"ตามใจ หรือ นำใจ"


           "ตามใจ" หมายถึง--

         ๑) คำว่า "ใจ" คือ แหล่งสะสมอารมณ์ให้เป็นเป็นฐานในการป้อนข้อมูลให้กับการกระทำ ที่เราสะสมมาตั้งแต่ปฏิสนธิและคลอดออกมาสู่โลก หลังจากนั้น มวลสมบัติ (ทรัพย์สะสม) ที่ถูกสะสมมาก็จะปั้นให้จิตใจผู้นั้นหลอมเป็นอัตลักษณ์ไป แล้วไปผนวกกับวิธีการอบรมเลี้ยงดูตามครอบครัว วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จนหลอมให้ผู้นั้นมั่นคงในตนเอง ที่สุดก็ยืนยันปั้นอัตตา (ปัจเจกบุคคล) อุปนิสัยอดีตคือ แรงผลักให้ใจดำเนินไป แรงกระตุ้น คือ กำลังการปกป้อง ต่อสู้ เพื่อใจตนเอง

          จากนั้น เจ้าของใจจึงดำเนินตามใจตนเอง และตอบสนองตนเองจากภายใน เช่น ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ กับบุคคล สิ่งใด อันใด ใจยังโน้มน้อมไปเกาะยึดเอาเรียกว่า "ตามใจ" อยู่ที่ว่า บุคคลนี้ มีสถานะในสังคมในด้านใด หากเป็นผู้นำ ย่อมมีลักษณะเอาแต่ใจ วางอำนาจบาตรใหญ่ แต่ถ้าอยู่ในฐานะผู้ตามก็คงยินยอม น้อมตามคนอื่นเรียกว่า ตามคนอื่น

        ๒) คำว่า "ใจ" คือ ผู้ที่อาศัยใจ หรือตัวการที่ครอบครองใจ มิให้แก่นใจแสดงออกอย่างสะดวก แต่จะถูกกิเลสหรือสิ่งที่เรียกว่า ความชั่วภายในหลอกหรือหลอมใจให้ดำเนินไปตามสัญชาตญาณหรือความไม่รู้เป็นหลัก ใจจึงขาดเสรีภาพในตัวเอง เวลาเราถูกกระตุ้นให้กระทำตามมัน เราจึงมิอาจแยะตัวใจกับตัวรู้เดิม (ใจแท้) ออกจากมันได้ จึงตกบันไดพลอยโจรไปด้วย จึงกลายเป็นการสมยอมทั้งสองคือ ตามใจและตามผู้กระตุ้น

        ดังนั้น ทั้งสองจึงมีบริบทไปในทางลบมากกว่าทางบวก อันแรกเป็นพื้นฐาน อันหลังเป็นใจปลอม ที่ถูกย้อมให้ใจกลายพันธุ์ ฉะนั้น เมื่อเรา "ตามใจ" (อนุโลม) มันหมายถึง เราตามพื้นฐานหรือตามสิ่งจัดการใจภายใน-- "คิดให้แตก แยกให้ออก"

     

         "นำใจ" หมายถึง--

         ๑) คำว่า "นำใจ" คือ การนำพาใจที่หมายถึง ตัวตนที่เป็นลักษณะของบุคคลหนึ่งให้เป็นไปตามอำนาจของปัญญา (รอบรู้เหตุ และผล) อาศัยความรู้ ความสามารถ การฝึกฝน การเข้าใจเชิงลึก การตระหนักแน่นในกิจการใดๆของตน ที่แสดงหรือกระทำอย่างรู้ตัว (สติ) จนอำนาจกิเลสหรือความชั่วร้ายไม่สามารถแทกรแซงได้อย่างถาวร นั่นคือ การนำใจตนเองอย่างองอาจ กล้าหาญ ซึ่งผู้มีลักษณะเช่นนี้ คือ วัยที่ผ่านชีวิตหรือผู้ฝึกฝนจิตตนเองดีแล้ว เรียกอาการนี้ว่า "ควบคุมใจ ให้ยอมตัวรู้"

         ๒) คำว่า "นำใจ" คือ การนำพาใจให้มุ่งไปข้างหน้า ไม่เฉไฉไปทิศทางใด โดยมีเป้าหมายหรืออุดมการณ์แน่วแน่ ไปทางระดับเข้มข้นจากข้อหนึ่งไปอีก นั่นคือ การนำใจไปอยู่เหนือสถานะชีวิต ภพ กรรม ในศาสนวิสัยเรียกว่า "โลกุตรวิสัย" มุมมองตรงนี้จะแตกต่างระหว่าง "โลกียวิสัย" การนำใจแบบนี้เรียกว่า "อยู่เหนือปรากฎการณ์แห่งภพและชาติ" โดยมีเป้าสูงสุดของศาสนานั้นๆ เช่นของพุทธคือ "นิพพาน" ใจยึดนิพพานเป็นเป้าหมาย คิสต์ อิสลาม ยึดเอาพระเจ้า เป็นต้น สรณะเช่นนี้เรียกว่า "นำใจไปให้ถึงสุดยอด"

         ทั้งสองนี้ เป็นการนำใจมิให้สร้างความหมายคำว่า "อัตตา" เป็นแดนกล่าวอ้างว่า เพื่อตัวกู ของกู แต่เป็นไปเพื่อความไม่มีตัวตนเป็นแดนอ้างที่จะเข้าข้างตนเอง เรียกว่า "นำใจ" ตน

         ดังนั้น ที่กล่าวมาทั้ง "ตามใจ" และ "นำใจ" สรุปได้สองลักษณะคือ "ผู้ตามและผู้นำ" เราจะเป็นผู้ตามแบบสมยอมหรือจะเป็นผู้นำแบบเหนือตน  ทั้งสองนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ ในตัวเอง (ดูจิตตน) ในครอบครัว พ่อแม่  ลูก (ดูแล เลี้ยงดู) และในสังคม ผู้นำประเทศและผู้ตามคือ ประชาชน (ทำตามหน้าที่) ทั้งโลกมีลักษณะใหญ่ๆ เช่นนี้ แม้แต่พืชและสัตวก็ไม่ต่างจากจุดนี้

คำสำคัญ (Tags): #ตามใจ#นำใจ#ตนเอง
หมายเลขบันทึก: 554000เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ ... ตามใจ & นำใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท