Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานายอาแหย่ เชอมือ แห่งดอยลีผาเชียงราย : โศกนาฎกรรมซ้ำซ้อนของชาวเขาดั้งเดิม ...งานเก่าเล่าอีกครั้ง


กรณีศึกษานายอาแหย่แห่งดอยลีผาเชียงราย

: ปัญหาไร้สัญชาติและปัญหาความไม่รู้กฎหมายของชาวเขา - คนละเรื่องกัน แต่มีผลสืบเนื่องกัน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกการทำงานภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒

เรื่องกลุ่มปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติและความเป็นพลเมืองของชาวไทยภูเขา

อันเป็นผลการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคเหนือ

เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152039701998834

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=371&d_id=370

-----------------------------------------------------

“นายอาแหย่ เชอมือ” เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า เขาเกิดที่ดอยลีผาเชียงรายเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔ เขาจึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ครอบครัวของอาแหย่จึงเป็นชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือที่เราเรียกว่า “ชาวเขาติดแผ่นดิน” นั่นเอง ซึ่งแนวนโยบายของกรมการปกครองก็ยอมรับในความเป็นไทยของบุคคลในสถานการณ์นี้มาตลอด

อาแหย่มีเมียชื่อ นางหมี่แช ซึ่งเกิดที่ดอยลีผาเหมือนกัน แต่เป็นใน พ.ศ.๒๕๐๖  แต่หมี่แชยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน แต่ทางการก็ยอมรับที่จะบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้แล้ว ในคราวที่กรมการปกครองส่งเจ้าหน้าที่มาทำแบบพิมพ์ประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ชี้ว่า หมี่แชได้ “สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน” แต่หมี่แชยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเลย ทำไม ? ตอบได้ว่า ก็เพราะพ่อแม่ของหมี่แชไม่ได้ไปแจ้งการเกิดของหมี่แชที่อำเภอตอนหมี่แชเกิด และเมื่อหมี่แชโตแล้ว หมี่แชก็ยังไม่ได้ไปแจ้งการเกิดย้อนหลังทั้งๆ ที่ไปทำได้ถ้ามีพยานหลักฐานแสดงว่า หมี่แชเกิดในประเทศไทยจากตาและยาย แต่หมี่แช ก็ยัง “ไม่ได้ไปร้องขอ” ที่อำเภอ และ หมี่แช “ก็ไม่รู้” ด้วยซ้ำว่า ตัวเองจะต้องไปร้องขอที่อำเภอ

สำหรับอาแหย่นั้น อาแหย่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรว่า มีสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน ทำไมล่ะ ? ก็เพราะพ่อของอาแหย่ได้ไปแจ้งการเกิดของอาแหย่ที่อำเภอเมื่อตอนอาแหย่เกิดไง เอ…ทำไมพ่อของอาแหย่จึงรู้ได้นะ ใครบอกพ่อของอาแหย่นะ ? หรือพ่อของอาแหย่รู้เอง ? แต่ทำไมพ่อของหมี่แชไม่รู้นะ

มาถึงตัวอาแหย่เอง เมื่ออาแหย่มีลูก อาแหย่ได้ไปแจ้งเกิดให้อาลอลูกชายคนโตซึ่งเกิดที่เชียงรายเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งเกิดให้แก่วรรณวิสัยและบุญส่ง วรรณวิสัยหรือหมี่จ๊ะเกิดที่เชียงรายเหมือนกันใน พ.ศ.๒๕๒๙ ตอนนี้ก็อายุ ๑๔ ปีแล้ว ส่วนบุญส่งนั้นเกิดใน พ.ศ.๒๕๓๒ ตอนนี้ ก็อายุ ๑๑ ปีแล้ว ตอนนั้น อาแหย่คิดอย่างไรนะ จึงไม่ได้แจ้งการเกิดของลูกสองคนหลังต่ออำเภอ ลูกๆ มีปัญหามากตอนไปโรงเรียน ใครๆ ก็หาว่า วรรณวิสัยกับบุญส่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นคนต่างด้าว

วรรณวิสัยกับบุญส่งจะไม่มีสัญชาติไทยได้ไง ก็เมื่อเกิดในประเทศไทยจากพ่อที่เป็นไทย ทำไมอาข่าจะมีสัญชาติไทยไม่ได้ ? ในหลวงรัชกาลที่ ๖ พระราชทานสัญชาติไทยแก่ลูกชาวเขาที่เกิดในประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ แล้ว เมื่อพ่อของพ่อของอาแหย่และหมี่แชมีสัญชาติไทย ก็เป็นเหตุให้พ่อของอาแหย่และหมี่แชมีสัญชาติไทย เป็นคนไทยที่มีเชื้อสายอาข่าไง และเมื่อมาถึงอาแหย่และหมี่แช อาแหย่และหมี่แชจึงเป็นคนไทยเช่นเดียวกับพ่อๆ

ความแตกต่างของเรื่องในประการแรก ปัญหาจึงอยู่ที่พ่อของหมี่แชไม่ได้แจ้งการเกิดของหมี่แชต่ออำเภอ ในขณะที่พ่อของอาแหย่ไปแจ้งเกิดให้อาแหย่ต่ออำเภอ และความแตกต่างของเรื่องในประการที่สอง จึงอยู่ที่อาแหย่ได้ไปร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว แต่หมี่แชยังมิได้ขอ

ทางแก้ปัญหาทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องยาก หากเราทราบว่า สาเหตุแห่งปัญหาอยู่ ณ ที่ใด ?

กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยยอมรับอยู่แล้วว่า ชาวเขาที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่มีสัญชาติไทย ย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิด หรือบุคคลที่เกิดในประเทศไทยซึ่งพ่อและแม่เป็นชาวเขาที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิด สัญชาติไทยโดยการเกิด แปลว่า สัญชาติที่บุคคลมีมาตั้งแต่เกิด ชาวเขาในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นมาตั้งแต่เกิด มิใช่ในวันที่ได้รับการลงรายการสถานะบุคคลว่าเป็นไทยในทะเบียนราษฎร หรือวันที่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก การได้สัญชาติไทยเกิดขึ้นโดยผลอัตโนม้ติของกฎหมาย

ในกรณีของหมี่แช มีข้อเท็จจริงปรากฏตามทะเบียนสำรวจชาวเขาของกรมประชาสงเคราะห์ว่า (๑) หมี่แชเกิดในประเทศไทย (๒) พ่อและแม่ของหมี่แชเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยว่า หมี่แชย่อมได้สัญชาติไทย “โดยหลักดินแดน” มาตั้งแต่เกิด อันทำให้นายอำเภอเมืองเชียงรายจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรให้แก่หมี่แชได้

ส่วนกรณีของวรรณวิสัยและบุญส่ง มีข้อเท็จจริงปรากฏตามทะเบียนสำรวจชาวเขาของกรมประชาสงเคราะห์ว่า วรรณวิสัยและบุญส่งเกิดจากพ่อและแม่ซึ่งมีสัญชาติไทย ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยว่า บุคคลทั้งสองย่อมได้สัญชาติไทย “โดยหลักสืบสายโลหิต” มาตั้งแต่เกิด และยังปรากฏต่อไปว่า วรรณวิสัยและบุญส่งเกิดในประเทศไทยจากพ่อและแม่ที่เกิดในประเทศไทย บุคคลทั้งสองย่อมได้สัญชาติไทย “โดยหลักดินแดน” มาตั้งแต่เกิดอีกด้วย จะเห็นว่า นายอำเภอเมืองเชียงรายจึงไม่ต้องลังเลที่จะลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลทั้งสองเช่นกัน

ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัวของอาแหย่ที่ผิดพลาดมาในกาลเวลาเพราะความไม่รู้กฎหมาย จึงแก้ไขได้ด้วยการสอดใส่ความรู้กฎหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ชาวบ้านแต่ละคน ชุมชน องค์กรพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชนที่ดูแลชุมชน องค์กรปกครองทั้งท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลาง อีกตลอดทั้งนักการเมืองในทั้งสามระดับการปกครอง

กลยุทธในการแก้ไขปัญหาด้วยความรู้นี้ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามอย่างขยันขันแข็งจากกรมการปกครอง จะเห็นว่า ภายหลังการทบทวนปัญหาและวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของชาวเขาแล้ว พบว่า ชาวเขาส่วนใหญ่เป็นชาวเขาติดแผ่นดินที่กฎหมายกำหนดยอมรับความเป็นไทยโดยผลของกฎหมายอยู่แล้ว แต่ปัญหาความไร้สัญชาติที่เกิดแก่ชาวเขามาตั้งแต่อดีตนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่รู้กฎหมายและการไม่ใช้กฎหมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างหาก การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของชาวเขาในสถานการณ์นี้ทำได้โดยการปฏิบัติการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีกรณีเพียงส่วนเดียวที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี การแก้ได้จึงทำไม่ได้โดยกรมการปกครองแต่ลำพัง

จะเห็นว่า ในส่วนงานแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติของชาวเขาติดแผ่นดินไทย ดังเช่นกรณีของครอบครัวของอาแหย่นั้น กรมการปกครองซึ่งตระหนักในภาระหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้จัดทำ “ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.๒๕๔๓” อันนำไปสู่การเสริมประสิทธิภาพในการพิสูจน์สถานะบุคคลและออกเอกสารพิสูจน์ตนให้แก่ชาวเขาติดแผ่นดิน และยังได้นำเอางบประมาณที่เหลืออยู่มาใช้ในการป้อนความรู้ส่งอำเภอที่เป็นพื้นที่สูงอันเป็นถิ่นที่อาศัยของชาวเขา กล่าวคือ อบรมปลัดอำเภอในราวต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ และอบรมนายอำเภอในราวกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ ปัญหาความเป็นไทยของชาวเขาติดแผ่นดินกำลังได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน

มีกระบวนการคอรับชั่นตามมาเป็นอุปสรรคตามสมควร ซึ่งความโปร่งใสและความจริงใจในการทำงานเท่านั้นที่เป็นยาขนานเอกสำหรับอาการโรคหลังนี้ และความร่วมมือที่ใกล้ชิดและมีหลักการระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนเท่านั้นที่ความโปร่งใสและความจริงใจในการทำงานจะเกิดขึ้นได้

ภาคการเมืองจะช่วยอะไรได้บ้างไหมสำหรับงานที่เกี่ยวกับชาวเขาติดแผ่นดิน ? แน่นอน การสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีทั้งในด้านนโยบายที่ชัดเจนและงบประมาณจะทำให้การทำงานที่ไปได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดูเหมือนว่า ภาคการเมืองจะมีความเข้าใจในภาระหน้าที่ในส่วนนี้ จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อให้ความเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน ๑๙,๐๓๙,๕๕๘ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อพิจารณาและกำหนดสถานภาพบุคคลบนพื้นที่สูงในพื้นที่ ๒๐ จังหวัดเป้าหมาย โดยเฉพาะสถานภาพของชาวเชาแก่กรมการปกครอง

ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขนั้น ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอของกรมการปกครองที่ชัดเจนและเป็นไปตามรายงานการศึกษาของรายงานการศึกษาเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลของบุคคลบนพื้นที่สูง ที่จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒

นโยบายที่คณะรัฐมนตรีจะต้องให้นั้น ควรจะมีลักษณะที่ชอบด้วยกฎหมาย ชัดเจน ครบถ้วน ปฏิบัติได้จริง และสังคมยอมรับได้ ความค้างคาของปัญหาที่มีมาในหลายรัฐบาลเกิดจากสภาวะการณ์ที่ขาดการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองที่กฎหมายกำหนด อาทิ การอนุญาตให้ชาวเขาที่หนีภัยความตายจากการสู้รบเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย พวกเขาไม่มีโอกาสร้องขอวีซาก่อนเข้าเมืองไทยเพราะความตายที่วิ่งตามติดพวกเขา และในบางกรณี ก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของเขายังไม่ยอมรับรู้ถึงความมีอยู่ของพวกเขา เขาไม่มีเอกสารใดๆ พิสูจน์ตนเลย ไม่มีบัตรประจำตัวด้วยซ้ำ แล้วจะไปขอวีซาได้อย่างไร พวกเขาเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศเพื่อนบ้าน คงจะใจร้ายมากที่จะสั่งให้ส่งพวกเขากลับไปในพื้นที่แห่งการสู้รบที่เขาหนีจากมา และคงจะใจดำมากที่จะถือว่า เขาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายอันตกเป็นเหยื่อของการประพฤติมิชอบ ประเทศไทยไม่จำต้องให้สัญชาติไทยหรอก ประเทศไทยไม่จำต้องให้ที่อยู่ถาวรก็ได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนพื้นฐานอย่างน้อย ๓ ฉบับ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องให้ที่ปลอดภัยแก่ผู้หนีภัยการสู้รบ การอนุญาตให้เข้าเมืองแลัอาศัยอยู่ชั่วคราวก็เป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศเขาก็ทำกัน และที่สำคัญก็เป็นสิ่งที่กฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ให้อำนาจแก่คณะรัฐญมนตรีอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมิใช่หรือ

หากรัฐบาลจะเข้าใจปัญหาคนจนในป่าเขาอย่างชาวเขา ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความสามารถที่จะใช้สิทธิในฐานะของราษฎรไทยของชาวเขาก็คงจะคลี่คลายไป

อย่างนี้แล้ว อาแหย่คงสบายใจขึ้นมาก เพราะรัฐบาลก็คงจะเข้าช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่อาแหย่มีต่อวรรณวิสัยและบุญส่งเนื่องจากไม่ได้ไปแจ้งการเกิดของลูกทั้งสอง เว้นแต่ปัญหาเดียวที่คงแก้ไขไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อวันหนึ่งใน พ.ศ.๒๕๔๑ อาแหย่ได้เมายาบ้า จนกระทั่งเอามีดฟันหมี่แชจนตาย และด้วยความสำนึกในความผิด อาแหย่จึงผูกคอตายตาม ทอดทิ้งบุตรทั้งสามไว้แต่เพียงลำพัง ลูกๆ คงอภัยให้พ่อด้วยนะ และขอให้รัฐบาลอย่าทอดทิ้งชาวเขา หลังจากแก้ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายแล้ว ก็ยังมีปัญหายาเสพติดให้ต้องแก้ไขอีก การหมักหมมปัญหาไว้นานๆ ปัญหาก็ย่อมมีอยู่มากเป็นธรรมดา ขอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีกำลังใจและอย่าท้อถอย

หมายเลขบันทึก: 553375เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท