ถอดบทเรียนเส้นทางการพัฒนาจิต


คำว่าความสุข อาจมีผู้ให้คำนิยามไว้มากมาย หรือมีผู้ให้ค่าความหมายแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี ในที่นี้ อยากให้มองความสุขที่เป็นเรื่องของภายในโดยแท้  ไม่ใช่สิ่งอำนวยความสะดวก  ไม่ใช่การได้รับความเพลิดเพลินจำเริญใจจากสิ่งภายนอก และไม่ใช่การได้รับทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศสรรเสริญซึ่งทำให้เราหลงใหล เคลิบเคลิ้ม ยึดติดกับสิ่งนั้นชั่วขณะ เมื่อใดที่เราไม่ได้รับสิ่งนั้น หรือเมื่อใดที่เรารู้สึกว่ายังไม่พอ ความสุขนั้นก็มลายหายไป  ความสุขแบบอิงอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเช่นนี้เป็นความสุขแบบหยาบ ๆ  ต่างจากความสุขภายในที่มีความสงบนิ่ง สว่างใสและร่มเย็น ซึ่งแม้มีสิ่งภายนอกวุ่นวายสับสน ปัญหารุมเร้าบีบคั้นเพียงใดมากระทบ ก็เพียงแค่รู้แต่ไม่กระเทือนไปกับสิ่งที่มากระทบนั้น เปรียบเหมือนมีหลักศิลาประดับอยู่ภายในให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับแรงปะทะที่โหมเข้ามา

 

ความสุขเป็นเรื่องภายใน จะวัดได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่การรู้ตัว เมื่อใดที่รู้ตัว จิตก็จะเจริญงอกงามทีละนิด หมั่นรู้ตัวอยู่เนือง ๆ จิตก็จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  การพัฒนาจิตให้มีความสุขแบบยั่งยืนจึงเริ่มต้นที่การรู้ตัวของเราเอง

 

คำว่ารู้ตัวมี ๒ นัยยะ

  • นัยยะแรกคือรู้ว่าตนเองมีบุคลิกภาพแบบใด (รู้ลักษณ์) ซึ่งสะท้อนออกมาจากวิธีคิด จากความรู้สึก และรวมถึงการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ กันไป  โดยในวงการพัฒนาจิตวิญญาณ (Spiritual Development) มีการใช้เครื่องมือ (Spiritual Tools) หลายชนิด เช่น Celtic Wheel, DISC, และ Enneagram       (นพลักษณ์)     โดยในที่นี้ จะมุ่งเน้นการศึกษาในแนวนพลักษณ์เป็นหลัก
  • นัยยะที่สอง รู้ตัวในทางพุทธศาสนาหมายถึงมีสติระลึกรู้สภาวธรรม ตรงตามจริงเป็นทางแห่งปัญญาตามคำกล่าวของพระอาจารย์ปราโมทย์  ปราโมชโชที่ว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง”

การรู้ตัวทั้งสองนัยยะนี้มีความเกื้อกูลกัน   เมื่อใดที่เรารู้ตัวว่าเรามีบุคลิกภาพแบบใด เราจะมองเห็นโลกด้านในของเราชัดเจนขึ้นว่าเราติดกรอบ ติดกับดักอะไรอยู่ที่ทำให้เราไม่เป็นอิสระ และไม่สามารถหลุดพ้นจากเส้นทางนี้ และยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด การรู้ลักษณ์ที่เป็นทั้งด้านลบและด้านบวก จะทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งใดที่เราขาดพร่องไป เราจะได้พัฒนาข้ออ่อนด้อยและเติมเต็มสิ่งนั้น  และสิ่งใดที่เรามีดีอยู่แล้ว จะได้รักษาไว้ให้คงเส้นคงวา ไม่เสื่อมถอยไป ซึ่งย่อมต้องมาจากการ “รู้ตัว” ที่มีปัญญามองเห็นการทำงานของลักษณ์เราที่ยึดติดอยู่กับกิเลส จึงขอกลับมาที่คำถามสำคัญว่าเราจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างไรคำตอบที่เป็นแก่นแท้ก็คือรู้ตัวเมื่อไร เปลี่ยนแปลงได้เมื่อนั้น

 

ตราบใดที่เรายังไม่ได้ “รู้ตัว” ในแต่ละขณะ จากการมองเห็นความจริงผ่านการปฏิบัติ เราจะไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงทุกข์ของลักษณ์เรา และย่อมไม่เข้าใจสาเหตุของทุกข์ที่เราเป็นผู้ทำเหตุ เมื่อไม่เห็นทุกข์ที่แท้จริง ก็รู้ไม่ถูกหรือยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ก็ละไม่ได้   

 

การรู้ไม่จำเป็นต้องรู้ตลอดเวลา แค่รู้ด้วยสติแต่ละขณะ รู้บ่อย ๆ รู้เนือง ๆ อย่าปล่อยให้หลงโลกนานเกินไปก็พอ

 

การอบรม Self Transformation by Enneagram ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่บ้านริมน้ำป่าสัก ของอาจารย์ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ในหลายเรื่องด้วยกันโดยขอสรุปจากการถอดบทเรียนตัวเองผ่านการตั้งคำถามดังนี้

๑.       ทำไมจึงให้ชื่อการอบรมครั้งนี้ว่า Self Transformation by Enneagram

ชื่อหลักสูตรนี้ มิใช่ว่าจะจัดได้กับทุกกลุ่ม แต่ต้องเป็นกลุ่มที่มีลักษณะพิเศษบางประการ กล่าวคือด้วยลักษณะกลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สมัครใจมารวมกันเป็นกลุ่มคุณหมอและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในแวดวงสาธารณสุข ซึ่งผู้เขียนได้เคยไปเป็นวิทยากร/กระบวนกรรู้ตัวเพื่อการพัฒนาจิตด้วยศาสตร์รพลักษณ์มาก่อนแล้ว ๒ ครั้ง และทุกท่านเป็นผู้ที่ผ่านการปฏิบัติธรรม การเจริญสติ และผ่านหลักสูตรตามแนวทางการพัฒนาจิตมาแล้วหลายครั้ง จึงมีความพร้อมที่จะเปิดประตูเข้าสู่โลกภายในของตัวเองด้วยความกล้าหาญและยอมรับข้ออ่อนด้อยของตนเอง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากของผู้มีปัญญาทางโลกที่ยอมลดตัวตนของตัวเองให้ต่ำลงอันนำไปสู่การยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นเพื่อปัญญาทางธรรม

คำว่า Self Transformation มีนัยยะถึงการแปลงรูปร่างตัวเองจากรูปหนึ่งไปสู่อีกรูปหนึ่งในเชิงการพัฒนา การแปลงรูปที่ว่านี้มุ่งเน้นภายในเป็นสำคัญ นั่นคือการสังเกตการทำงานของลักษณ์ (กิเลส) ของตนเองบ่อย ๆ เมื่อ “รู้ลักษณ์” และ “รู้ตัว” เป็น   จะนำไปสู่สภาวะ “ละ” โดยอัตโนมัติด้วยสติ

๒.     ปัจจัยสำคัญอะไรที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในวงเสวนา

การศึกษาตนเองจากภายในที่จะต้องมากระทำร่วมกันในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องปฏิบัติอันเป็นปัจจัยภายใน และมีสิ่งที่อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ขัดเกลาตนเองอันเป็นปัจจัยภายนอกดังนี้

๒.๑ ปัจจัยภายในคือตนเอง

  • การเก็บวาจาหรือพูดให้น้อยมากที่สุด พูดเท่าที่จำเป็น
  • สังเกตกาย วาจา ใจของตนเองในแต่ละขณะ และฟังเสียงตัวเองให้ได้ยิน ฟังเสียงผู้อื่นให้เข้าถึงเสียงภายใน (inner voice)
  • มีเจตนางดเว้นพฤติกรรมบางประการที่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง
  • ใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญอย่างแยบคายในสิ่งที่รับรู้ โดยปราศจากอคติ

๒.๒ ปัจจัยภายนอกคือกัลยาณมิตร

  • ความมีเมตตาต่อเพื่อนร่วมวงและเอื้ออาทรเกื้อกูลกัน
  • การเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันด้วยความกรุณาที่จะช่วยเหลือ
  • การชื่นชมยินดีกับความเพียรในเส้นทางการพัฒนาของเพื่อน
  • การมีอุเบกขาต่อสิ่งที่เข้ามากระทบต่อความรู้สึกยินดียินร้ายของตนเอง

๓.     คำเรียกที่ใช้อธิบายความหมายในแวดวงนพลักษณ์เป็น  “สมมติบัญญัติ” อย่างไร

การที่จะกล่าวว่าคำใดเป็นสมมติบัญญัติ สำคัญที่สุดคือจะต้องผ่านการเข้าใจจากการเห็นความจริงของความหมายโดยแท้ของคำนั้นผ่านการปฏิบัติเสียก่อน  คำแต่ละคำที่ใช้เรียกอธิบายความหมายประจำตัวของคนแต่ละลักษณ์อาจทำให้บางคนในแต่ละลักษณ์นั้นรู้สึกว่ายังไม่เข้าใจความหมายหรือรู้สึกไม่เห็นด้วยกับความหมายที่สื่อออกมาจากคำนั้น ๆ โดยอ้างอิงจากตำราหรือผู้รู้มาประกอบความเข้าใจของตัวเองมากมาย  ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการศึกษานพลักษณ์  สำหรับผู้ฝึกปฏิบัติตามแนวทางพัฒนาจิตด้วยศาสตร์นพลักษณ์ เมื่อได้เห็นคำเรียกอธิบายความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเอง ขอให้วางคำดังกล่าวนั้นไว้ก่อน ถ้ายังมีความรู้สึกโต้แย้ง ให้สังเกตความคิดและความรู้สึกนั้นที่ยังทำงานอยู่ “เราติดกับกับคำนั้นไปทำไม”  จริง ๆ แล้วเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ สังเกตใจที่ไม่ยอมรับมันจนปล่อยวาง  แล้วหันกลับมามองตัวเองให้มาก ๆ ไม่ต้องเพ่งหาคำตอบกับสิ่งที่ไม่จำเป็นแก่การพัฒนาตนเอง  หมั่นศึกษาสังเกตภายในตนเองเป็นหลักสำคัญ วันหนึ่งเมื่อได้ตกผลึกด้วยการเห็นความจริงของการทำงานในโลกทัศน์ของเราเองแล้ว จะเข้าใจแจ่มแจ้งในคำนั้น ๆ เองว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่  และเราจะอธิบายขยายความหมายใหม่ด้วยตัวเองจากความเข้าใจหยั่งรู้ที่มาจากการปฏิบัติ มิใช่คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เอาเอง

แต่ละศาสตร์มีการพัฒนาสืบ ทอดกันมาอย่างยาวนาน และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง การวิเคราะห์และสังเคราะห์ศาสตร์บางศาสตร์อาจทำไม่ได้  หากว่าศาสตร์นั้น เน้นการปฏิบัติจากปัญญาที่มองเห็นความจริงยิ่งกว่าผ่านกระบวนการคิดและการใช้ความรู้สึก เพราะนั่นอาจหมายความถึงว่าเป็นการมองศาสตร์ด้วยอคติ ๔ ได้แก่

๑. ฉันทาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะรัก เพราะชอบเป็นพิเศษ

๒. โทสาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะชัง เพราะความเกลียดชัง ความไม่ชอบ

๓. ภยาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ

๔. โมหาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะไม่รู้

๔.      การแลกเปลี่ยนนพลักษณ์เพื่อการพัฒนาตนเองทำได้อย่างไร

ในหมู่กัลยาณมิตรผู้ศึกษานพลักษณ์ที่มีความใกล้ชิดสนิทกันพอสมควร  มีแนวทางการแลกเปลี่ยนนพลักษณ์กันโดยการถ่ายทอดเรื่องเล่าโลกทัศน์ หรือการทำงานในโลกภายในของตนเองตามสิ่งที่เห็นจริง และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกล้าหาญ ทั้งนี้ กัลยาณมิตรที่แวดล้อมก็ช่วยกันเป็นกระจกสะท้อนให้กันตามหลักธรรมพรหมวิหารสี่

 

การสังเกตว่าท่านในฐานะผู้ปฏิบัติพัฒนาไปได้แค่ไหนอย่างไร ขอให้พิจารณาใคร่ครวญสองประการ คือ

๑. ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นการทั่วไป (ไม่เลือกปฏิบัติ) ใจสูง ปัญญาสูง ขณะที่ตัวตนลดลง

๒. การรู้จักหน้าที่ (ธรรม) ขณะที่ปฏิบัติกิจนั้น ๆ อยู่ ด้วยอาศัยหลักสัปปุริสธรรม ๗ (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี) มาประกอบกับสติ หลักสัปปุริสธรรม ๗ มีว่า

    (๑) ธัมมัญญุตา  ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล

    (๒) อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก 

    (๓) อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม

    (๔) มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี

    (๕) กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน

   (๖) ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ

   (๗) ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม

                 ในโอกาสนี้ขอฝากไว้สี่ประเด็น และหากมีเวลาจะมาเพิ่มเติมต่อไป

                 

                            ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียน

หมายเลขบันทึก: 553283เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณบันทึกอันทรงคุณค่านี้นะคะ

ดูทุกท่านเปี่ยมสุขจริงๆ นะคะ 

ฝันดีค่ะ

ทุกท่านหน้าตาสดใสจังครับ...ขอบคุณมากครับ...ได้ความรู้ใหม่หลายข้อเลยครับ

อายุรวมกัน เท่ากับ สองหมื่นปี ใช่ไหมครับ ;)...

ค่อย ๆ อ่าน  ค่อย ๆ ทำความเข้าใจค่ะ

ระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองเสมอนะคะ

อ้อจะบอกว่า  เห็นภาพพี่นุชที่คู่สร้างคู่สมด้วยนะคะ  ที่บ้านเวียงเหล็กของคุณดำรง  พุฒตาล  แนะนำผัดไทยแก่เหล่านางงาม

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • โลกวุ่นวายขึ้นทุกวัน เพราะความไม่สงบทางใจนะคะ อยากให้คนที่กำลังวุ่นวายใจอยู่ตอนนี้ได้อ่านบทความนี้จังเลยค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ สาธุค่ะ

* มารับธรรมคติดีๆของความสุขจากภายในที่สมบูรณ์ เผื่อแผ่จากตนสู่สังคมอย่างยั่งยืน.

* ภาพงามๆด้วยความสุขทุกภาพค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท