วิชาที่ใหม่สำหรับครูคนนี้และศิษย์ (IS2 ตอนที่ 1)


          วันนี้เปิดภาคเรียนวันแรกในคาบที่ ๗- ๘ ครูนกได้เข้าห้อง ๒๓๐๔ เพื่อพบลูกศิษย์รุ่นแรกของการสอนรายวิชาการสื่อสารและการนำเสนอ (Communication and Presenatation : IS2) เป็นรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้นใช้รหัสวิชา I 20202 เป็นวิชาที่เรียนต่อเนื่องจากรายวิชาการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ (Research & Knowledge Formation : IS1) 
          สิ่งแรกที่ประทับใจกับนักเรียนชั้นม.๒/๖ คือ นักเรียนตรงต่อเวลาเข้าห้องเรียนอย่างพร้อมเพรียงซึ่งครูนกก็กล่าวชมพร้อมเน้นย้ำให้รักษาไว้ให้เป็นอัตลักษณ์ของห้องเรียนไปเลย
          ต่อมานักเรียนได้เขียนข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและทัศนคติต่อการเรียนรู้ทำให้เด็กๆ มีคำถามย้อนกลับมายังครูนกเกี่ยวกับรายวิชานี้ว่ามีลักษณะธรรมชาติอย่างไร  แล้วทำไมต้องมาเรียนที่ห้องปฏิบัติการทดลอง
          ครูนกให้ข้อมูลโดยย้อนกลับไปจากจุดเริ่มต้นคือ การเรียนวิชาIS1 ที่ได้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ แล้วเลือกหัวข้อหรือประเด็นเพื่อศึกษาตามความสนใจหรือความถนัดโดยสุดท้ายนักเรียนค้นคว้าข้อมูลแล้วมาสรุปเป็นหนึ่งหน้ากระดาษเอสี่ แต่ภาคเรียนนี้เราจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวมารายงานในรูปรายงานการค้นคว้า พร้อมเผยแพร่ความรู้สู่สังคมให้ได้
          จากนั่นประเด็นทำไมต้องมาเรียนรายวิชานี้ที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์  ครูนกก็บอกเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า อัตรากำลังครูสอนรายวิชาภาษาไทยไม่เพียงพอ ทำให้ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ต้องเข้าไปช่วยในห้องที่เหลือซึ่งครูนกได้เลือกมาสองห้องคือ ม.๒/๖ และ ม.๒/๘  เด็กๆปรบมือดีใจที่ครูนกบอกว่า "ลูกคือห้องที่ครูเลือกนะ"
           ต่อมาได้คุยกันถึงประเด็นว่า จะต้องใช้สมุดบันทึกหรือไม่  ผลจากการโหวตเสียงส่วนใหญ่ของห้องเห็นว่า ควรใช้สมุดบันทึก  แต่จากการพูดคุยของเด็กๆ ทำให้ต้องโหวตกันอีกรอบในประเด็นว่า สมุดจะทำเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่ม เนื่องจากภาคเรียนที่ผ่านมาเด็กๆ ใช้สมุดรายกลุ่ม พบว่า เด็กๆ บางคนอยากทำเป็นรายบุคคล เนื่องจากถ้าเป็นรายกลุ่มคนที่ลายมือสวยจะต้องทำหน้าที่บันทึกตลอด  แต่เด็กๆ เขาก็มีโต้แย้งเพื่อนว่า "ครูบอกแล้วไง๊ ว่าการบันทึกไม่จำเป็นต้องเป็นคนลายมือสวย เพราะครูจะดูจากสาระ"  สุดท้ายผลการโหวตทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ใช้สมุดเป็นรายกลุ่ม
            เหตุการณ์น่าจะจบแต่ก็มีประเด็นต่อมาคือ กลุ่มละกี่คน  เนื่องจากเด็กๆ บอกว่า ช่วงแรกเขาทำงานกลุ่มละ ๑๐ คน ต่อมากลายเป็นกลุ่ม ๕ คน  ครูนกเลยขอตัวแทนนักเรียนที่มีความเห็นต่างกันฝ่ายละ ๒ คนให้เหตุผลสนับสนุนก่อนที่จะทำการโหวดเป็นรอบที่ ๓ ในเวลา ๑๐๐ นาที  ฝ่ายสนับสนุน ๕ คนบอกว่า "ทำงานมากคนก็มากความ ที่สำคัญจะมีคนทำน้อยกว่าคนไม่ทำ แต่ถ้าอยู่ ๕ คนได้ช่วยกันทำแน่นอน"  ต่อมาพบปรากฏการณ์คือ อยากแสดงความคิดเห็นโดยเดินมาหน้าชั้นเรียนโดยครูนกไม่ต้องกระตุ้น หรือเอ่ยชื่อฟังข้อสนับสนุนของฝ่ายที่อยากให้กลุ่ม ๑๐ คนบอกว่า "ถ้าทำกัน ๑๐ คนจะได้ข้อมูลมาก หรือถ้าใครไม่หาก็ยังได้ข้อมูลมากอยู่ดี"  หลังจากฟังเหตุผลก็ให้ทำการโหวตครั้งที่ ๓ ปรากฏว่า ฝ่ายที่เห็นด้วยกับ ๑๐ คน มีจำนวน ๒๕ คน ฝ่ายที่เห็นด้วยกับกลุ่มละ ๕ คนมีจำนวน ๒๔ คน  ผลเดือดร้อนอยู่ที่คนขาดเรียน ๑ คนในวันนี้โดยฝ่ายที่แพ้ ๑ เสียงบอกว่า ถ้าเขาอยู่เขาต้องเลือก ๕ คน  ครูนกเลยขอแทรกบรรยากาศประชาธิปไตยโดยบอกว่า กระบวนการกลุ่มที่ทำงานแล้วมีประสิทธิภาพคือ ๕- ๖ คน เพราะจะดูแล ช่วยแลและแบ่งปันหน้าที่กันได้อย่างเหมาะสม และทุกคนต้องทำงาน ส่วนแนวคิดที่อยู่กัน ๑๐ คน ถ้าไม่ทำ ๑ คน เหลือ ๙ คนทำ หรือไม่ทำ ๒ คน เหลือตั้ง ๘ คน  ครูขอให้นักเรียนมองว่า เราทำงานกลุ่มเพื่อผลักดันให้เพื่อนไปข้างหน้าพร้อมๆ กับเรา ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนไม่ทำงานเพราะไม่เป็นไรที่เหลือไปได้ วันนี้เราคุยกันจนกระทั่งไปถึงคำ No one left behind เราจะใช้กระบวนกลุ่มในการพัฒนาศักยภาพของพวกเราไม่ทิ้งใครไว้ก้าวไปข้างหน้าจะมากน้อยก็ตามศักยภาพ แต่จะไม่ทิ้งใครแบบช่างเขาเถอะ สุดท้ายเด็กๆ ก็ยอมรับความคิดที่จะเป็นกลุ่มๆ ละ ๕ - ๖ คน และมีกลุ่มหนึ่งที่ด้วยกัน ๘ คน สรุปเด็กๆ ได้อยู่ในกลุ่มที่เคยทำงานด้วยกัน
และคิดว่า จะไปต่อด้วยกันได้
                สรุปวันนี้เด็กๆ ได้รู้จักธรรมชาติวิชา แนวการเรียนวิชานี้ วิธีการวัดและประเมินผล และที่มาขอประเด็นความรู้ที่จะนำมาเขียนรายงานทางวิชาการ  ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกิจกรรมเบื้องต้น
                วันนี้ครูนกจบด้วยการขอให้สมาชิกคนหนึ่งของห้องออกมาอ่านข้อความสั้นๆ ให้เพื่อนๆ ฟัง ด้วยขณะที่กำลังทำกิจกรรมบันทึกประวัติมีนักเรียนคนหนึ่งถามครูนกว่า ครูขาตอนว่างๆ ขออ่านหนังสือได้หรือเปล่า  ครูนกบอกว่า ได้ค่ะ และถ้าจะให้ดีครูนกอยากให้ลูกเลือกข้อความ หรือสิ่งที่ได้จากการอ่านไปเล่าให้เพื่อนฟังน่าห้อง  ในเวลานั่นเธอยิ้มอายๆ พร้อมปฏิเสธ ช่วงท้ายครูนกเลยพูดให้ฟังว่า ช่วงเวลาที่ผ่านใครๆ ก็บอกว่า เด็กไทยอ่านคิดวิเคราะห์ไม่เก่งต้องฝึก ครูเลยตั้งใจว่า ในการสอนทุกรายวิชาของครูจะให้เด็กๆ ออกมาอ่านในสิ่งที่ตนเองชอบ หรืออยากเล่าให้เพื่อนฟัง และวันนี้ครูพบคนชอบอ่านหนังสือของห้องเราและอยากให้ออกมาอ่านให้เพื่อนฟังสั้นๆ ประมาณ ๕ นาที ปรากฏว่า เธอออกมาอ่านค่ะ อ่านเรื่อง ความคิดที่แตกต่างกัน  ซึ่งเป็นการอ่านแบบธรรมชาติ ส่วนผู้ฟังครูนกบอกว่า ถ้าลูกอยากจะฟุบโต๊ะแล้วฟังก็ทำเลย หรืออยากจะนั่งอย่างไรแล้วฟังเพื่อนก็ทำเลย ขออย่างเดียวเปิดใจเปิดหูฟัง เด็กๆ ให้ความร่วมมืออย่างดี สุดท้ายครูนกเลยประกาศให้รางวัลแก่นักเรียนที่ออกมาอ่าน "ความคิดที่แตกต่างกัน" ให้เพื่อนเป็นคะแนน ๒ คะแนนจาก ๑๐๐ คะแนนตัดเกรด  มีเสียงตัดพ้อจากเพื่อนๆ ทำไมครูไม่บอกว่าจะให้คะแนน  ครูนกบอกไม่ต้องกลัวลูกมีเวลามาอ่านให้เพื่อนฟังตลอดทั้งภาคเรียน เตรียมให้พร้อมแล้วกันแล้วมาเจอกันในการเรียนครั้งต่อไป
            บทสรุปสำหรับครูนก การสอนโดยจัดบรรยากาศให้ผ่อนคลายเป็นอะไรที่ให้ผลดีเสมอ  มีระเบียบและกติกาแต่ต้องมีเหตุมีผลรองรับ  และที่สำคัญที่สุดฟังนักเรียนให้มากๆ แล้วเราจะพบว่าวิธีการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญได้สำเร็จต้องฟังเขาค่ะ ส่วนฟังเพื่อจะชื่นชม หรือฟังแล้วแย้งด้วยเหตุด้วยผลครูต้องทำอย่างทันท่วงทีเช่นเดียวกันค่ะ          


            
              

หมายเลขบันทึก: 551931เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดีจังเลยครับ

เตรียมการสอนดีมาก

ขอชื่นชมคับพี่

-สวัสดีครับครู

-โห...สมัยนี้มีวิชาแปลกใหม่..

-น่าสนใจครับ..

-ขอบคุณครับ

เปิดเทอมแล้ว...เข้าสู่โหมดแห่งการทำงานนนนนน

ชอบวิธีการของครูนกมากเลยค่ะ เด็กๆน่าจะได้วิธีคิด วิธีมองเรื่องราวต่างๆรอบตัวไปด้วย และพวกเขาน่าจะรู้สึกได้ถึงความมีสิทธิมีเสียงของตัวเอง วิธีการที่เราให้เกียรติเด็กจะทำให้เขาให้เกียรติตัวเองและคนอื่นต่อไปด้วยนะคะ สำคัญมากต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว ขอบคุณครูนกที่เอามาถ่ายทอดได้อย่างละเอียดดีจริงๆค่ะ 

สวัสดีค่ะ น้องอาจารย์ขจิต ฝอยทอง

ฮาๆๆๆ จริงๆแล้วพี่นกยังแทบจะตำข้าวสารกรอกหม้อค่ะ....แต่โชคดีค่ะพี่ๆกลุ่มภาษาไทยเขามีแนวให้ทางให้เราเดิน ครูนกก็สอดแทรกนิคและปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาพเด็กๆ ค่ะ........ได้สอนวิชาใหม่มาเกือบทุกภาคเรียนเลยค่ะ...เป็นความตื้นเต้นของชีวิตการทำงาน

ขอบคุณค่ะ น้องเพชรน้ำหนึ่ง  พี่นกวิชาเหล่านี้น่าสนใจค่ะ สอนกระบวนการไม่เน้นตัวสาระความรู้ เหมาะกับเด็กๆสมัยนี้

ขอบคุณค่ะ คุณมะเดื่อ  เปิดภาคเรียนชีวิตลูกข่างสไตล์ครูนกก็จะหมุนมากขึ้นกว่าเดิมเป็นกำลังใจให้เช่นกันนะคะ

ขอบคุณค่ะ พี่โอ๋-อโณ   อาจจะเพราะครูนกใหม่ต่อวิชา ทำให้การเล่าละเอียดค่ะ...ที่สำคัญยังไม่พกกล้องถ่ายภาพเข้าห้องสอนค่ะ...ต้องให้คุ้นเคยรู้จักกันสักระยะก่อนทั้งครูต่อวิชา ครูต่อเด็ก เด็กต่อวิชา และเด็กต่อครูค่ะ....การให้รู้จักคุณค่าของตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญค่ะ.....พี่โอ๋มองทะลุมากกว่าที่ครูนกมองอีกค่ะ

เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงนะคะ...

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ดร.พจนา แย้มนัยนา.....เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจะทำให้เกิดความรู้ที่คงทน..เห็นด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท