Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เด็กข้ามชาติด้อยโอกาสศึกษา : ก้าวต่อไปในปีที่สองจะเป็นอย่างไร ?


เด็กข้ามชาติด้อยโอกาสศึกษา : ก้าวต่อไปในปีที่สองจะเป็นอย่างไร ?

บทสรุปของรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูง : สาเหตุ ธรรมชาติของเรื่อง และแนวคิดในการจัดการปัญหาภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152092415188834  

------------------------------------

เด็กข้ามชาติด้อยโอกาสศึกษา

: ภารกิจที่ยังค้างอยู่อีก ๔ ปี สำหรับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

------------------------------------

เมื่อ“โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย (๒๕๕๕ - ๒๕๕๙)” หรือที่เราเรียกกันเองว่า “โครงการใหญ่” เป็นภารกิจที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งที่จะทำกิจกรรมทางวิชาการ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ศึกษาวิจัย และ (๒) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับ “เด็กและผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดชายแดน” งานเพื่อเด็กข้ามชาติด้อยโอกาสจึงเริ่มต้นขึ้นสำหรับสถาบันการศึกษานี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ จนถึงพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ กล่าวคือ ๕ ปีติดต่อกัน

ในขณะที่“โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วารี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕” หรือที่เราเรียกกันเองว่า “โครงการเล็กปีที่หนึ่ง” เป็นก้าวแรกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ “นับหนึ่งกับงานเด็กข้ามชาติด้อยโอกาสศึกษา” ในระหว่างมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ โดยผ่านการทำงานภายใต้โครงการนี้ เราเลือกที่จะศึกษาเด็กด้อยโอกาสจาก ๕ ครอบครัว และเราพบปัญหาความด้อยโอกาส ๖ ลักษณะจากการศึกษานี้

หลังจากโครงการเล็กปีที่หนึ่ง  ภารกิจของเราจึงเหลือ ๔ ปี  การสรุปผลการทำงานในปีที่ผ่านมาจึงจำเป็นอย่างมาก เราคงจะต้องทราบว่า มีงานใดบ้างที่ค้างจากปีที่แล้ว และเราคงต้องตัดสินใจดำเนินให้เร็วกว่าปีที่ผ่านมาว่า แผนการทำงานในปีที่สอง (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗) ควรจะเป็นอย่างใด ทั้งในส่วนของงานวิจัยในประเด็นความด้อยโอกาสจากปัญหาด้านสถานะบุคคลและในส่วนของการให้ความช่วยเหลือในความด้อยโอกาสที่ดินด้านสิทธิในที่ดินอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

งานวิจัยความด้อยโอกาสจากปัญหาด้านสถานะบุคคลฉบับนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยในโครงการ โดยเนื้อหาของเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการมาก เนื่องจากมีความซับซ้อนในข้อเท็จและข้อจริงของเรื่อง ปัญหาการปังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขความด้อยโอกาสจากปัญหาสถานะบุคคลที่นำไปสู่การด้อยสิทธิ การทำงานในครั้งต่อไปจำเป็นต้องมีเวลามากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้การทำวิจัยสามารถรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย และ ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้มากกว่า ๕ ครอบครัว ใน ๖ ลักษณะความด้อยโอกาส ซึ่งความด้อยโอกาสบางเรื่องก็ต้องทำโดยพลัน เช่น ความด้อยโอกาสในการเข้าถึงเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ในบางเรื่องเป็นเรื่องที่มีเวลาที่จะส่งต่อไปยังคณะทำงานช่วยเหลือ

          ในอนาคต เราก็คงทำงานบนเรื่องจริงของสังคมไทยต่อไปในบริบทของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เราเป็นอยู่ เราเชื่อมความรู้ระหว่างพื้นที่จริงในสังคมและห้องเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ดังที่เป็นมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคม

          อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ตัดสินใจว่า ในปีที่สอง จะยังเป็นแม่สรวยศึกษาหรือไม่ อาจจะเป็นแม่ลาน้อยศึกษา อาจจะเป็นแม่สอดศึกษา อาจจะเป็นระนองศึกษา หรือแม่ฟ้าหลวงศึกษา  แต่เราแน่ใจว่า งานหนึ่งของพวกเรา ก็คือ งานวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรที่เน้นประชากรชายแดน และเน้นอย่างยิ่งที่เด็กข้ามชาติและด้อยโอกาส

          เราหวังว่า จะมีลูกศิษย์ในชั้นปริญญาตรี โท เอก ผู้ติดตามเราออกจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปสู่พื้นที่ที่ด้อยโอกาสที่สุดของประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบที่แรงที่สุดจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนใน ค.ศ.๒๐๑๕ และเราหวังว่า พวกเขาจะช่วยเราเก็บเกี่ยวความรู้เชิงประสบการณ์เพื่อกลั่นกรองทฤษฎีความคิด อันทำให้เกิดสูตรสำเร็จทางนิติศาสตร์ในการรักษาความยุติธรรมทางสังคมแก่เหล่าคนด้อยโอกาสตามแนวชายแดน และเราก็จะนำความรู้เชิงความคิดที่สอดคล้องกับสังคมนี้กลับสู่ห้องเรียน เป็นบทเรียน เป็นกรณีศึกษา เป็นข้อสอบ เพื่อบัณฑิตนิติศาสตร์น้อยจะรู้จักความเป็นจริงในสังคมและรับใช้สังคมได้ตามหลักวิชาชีพนักกฎหมาย

          เราขอบคุณ คุณศิวนุช คุณพวงรัตน์ คุณปรางค์สิรินทร์ คุณวิกานดา และคุณพิมลชญาที่ช่วยเพาะปลูกองค์ความรู้ในการจัดการสถานะบุคคลตามกฎหมาย ณ ห้วยน้ำเย็นและกิ่วจำปี  วิชาชีพนี้เป็นเรื่องเก่าแก่ของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล แต่การพัฒนาองค์ความรู้เก่านี้ให้ทันสมัยและสอดคล้องต่อสังคมอยู่เสมอ จะทำให้เทคนิคในการจัดการประชากรของวงการนิติศาสตร์ไทยมีความทันสมัยและเอื้อต่อการปรากฏตัวของความยุติธรรมทางสังคม

 

                                                          ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖

                                                          รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

                                                         อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

                                                         อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

 

หมายเลขบันทึก: 555451เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท