จี้ตรีรัตนะ เครื่องประดับสัญลักษณ์มงคลของชาวอินเดีย


จี้ตรีรัตนะ เครื่องประดับสัญลักษณ์มงคลของชาวอินเดีย

  • สัญลักษณ์ตรีรัตนะ เป็นสัญลักษณ์มงคลของชาวอินเดียโบราณรูปแบบของสัญลักษณ์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ ส่วนของวงกลม และส่วนของสามแฉก ในศาสนาพราหมณ์เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า นนทิบาท หมายถึง รอยเท้าของโคนนทิพาหนะของพระศิวะ ในศาสนาเชนเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ตรีรัตนะ หมายถึง หลักธรรม ๓ ประการ คือ  รู้ชอบ ปฏิบัติชอบ และศรัทธาชอบ ในศาสนาพุทธเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ตรีรัตนะ หมายถึง แก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในประเทศอินเดียได้พบสัญลักษณ์นนทิบาทหรือตรีรัตนะหลายรูปแบบซึ่งปรากฏอยู่บนสถาปัตยกรรม ประติมากรรม เหรียญ ภาชนะ และได้พบสัญลักษณ์ตรีรัตนะที่ทำเป็นเครื่องประดับโดยพบในรูปแบบของปิ่นปักผม แหวน และจี้ ซึ่งพบที่เมืองตักษิลา เมืองโภคาร์ดาน เมืองนครี และเมืองนาคารชุนโกณฑะ เป็นต้น จี้ตรีรัตนะที่พบทำจากวัตถุดิบหลากชนิด อาทิ หินกึ่งรัตนะ-ชาติ งาช้าง เปลือกหอย ปะการัง ดินเผา และทองแดง และพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวอินเดียโบราณใช้เครื่องประดับรูปตรีรัตนะ คือ ได้พบภาพสลักที่สถูปภราหุตเป็นรูปนางยักษิณีสวมสร้อยคอที่มีจี้เป็นรูปตรีรัตนะ จี้ตรีรัตนะที่พบในประเทศอินเดียคงจะเป็นเครื่องประดับและเป็นเครื่องรางของชาวอินเดีย และยังได้พบจี้ตรีรัตนะในภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย
  • ในภาคใต้ได้พบจี้ตรีรัตนะในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เขาสามแก้วเป็นเมืองท่าโบราณและเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๑๐ (Weaving cultural identities on trans-Asiatic networks: Upper Thai-Malay Peninsula – an early socio-political landscape 2006 : 280-282 / เขาสามแก้ว : ชุมชนโบราณ ๒๕๒๙ : ๓๙๕) ในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วได้พบเครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งรัตนะชาติเป็นจำนวนมากและมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กำไล ลูกปัด และจี้รูปแบบต่างๆ  เช่น ตรีรัตนะ สิงห์ และสัตว์มีเขา เป็นต้น และได้พบจี้ตรีรัตนะในแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง ภูเขาทองเป็นเมืองท่าและแหล่งผลิตเครื่องประดับ พบหลักฐานการอยู่อาศัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔ – ๑๔ (เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดระนอง ๒๕๕๒ : ๕๖) และยังพบจี้ตรีรัตนะในกลุ่มแหล่งโบราณคดีท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่าชนะคงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าสมัยในโบราณและน่าจะมีอายุสมัยสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว (โบราณคดีศรีวิชัย มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ๒๕๔๓ : ๒๑-๒๒, ๒๐๕)
  • จากข้อมูลที่ได้กล่าวไปนั้นแสดงให้เห็นว่า จี้ตรีรัตนะในภาคใต้พบในแหล่งโบราณคดีที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๙ หรือในสมัยอินโด-โรมัน อันเป็นช่วงเวลาที่อินเดียขยายเส้นทางทางการค้าและมีการติดต่อกับกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้านั้น โบราณวัตถุเด่นที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างดินแดนทั้งสอง คือ เครื่องประดับรูปแบบต่างๆ เช่น ลูกปัดแก้วแบบมีตา ลูกปัดหินกึ่งรัตนะชาติ ลูกปัดหินแบบฝังเส้นสี และเครื่องประดับที่เป็นจี้สัญลักษณ์มงคล คือ จี้ตรีรัตนะ ซึ่งตรีรัตนะเป็นสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของชาวอินเดียทั้งศาสนาพราหมณ์ พุทธ และเชน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น จี้ตรีรัตนะที่พบในภาคใต้จึงเป็นทั้งหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อกับชาวอินเดียและยังเป็นหลักฐานที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวอินเดียที่ปรากฏในภาคใต้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕  หรือเมื่อประมาณ ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว

เอกสารอ้างอิง

- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว : ชุมชนโบราณ.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ๑ (๒๕๒๙) : ๒๒๙-๒๓๖.          

- นงคราญ ศรีชาย และวรวิทย์ หัศภาค. โบราณคดีศรีวิชัย มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์เม็ดทราย, ๒๕๔๓.                                                            

- นฤมล กางเกตุ. “เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและใกล้เคียงในจังหวัดระนอง." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.                                              

- บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ. กรุงเทพ : บริษัท สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๕๐.     

- ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.          

- วิสันธนี โพธิสุนทร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร. กรุงเทพ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๒.

- Bellina-Pryce, B. & Silapanth, P. Weaving cultural identities on trans-Asiatic networks: Upper Thai-Malay Peninsula– an early socio-political landscape. Bulletin de l'Ecole francaise d'Extreme-Orient,       2006.                                                                                                              

- Margabandhu, C. Archaeology of the Satavahana Kshatrapa times.Delhi : Sundeep Prakashan, 1985.

- Marshall J. Taxila and illustrated account of archaeological excavations Vol.III. Delhi : Motilal     Banarsidass, 1975.                                                                                                      

-Sharma, S. Early Indian symbols numismatic evidence. Delhi : Mohan printing Corp., 1990.

 

หมายเลขบันทึก: 553571เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท