แนวคิดในการพัฒนาอาจารย์ [2] ในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก


ในตอนแรกของการริเริ่มโครงการพัฒนาอาจารย์ เราได้พูดถึงแนวคิดโดยรวม คือ 

(๑) ทำความเข้าใจว่าการพัฒนาบุคลากรนั้นไม่ใช่การจัดงาน (event) แต่มันคือกระบวนการ (process) ที่ใช้เวลาและทรัพยากรอย่างต่อเนื่องครับ
(๒) การออกแบบการอบรมต้องอยู่บนพื้นฐานของทฤษฏีที่ดี ซึ่งผมอ้างอิงทฤษฏี Diffusion of Innovations เพื่อหา early adopters และใช้ TPACK เพื่อจัดประเภทและหาคนในกลุ่ม early adopters ซึ่งหมายถึงคนที่สอนเป็นและสนใจเกี่ยวกับการสอน
(๓) การพัฒนาบุคลากร ต้องเริ่มด้วยการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งผมได้อ้างถึง community of inquiry หรือ CoI คือการจัดการอบรม จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างชุมชนให้ได้เสียก่อน

สำหรับตอนที่สองนี้จะขอลงรายละเอียดในการ “สร้าง” ชุมชนนะครับ ซึ่งหมายถึงหัวข้อที่ (๒) และ (๓) ข้างต้นนั่นเอง
ในการหา early adopters นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พูดกันตรงๆ ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะเตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ มีใจรักการสอนแบบทุ่มเทสุดตัว เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศหรือระดับโลกเลยก็ว่าได้ ที่เราไม่สามารถทำให้เด็กรู้ตัวว่าต้องการเป็นอะไร ทำให้เราได้ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ตัวว่าอยากทำอะไร และเราก็ได้พลเมืองที่ไร้จุดหมายในชีวิต ทำงานไปวันๆ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน (และบันทึกนี้ก็ไม่ได้เขียนเพื่อจะสนทนาปัญหานี้เสียด้วยสิ)

เท่าที่ผมพบเจอครูอาจารย์ที่ชอบสอนก็ล้วนมาจากเครือข่ายที่สร้างขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยอย่างเช่นใน GotoKnow หรือ ThailandPOD เป็นต้น คนเหล่านี้พร้อมที่จะสละเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอน และถึงแม้ผมจะรู้จักอาจารย์หลายท่านในมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้รู้จัก อย่ากระนั้นเลย เรามาหาอาจารย์ที่รักการสอนกันเถอะ

วิธีง่ายๆ ที่ผมใช้คือการจัดอบรม/สัมมนาเล็กๆ ช่วงปิดภาคการศึกษาร่วมกับศูนย์บริการเทคโนโลยีการเรียนการสอน (Instructional Technology Services Division) และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เท่าที่เราจะทำได้ เช่นอีเมล ประกาศหน้าเว็บ คือทำแบบใช้ทุนน้อยที่สุด โดยการอบรม/สัมมนาครั้งนี้เราระบุไว้ชัดเจนว่า (๑) เป็นการสัมมนาต่อเนื่องหรือ series (๒) เป็นการสัมมนาที่ไม่เน้นสอนการใช้เทคโนโลยี แต่จะพูดคุยถึงแนวคิดและการออกแบบหลักสูตร (๓) อยากให้อาจารย์คิดหัวข้อมาพูดคุยกัน

หลังจากอาจารย์ที่สนใจลงทะเบียนออนไลน์แล้ว ก่อนการสัมมนาผมส่งอีเมลเพื่อขอให้อาจารย์ผู้สนใจได้ดูตารางนี้ และเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายได้คิดว่าเครื่องมืออะไรที่จะมีประโยชน์ในวิชาของท่าน ในระหว่างสัมมนาผมก็ได้มีการซักถามถึงแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งมีอาจารย์บางท่านแลกเปลี่ยนความเห็น ทำให้ผู้ฟังทั้งหมดเห็นตัวอย่างการนำไปใช้จริง หรืออย่างน้อยก็เป็นแนวคิดที่จะนำไปลองใช้จริง การสัมมนาในครั้งนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างคือมีการบันทึกวิดีโอไว้ (โดยผมขอร้องให้ทำเอง) ด้วยเหตุที่ว่าหลังจากสัมมนา ผมอยากให้อาจารย์ที่พลาดการสัมมนาในครั้งนี้ แต่สนใจในครั้งต่อๆ ไปได้ติดตามหัวข้อเก่าก่อนจะมาร่วมกับเราได้ด้วย ในขณะนี้วิดีโอคลิปกำลังอยู่ในกระบวนการหลังการผลิตงาน (post production) และคงจะเสร็จก่อนสิ้นปีนะครับ

ระหว่างที่รอการผลิตนี้ ผมก็มาคิดต่อว่าเราจะสร้าง “กระแส” ได้อย่างไร ลองแอบดูวิธีที่ชาวบ้าน (มหาวิทยาลัยอื่นๆ) เขาทำกัน ก็คือการสร้างพื้นที่ออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางอย่างเป็นทางการ บางแห่งใช้เฟซบุ๊ก เช่นของมจธ. บางแห่งใช้เว็บไซต์ เช่น University of Washington, Bothell หรือ University of Wisconsin-Madison

หลังจากไตร่ตรองดู ผมคิดว่าการใช้เว็บไซต์ดูจะเหมาะกว่าการใช้เฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลที่ว่าเราต้องการพื้นที่ที่มีความ “นิ่ง” อยู่พอสมควร ซึ่งการใช้เฟซบุ๊กจะไม่สามารถทำให้เนื้อหานั้นนิ่งอยู่ได้ เพราะจะไหลลงไปเรื่อยๆ โดยธรรมชาติของสื่อนี้ สำหรับเว็บไซต์ เราสามารถกำหนดส่วนที่ “นิ่ง” และส่วนที่เคลื่อนไหวได้พร้อมๆ กัน นั่นคือการสร้างบล็อกซ้อนเข้าไปในเว็บ (ขั้นตอนการสร้างสามารถดูจากที่นี่ครับ) เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และในขณะเดียวกันก็สามารถบริหารจัดการบันทึกได้ด้วย ผมจึงสร้างเว็บไซต์สไตล์เดียวกับ UW ขึ้นมา ในชื่อ AuBlend

ทีแรกผมใช้ Google Sites ของ AU แต่ปรากฎว่าบริการของ Google สำหรับสถานศึกษา ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Google Analytics ได้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เราสามารถใช้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเว็บ ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากถ้าเราต้องการวัดความเคลื่อนไหวหรือสถิติของผู้เยี่ยมชม (วิธีการเชื่อม Google Analytics กับ Google Sites ดูได้ที่นี่ครับ)

ณ วันนี้ สิ่งที่ได้ทำไปแล้วคือ (๑) การจัดอบรม/สัมมนาขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจน (๒) การวางแผนการจัดทำสื่ออย่างต่อเนื่อง (วิดีโอจากการสัมมนา และสื่ออื่นๆ) (๓) การสร้างร่องรอยทางดิจิตอลขึ้น อย่างเป็นทางการ และ (๔) จัดทำ อินโฟกราฟฟิกเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจด้วย ซึ่งผมได้แนบไว้ในบันทึกนี้ด้วย

auBlend

ก็คิดได้เท่านี้ละครับ ภาคต่อไปมีแน่ แม้จะไม่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือน Hunger Game Catching Fire แต่ก็คงจะทำไปเรื่อยๆ ครับ

น้อมรับทุกความคิดเห็นเช่นเคยครับ

หมายเลขบันทึก: 554199เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ ตอนนี้พี่เริ่มทำไปหน่อยแล้ว โพสต์ใน forum ให้เด็กเข้ามาถาม ตอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท