ้งความคิด พิจารณาตามเหตุผล และความชอบธรรมถูกต้อง...."

 

๕๗. ใช้ความสามารถ และความรอบคอบในการไปให้ถึงจุดหมาย

"...การจะไปให้ถึงจุดหมายต้องใช้ความสามารถ และความรอบคอบระมัดระวังมาก ตั้งแต่เริ่มต้นตลอดไปจนถึงที่สุดแรกเริ่มก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยก ทางร่วม จะเดินไปเป็นสองทาง สามทางก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะสะดวก ปลอดภัยไปถึงที่หมาย...."

 

๕๘. ความคิดริเริ่มเกิดจากพื้นฐานความรู้ที่ชัดเจน และความคิดที่เป็นระบบ

".....ก่อนที่ความคิดริเริ่มในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะเกิดขึ้น บุคคลจะต้องมีความรู้ที่ชัดเจนและกว้างขวางในเรื่องนั้นๆเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังต้องมีความคิดพิจารณาที่ดี มีระบบ มีหลักเกณฑ์ และเหตุผลพร้อมอยู่ด้วย

" เมื่อได้นำความรู้กับความคิดพิจารรณานั้น มาประสานกันเข้าอย่างถูกถ้วนพอเหมาะพอดี จึงจะสามารถสร้างความคิดใหม่ที่พร้อมมูลด้วยสาระและหลักการ อันเรียกว่า ความคิดริเริ่มขึ้นมาได้ สำหรับใช้เกื้อกูลการปฏิบัติบริหารงาน...."

 

 

๕๙. ความคิดเป็นตัวนำวิชาต้องคิดแล้วทำให้เจริญ

"....ความคิดเป็นตัวนำวิชา คือความคิดจะต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะนำเอาวิชามาใช้ได้ แต่การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่าง จะคิดให้วัฒนะ คือคิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้ จะคิดให้หายนะ คือคิดแล้วทำให้พินาศหายก็ได้

" การคิดให้เจริญจึงต้องมีหลักอาศัยหมายความว่า เมื่อคิดเรื่องใด สิ่งใดต้องใจให้มั่นคงในวิชาการมาใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ ความสำเร็จ และความเจริญให้สำเร็จได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม...."

 

 

๖๐. มีความตั้งใจในการตั้งต้นงาน

"...การตั้งต้นงานนี้สำคัญที่สุด คำว่า "ตั้ง" นั้นก็มีไว้ เพราะว่าสำหรับทำงานใดๆก็จะต้องมีความตั้งใจ

" ตั้งใจนั้นก็คือ เอาใจตั้งในงาน หรือ อีกอย่าง เอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ เมื่อเอางานมาตั้งข้างหน้าใจ หรือ เอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่างานก็คงจะสำเร็จล่วงไปได้โดยดี....."

 

 

๖๑. มีความสามารถย่อมไม่มีวันอับจน

"....คนเราเมื่อมีความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่ ก็จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอข้อสำคัญในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้ยั้งยืน....."

 

 

๖๒.  มัวแต่คิดไม่กล้าลงมือทำ จะไม่มีอะไรสำเร็จ

"....ถ้ามัวแต่ไปคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จหรอก คิดอะไรก็ทำไปเลย ผิดถูกค่อยแก้ไป เดี่ยวมันก็ค่อยๆได้ออกมาเอง ถ้ามัวแต่คิด แต่ไม่กล้าทำ ไม่ลงมือทำ มันก็จะไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่างเดียว..."

 

 

๖๓. ความผิดพลาดล้มเหลว มักเกิดจากการหลอกตนเอง

"...ความผิดพลาดล้มเหลวของบุคคลหรือภารกิจต่างๆนั้น ส่วนมากเกิดจากมูลเหตุข้อใหญ่ คือ ความหลอกตัวเอง หลอกกันและกัน และเมื่อทำการงานโดยไม่อาศัยความจริงก็ผิดพลาด ไม่อาจทำให้งาน ให้ตนเองประสบผลสำเร็จที่ดีได้ นักปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จ และความเจริญจึงต้องยอมรับความจริง และยึดมั่นในความจริง มีความจริงใจต่อตัวเอง และต่อกันและกันอย่างมั่นคงตลอดเวลา แต่ละคนจึงจะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกใจมั่นใจ ถูกต้องเที่ยงตรงตามเป้าหมาย และพอเหมาะพอดีแก่ฐานะ แก้หน้าที่ แก่โอกาสพร้อมทุกอย่างได้ ยังผลให้การสร้างสรรค์ความดี ความเจริญบรรลุศุภผลอันพึงประสงคฺ์....."

 

* ขอบคุณ ๙ พระบรมราโชวาทจากหนังสือ ๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ ร่วมกับ 7 -ELEVEN และฺ BOOK SMILE รายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการของโรงเรียนวังไกลกังวล

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันเสาร์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ส ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 555643เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท