คิด พูด กระทำ และความสัมพันธ์


คิด พูด กระทำ และความสัมพันธ์

 

ในบรรยากาศบ้านเมืองเช่นนี้ ทุกอย่างกำลังอยู่ใน mode "เคลื่อนที่เร็ว" ซึ่งอะไรก็ตามที่มันเร็วๆนั้น โดยกระบวนการจะเกิดการ "สละทิ้ง" ความละเอียด การมองให้รอบ ไปหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาจจะมีผลกระทบต่อเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อชีวิตได้ด้วย ฉะนั้นบางที "เร็วไป" ก็หมายความว่า "ไม่ดี" กันได้มากๆ

Self Development (อัตตวิวัฒน์)

เห็น - คิด - พูด - กระทำ เป็นวงจรที่พัฒนาตัวตนของเราตลอดเวลา เชื่อมโยงประสบการณ์รอบตัวเข้ากับตัวตนเดิมและเปลี่ยนเป็นการแสดงออก ทำให้ตัวเราเปลี่ยนแปลงและเข้าไปสู่วงจรรอบใหม่ วนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

ในที่นี้ "เห็น" หมายถึงรับรู้จากสฬายตนะ เกิดเป็นผัสสะ มีอารมณ์ความรู้สึก ให้ความหมาย (จากของเก่าปนๆกับของใหม่) ไม่ได้หมายถึงแค่มองเห็นอย่างเดียว มนุษย์มีดีกรีการรับรู้สิ่งรอบข้างไม่เท่ากัน เช่น เราเดินเข้ามาในห้องๆหนึ่ง เรามอง เรา "สามารถ" เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในลานสายตาก็จริง แต่เราจะ "เลือก" (โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง) ที่จะรับรู้บางอย่างมากกว่าบางอย่าง บางอย่างก็แทบจะไม่รับรู้เลยทั้งๆที่อยู่ในลานสายตาเช่นกันก็ได้

พอเรา "เลือก" เสร็จ ก็จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปครุ่นคิดต่อ คิดมาก คิดน้อยก็แล้วแต่ แต่การนำมาคิดเป็นขั้นตอนที่สำคัญว่าเราเลือกจะเอาอะไรบ้าง มาประดับประดาให้กับชีวิตของเรา เช่น เราขับรถบนถนน มีคนขับรถมาปาดหน้า เราจะเลือกได้ว่าจะนำมาคิดต่อเป็นเรื่องเป็นราว หรือจะคิดนิดหน่อย หรือแม้แต่ไม่คิดเลย ผลแห่งการคิดก็จะกลายเป็น "องค์ประกอบ" ของ self เราต่อไป

การพูด และการกระทำ เป็นสิ่งต่อเนื่อง ก้ำกึ่งกัน คือการพูดก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก และการพูดดูเหมือนจะเป็น mode การสื่อสารที่เราคุ้นชิน ผลกระทบของการพูดนั้นสามารถมีได้มากมายและต่อเนื่องยาวนาน การพูด การสื่อสารประเภทอื่นๆ ทำให้เราได้รับข้อมูลว่าคนอื่นคิดอะไร และคนอื่นทราบว่าเราคิดอะไร รู้สึกอะไร เกิดปฏิสัมพันธ์กัน

การกระทำเป็นกลไกและขั้นตอนสำคัญในการกำหนดบ่งชี้ว่า "เราเป็นใคร เราเกิดมาเพื่ออะไร" (มีนัยยะอื่นๆด้วย) เรื่องราวหลายประการที่เราพูดๆนั้น ถ้าหากเราไม่ได้ลงมือทำก็อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะเราไม่ได้ "เป็น" ในสิ่งที่เราพูด แต่เราจะ "เป็นจากสิ่งที่เรากระทำ"

มีผลลัพธ์เกิดขึ้นมากมายจากวงจร เห็น-คิด-พูด-ทำ แต่ที่สำคัญมากประการหนึ่งคือการเกิด "ความสัมพันธ์ (bonding)" ระหว่างคน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสื่อสารก็ดี โอกาสในการสื่อสารก็ดี และผลลัพธ์จากการสื่อสารก็ดี จะมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยประกอบเป็นตัวตนของเรา จะเห็นได้ว่า "สรรพนาม" ที่เราเรียกๆกัน ก็มีนัยยะของความสัมพันธ์ ของหน้าที่ระหว่างคนแฝงอยู่เสมอ จะเรียก พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง นาย เธอ เอ็ง ข้า กู มึง คุณหมอ พ่อหมอ นายช่าง ฯลฯ เพราะ social roles เหล่านี้กำหนดว่าเราเป็นใคร และเรามีความหมายต่อคนข้างหน้าอย่างไร รวมทั้ง "หน้าที่ และ commitment" ของเราต่อบริบท ณ เวลานั้นด้วย

ในยุคนี้ การสื่อสาร การพูด มีเครื่องมือ "ขยาย" ศักยภาพด้านนี้ออกไปเยอะมาก กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังมากกว่าเดิม มีอาณาบริเวณขอบเขตการปฏิบัติงานที่กว้างใหญ่ไพศาล การพูด ณ ที่หนึ่งๆสามารถไปถึงอีกมุมโลกได้แทบจะเป็น real-time ซึ่งผลที่เห็นชัดก็คือเทคโนโลยี การเดินทางของข่าวสาร จะมีผลกระทบโดยตรงกับวงจร เห็น-คิด-พูด และการกระทำ

มนุษย์จึงพึงมี "ภูมิคุ้มกัน" ในการคัดกรองและครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) กับการถูกกระหน่ำด้วยเทคโนโลยีแห่งการสื่อสารในยุคนี้ เพื่อที่ผลกระทบอันสำคัญนี้จะได้ไม่มาเปลี่ยนชีวิตของเราไปจากที่ควรจะเป็นมากเกินไป

ถ้าเราเผลอไผล เราอาจจะสรุปว่าคำพูดของใครก็ตาม "คือ" คนๆนั้น ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย มันจะมีเรื่องของ "เจตนา" ของคนพูดมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น "พูดเพื่อให้เข้าใจว่าเขาเป็นคนอย่างนั้น" เพื่อประโยชน์ เพื่อปกป้องตนเอง เพื่อ ฯลฯ ก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งพูดแบบไม่คิดอะไรเลย แต่คนฟังก็อาจจะนำไปตีความเอาเองได้มากมาย การพูดเพื่อให้เกิด "ความสัมพันธ์" ระหว่างคนพูดกับคนฟังนั้น เป็นเครื่องมือที่ใช้บ่อย และบางคนก็ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมากทีเดียว

คนเปลี่ยนได้ ความคิดเปลี่ยนได้

ประเด็นสำคัญอีกประการก็คือ มนุษย์นั้นเป็น learning beings มีการเรียนรู้ตลอดเวลา และ concept ของ learning คือ change นั่นคือเมื่อเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเมื่อใด เราก็จะเกิดการ "เปลี่ยนแปลง" ขึ้น ไปกระทบต่อวงจรการพัฒนา self ของเราอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังนั้นเมื่อคนๆหนึ่ง พูดอะไร ทำอะไร ณ​ เวลาหนึ่งนั้น เมื่อใดก็ตามที่คนๆนั้นมีการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น ก็จะพูดอีกอย่าง ทำอีกอย่างหนึ่งไปด้วย

ดังนั้นเอง การ "ตัดสิน" คนๆหนึ่ง ที่จริงเป็นการ "ตัดสินการกระทำ ณ เวลาหนึ่ง" ของคนๆนั้นเท่านั้น ถ้าเราเชื่อว่า "คนเราเปลี่ยนได้" เราต้องมีความตระหนักว่า การคิด การพูด และการกระทำ ของคนมิใช่สิ่งถาวรเสมอไป และคุณค่าต่างๆของคน ที่เรานำไปผูกพันกับการคิด การพูด การกระทำของคน ก็มิใช่สิ่งถาวรไปด้วย

ปัจจุบันที่น่ากลัวก็คือ เรามักจะใช้วิธี label ตีตราคน หรือคุณค่าของคน การกระทำของคน เป็นอะไรที่ fixed และตายตัว (เพราะมันง่ายดี ผนวกกับความกลัวว่าเราอาจจะตัดสินผิด เราเลยจำเป็นต้องอุปโลกน์ว่ามันเป็นความจริงที่ถาวรพอสมควร) และเมื่อใครถูก label ว่าคิดผิด พูดผิด หรือกระทำผิด สิ่งเหล่านี้ได้ "กลายเป็นคนๆนั้น" เป็นเรื่องเดียวกัน ที่เราไม่ชอบ ที่เราไม่เห็นด้วย หรือที่เราเกลียด ได้ shift จากการคิด การพูด และการกระทำ ก็เปลี่ยนไปเป็นเราไม่ชอบคนๆนั้น ไม่เห็นด้วย หรือเกลียด "คนๆนั้น" แทน อาจจะถึงดีกรีที่ว่า ต่อๆไป ไม่ว่าคนๆนั้นจะพูด จะคิด หรือจะทำอะไร เราจะพาลไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย และเกลียดไปหมดทุกอย่างไป

 

ถ้า หากเรื่องราวที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นความจริง หรือพอจะมีเหตุผล คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วเราควรจะจัดการอย่างไร กับเรื่องความคิด การพูด การกระทำ และการให้ความหมายเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ?
หมายเลขบันทึก: 553319เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

       สำหรับผมเองนะครับ  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  เมื่อก่อนเวลาไม่ชอบใครก็มักไม่อยากเจอหน้า  ไม่อยากติดต่อสัมพันธ์ด้วย  คือ  ตัดสินฟันธง ไปเลย  ว่าคนๆ นี้   เป็นคนไม่ดี  สำหรับเรา  ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว

 

        ตอนหลัง เริ่มมาเรียนรู้ว่าทุกคนก็มีทั้งข้อดีข้อจำกัดอยู่ในตัวเอง  รวมทั้งตัวผมเองด้วย  ก็เลยมา "คิดเผื่อ"   ไว้บ้างครับ ในการตัดสินใครบางคนที่เราไม่ชอบ

  

       นั่นคือ  เมื่อไม่ชอบใคร   ก็ไม่ชอบซักร้อยละ  ๘๐   เหลือพื้นที่ใจไว้ ร้อยละ ๒๐  มาเผื่อใจไว้พูดคุยกับเขาบ้าง   เขายังคงมีส่วนดีอยู่บ้าง

 

        และก็อีกอย่างนึกถึงเพลงของคุณอัสนี ครับที่ว่า

        "เวลาเปลี่ยน   ใจคนเปลี่ยน"

 

       คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ครับ  ที่ผ่านมาเขามีการกระทำที่เราไม่ชอบ ณ เวลานั้น     แต่เวลาเปลี่ยน   ใจคนเปลี่ยน

 

       ปัจจุบัน   เขาน่าจะเป็นคนใหม่ได้บ้างแล้ว

 

       เหลือใจไว้ให้เขาสักร้อยละ ๒๐  ก็น่าจะดีกว่าไม่เหลือใจไว้ให้เขาเลย

อยากให้คิด อ่านทำความเข้าใจกับหลักบริหารที่ถูกต้อง เสียงข้างมากที่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ถ้าผมเป็นฝ่ายค้านจะยอมร่วมโกงกับรัฐบาลแล้วประชาชนจะเป็นอย่างไร

อาจารย์วิชชาครับ เคล็ดวิชา "เผื่อใจ" นี่สุดยอดครับ สัก 20% เป็นต้นทุนไว้ตั้งหลัก

คุณ Pap2498

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ แต่รู้สึกว่าข้อมูลจะขาดตอนไปบ้างรึเปล่าไม่แน่ใจ เพราะต้องเติมคำในช่องว่างอยู่พอประมาณ ไม่ทราบว่าพอจะขยายความอีกสักนิดจะสมบูรณ์มากขึ้นไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท