รูปแบบการสอนของคุณครูสารภี สายหอม บีพี ครูแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ.


วันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ มูลนิธิยามกัมมาจลจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากครูบีพี (best practice) ในการออกแบบการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.)  และเชิญผมไปฟังแล้วสังเคราะห์รูปแบบการสอนฯ

ช่วงบ่ายอาจารย์ปิยภรณ์ มัณฑะจิตร (พี่เปา) เชิญคุณครูสารภี สายหอม  ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม จ.สุรินทร์ ซึ่งท่านบอกว่าเป็นครูที่ "เล่าเรื่องได้ชัดที่สุด" ออกมาเล่าถึงการออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสอดแทรก ปศพพ. เรื่องระบบการหมุนเวียนโลหิต และให้ผมจับประเด็นให้เห็นรูปแบบ (จึงนำการบ้านมาส่งครับ)

 
รูปอบบการสอนของคุณครูสารภีแบ่งได้เป็น ๔ ขั้นตอน ดังผังด้านลาง ได้แก่

๑. ขั้นสร้างบรรยากาศการเรียนรู้
๒. ขั้นสร้างสถานการณ์ให้เรียนรู้สู่เป้าหมายอย่างสนุก
๓. ขั้นจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม
๔. ขั้นถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้ 

ครูสารภีบอกว่า จากประสบการณ์การสอนกว่า ๓๐ ปี วิธีนี้ได้ผลดีมาก ขณะที่ผมฟังและจับรูปแบบฯ ผมรู้สึกได้ชัดว่า จุดเด่นที่สุดของครูสารภีคือ การแทรก ปศพพ. แบบ "ไร้รูปแบบ" จึงยากยิ่งที่จะสังเคราะห์ออกเป็นรูปแบบที่ครอบคลุม "กระบวนการ" ของท่านได้ทั้งหมด หากเปรียบกับรูปแบบการสอนโดยทั่วไปที่มี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นนำสู่บทเรียน ขั้นสอน และขั้นสรุป เป็นเหมือน "วงเรียน" วิธีการของครูสารภีจะมี "วงเรียนเล็กในวงเรียนใหญ่" คือ ในขั้นนำสู่บทเรียน จะมีขั้นนำฯ ขั้นสอน และขั้นสรุปฯ ซ้อนอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ผมสรุปสิ่งที่ฟังได้ดังรูปด้านล่าง และเทปบันทึกเสียงตอนท่านเล่าเรื่องการสอนของท่านอีกครั้งต่อหน้า รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ในวันถัดมา

 

 


ไฟล์เสียง เรื่องเล่าการสอนของครูสารภีบางส่วน 

 
หลังจากฟังเรื่องเล่าจบ ผมจับได้ว่าลักษณะสำคัญที่เป็นปัจจัยให้ชั้นเรียนนี้สำเร็จคือ

  • ๑. เด็กเป็นศูนย์กลาง  ครูให้ ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน ที่นักการศึกษาเรียกว่า ให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยครูเน้นการตั้งคำถาม สร้างสถานการณ์ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้นั้นๆ
  • ๒. เน้นเรียนให้สนุก สุขที่ได้เรียน ครู ให้ความสนใจกับการสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ทั้งแบบเรียนเดี่ยวด้วยตนเอง และเรียนแบบกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าเด็กสนุกเพราะได้คิดและได้ลงมือทำเอง เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ
  • ๓. เรียนรู้แบบจัดการความรู้ การ นำกระบวนการจัดการความรู้ (แม้ว่าท่านจะไม่ได้ใช้คำนี้) เช่น การร่วมกันตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันก่อนเรียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดบทเรียน การสะท้อนบทเรียน ฯลฯ มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน
  • ๔. เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ การจัดให้มีขั้นตอนการสะท้อนตนเองเพื่อ "เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ของตนเอง" หรือ "เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้"  ประการนี้แสดงชัดว่าครูสารภีเป็นครูยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญถึงขั้น meta-cognetive
  • ๕. สรุปชัดเจนและเชื่อมโยงชีวิตจริง  ขั้น ต้นครูสารภีจะชี้ให้เห็นคุณค่า ความหมาย และความสำคัญของสิ่งที่กำลังพูดถึง และสรุปองค์ความรู้ร่วมนั้นอย่างชัดเจน ถึงขั้นนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง


สิ่งที่สำคัญคือคำถามว่า คือ  เราแทรก ปศพพ. ให้นักเรียนตอนไหน?  ..... 
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคำตอบของท่านผู้อ่านครับ

 

หมายเลขบันทึก: 555535เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชมการทำงาน

ครูพัฒนาไปมากเลยครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท