125. "ป่า" คือ ชีวิตของปกาเกอญอ...ห้วยหินลาดใน


 

blog ก่อนหน้า ได้ชวนไปดูไร่นาของชาวปกาเกอญอ...

  

 

 

 

ครั้งนี้ จึงชวนให้รู้จักชาวบ้านห้วยหินลาดใน ในแง่มุมอื่นๆ

แล้วจะรู้ว่า...ชาวเมือง...ช่างรู้น้อยเสียจริงๆ

*--*

เมื่อเราเข้าไปถึงบ้านห้วยหินลาดใน

พ่อหลวงชัยประเสริฐ ....ได้แนะนำให้รู้จักชุมชนเล็กๆ 

ที่มีพลเมืองเพียง 104 คน หรือ 20 ครัวเรือน

มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 คน (คำนวนเองนะว่าเป็นเท่าไหร่..ถ้าอยากรู้)

 

ในภาพ เป็นพ่อหลวงชัยประเสริฐ...อธิบายที่ตั้ง และภูมิประเทศของป่าที่อยู่รอบๆ ชุมชน

คำอธิบายที่น่าสนใจ คือ 

ชุมชนห้วยหินลาดใน ดูแลผืนป่าถึง 10,000 ไร่ ด้วยคนเพียง 104 คน

ทั้งการดูแลให้ป่าดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์  ทำแนวกันไฟป่า และดับไฟป่าเมื่อเกิดขึ้น

ไม่มีใครจ้าง...ไม่ต้องมีใครบอก

แต่เป็นสำนึกของ ปกาเกอญอ ที่ผูกพันกับป่า อันเปรียบเสมือนบ้านของตน

 

 

บ้านห้วยหินลาดใน เคยได้รับ รางวัล ลูกโลกสีเขียว จากภารกิจการดูแลป่า

และมีอีกคนที่เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่

พะตี ปรีชา...HERO FOREST

 

 

เมื่อได้พบและฟังคำพูดของ พะตี ปรีชา เราจึงได้ข้อสรุปในตัวตนของปกาเกอญอ

ว่า "ผู้เป็นปราชญ์  จะอ่อนน้อม ถ่อมตน  ไม่โอ้อวด"

พะตีเล่าเรื่องของชุมชน และของตนเองอย่างถ่อมตัว ในฐานะคนเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่

พะตีบอกว่า รางวัลที่ได้ ท่านเป็น 1 ใน 5 คนของโลก

และไปรับรางวัลในฐานะตัวแทนของคนห้วยหินลาด 

เพราะการดูแลป่า "คนเดียวทำไม่ได้" แต่ต้องเป็นสำนึกของคนที่อยู่กับป่า

 

 

 "ปกาเกอญอ" แปลว่า "เกือบจะง่าย แต่ไม่ง่าย"

เป็นคำแปลที่บ่งบอก อัตลักษณ์ตัวตนของคนปกาเกอญอ

การอยู่อย่างเรียบง่าย แต่ไม่ง่าย

เพราะชีวิต ต้อง บูรณาการกับธรรมชาติ อย่างเป็นหนึ่งเดียว

ดูแลป่า ก็เปรียบเสมือน ดูแลบ้าน และแหล่งอาหารของตนเองและของโลกไปพร้อมๆ กัน

 

 

  

 

ชาวปกาเกอญอ ให้คุณค่าและยกย่อง "ผู้หญิงปกาเกอญอ" 

รู้สึกได้จากคำพูดของเด็กๆ ที่ชื่นชมแม่ของเขา และบอกว่าผู้หญิงทำและรู้ทุกอย่าง

รวมไปถึงภาระทางครอบครัวที่ผู้หญิงต้องดูแล

แต่ผู้หญิงปกาเกอญอ ขี้อาย และทำงานอยู่ในบ้าน 

มากกว่าจะออกมาเจอะเจอคนแปลกหน้า

ซึ่ง "ผู้ชายปกาเกอญอ" จะออกหน้าเรื่องพบปะผู้คน และตอบคำถามมากกว่า

 

 

ทีมเยาวชนของห้วยหินลาดใน ที่จะเป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้านต่อไป

ทุกคนมีความคิด และมีคำพูดที่เฉียบคม จนเด็กเมืองต้องอึ้งไปเลย

น้องๆ เล่าว่า การเรียนรู้ที่สำคัญของชาวปกาเกอญอ คือ การเรียนรู้ในชีวิต

เรียนรู้ร่วมไปกับการทำงานกับพ่อแม่  การฟัง "ทา" จากคนเฒ่าคนแก่

และ การมีแบบอย่างที่ดีของ รุ่นใหญ่ เช่น พะตี พ่อหลวง 

 

 

บัณฑิต แกนนำเยาวชน ที่เป็นแบบอย่างให้กับรุ่นน้อง

อีกคนที่ภูมิใจ ในความเป็น ปกาเกอญอ

ในขณะเดียวกัน ก็สามารถนำเสนอตัวตนของชาวปกาเกอญอ กับคนนอกได้อย่างดี

 

  

 

บ้านเรือนในชุมชน มีทั้งที่ปรับเปลี่ยนไปตามสมัย และที่ยังดำรงลักษณะเดิมไว้

และ

กติกาของชุมชน ...บรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกัน ทั้ง คน ทั้งป่า

 

 

 

ถอดความรู้ และการจัดการป่า ออกมาเป็นบอร์ด เพื่อใช้อธิบายผู้เข้ามาเยือน

 

 

  

 

ภาพข้างบนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน...เราไปวันหยุด จึงไม่เห็นการเรียน

 

  

 

ภาพทางซ้าย เป็นห้องอ่านหนังสือ-ห้องสมุด แบบเปิดโล่งของน้องๆ 

วันเราไปเยือน ฝนตกอย่างหนัก พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นที่หลบฝน และฝนสาดเต็มๆ

*--*

และภาพทางขวา เป็นห้องสมุดในชุมชน ที่ไว้ให้ทั้งเด็ก และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์

สภาพค่อนข้างเก่า และหนังสือก็ทรุดโทรม

 

  

 

ภาพถัดมา จึงเป็นการร่วมมือ ร่วมใจกันของพวกเรา ที่ช่วยกัน

จัดและมอบหนังสือและตู้หนังสือ พร้อมของเล่นเด็ก ให้กับชุมชนไว้ใช้ประโยชน์

เป็นน้ำใจของผู้ไปเยือน

พ่อหลวง และ พะตี มารับมอบ และขอบน้ำใจพวกเรา 

ถือว่า เราเป็นคนในบ้านแล้ว ...จะมาเยือนเมื่อไหร่ ก็เหมือนกลับไปเยี่ยมบ้าน

*---*

ถัดจากนี้ ... น้องๆ เยาวชน ได้พาเราเข้าป่าใกล้ๆ ชุมชน

เพื่อไปดู "ต้นลำพูใหญ่" อายุ ราว 200 ปี

เอ้า...เดินทางจ้า.....

 

 

ข้างหน้า คือ ต้นลำพูใหญ่ ประมาณ 7-8 คนโอบล้อม บอกถึงความยิ่งใหญ่

อายุราว 200 ปี บอกถึงความยืนยาว 

 

 

ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก...30 ชีวิต รวมกัน อายุมากกว่า ต้นลำพูแน่นอน

 

 

ปิดท้าย...ด้วยภาพล้อมวงสนทนา ยามค่ำ ท่ามกลางความมืด

พะตี  พ่อหลวง  อาจารย์ และเด็กๆ ร่วมกัน

รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ จากชีวิตจริงๆ ของชาวปกาเกอญอ

ผู้นำชุมชน เลือกที่จะไม่ต่อไฟฟ้า เข้าสู่ชุมชน

เพื่อให้ วิถีแห่งปกาเกอญอ ที่นี่ อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่นในอดีต

เพราะ การเข้ามาของไฟฟ้า

อาจจะพรากเด็กออกจากชุมชน และทำให้วัตถุนิยม บริโภคนิยม เข้าสู่ชุมชน

จนยากที่จะต้านทาน

*---*

ขอบคุณทุกคนที่บ้านห้วยหินลาดใน ...ที่ต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง

ขอบคุณ ที่ ท่านยังคงรักษาธรรมชาติ ไว้สำหรับโลกใบนี้

และ

ขอบคุณ ที่ ทำให้พวกเราตระหนักว่า ...เรายังรู้น้อยเหลือเกิน

 

pis.ratana บันทึกย้อน 

สิงหาคม 2556

หมายเลขบันทึก: 551516เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบใจบันทึกนี้มากค่ะ 

เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ค่ะ

รออ่านบันทึกต่อไปนะคะ

...ต้นลำพูมีอายุราว 200 ปี เป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลรักษา และรักต้นไม้ของทุกคนที่บ้านห้วยหินลาดใน นะคะ...

มีถอดบทเรียนเป้นภาษาอังกฤษด้วย

ชอบภาพนี้ครับอาจารย์

ขอบคุณทั้ง 3 ท่านที่แวะมา

ครูขจิตต้องลองแวะไปนะคะ เด็กๆที่นี่ แม้ไม่เรียนมหาวิทยาลัย

แต่ไปแลกเปลี่ยนความรู้ถึงเมืองนอกกันมาแล้ว

รวมถึงพะตี กับ พ่อหลวง โกอินเตอร์ทั้งนั้น

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ที่แนะนำ อยากไปบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท