มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๗. ความสำเร็จของนักศึกษา


 

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖

 

ความสำเร็จของนักศึกษา

          ผมตั้งข้อสังเกตว่า   เอกสารที่เราได้รับมีสาระระหว่างบรรทัด   บอกว่ามหาวิทยาลัยในอังกฤษ (อย่างน้อยก็ที่เราไปเยี่ยมชม) มองความสำเร็จของนักศึกษา ซับซ้อนกว่าในบ้านเรา ดังตัวอย่างมหาวิทยาลัยแอสตันระบุในเอกสาร Aston University 2020 forward   เกี่ยวกับบัณฑิตของตน  ในส่วนที่ผมตีความว่าสะท้อนภาพความสำเร็จของนักศึกษา ที่เขามุ่งหวัง คือ ใน พรบ. จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1966 ระบุวัตถุประสงค์ว่า ‘to advance and apply learning for the benefit of industry and commerce’สะท้อนว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ต้องการจบออกไปทำงานในระบบธุรกิจและอุตสาหกรรม

          มหาวิทยาลัยนอร์ธแทมตัน แจกเอกสารเล่มหนา Undergraduate Prospectus 2014 อ่านระหว่างบรรทัดได้ว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ช่วยให้ความฝันในชีวิตของนักศึกษา เป็นจริง    ดังที่ปกหน้าด้านในเขาลงรูป Jo Burns, BA (Hons) Media and Popular Culture   ซึ่งเวลานี้เป็นเจ้าของบริษัทชื่อ Amplitude Media ซึ่งเป็น boutique communications agency & creative studio   เขาลงคำพูดของ Ms. Jo Burns ว่า “I knew I wanted to work in media, and my degree enabled that to happen. The University of Northampton helped me to focus my career path into exactly what I wanted to be.”   พูดง่ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยเพื่อให้ นศ. ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานอย่างสมหวัง

          ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของอังกฤษ ที่เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ elite universities อย่าง อ็อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ลอนดอน ฯลฯ    เขาจะเน้นชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่ความสำเร็จของนักศึกษา    ลมหายใจเข้าออก ของกิจการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ทำเพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนของนักศึกษา    เพื่อความสำเร็จของนักศึกษา ในชีวิตภายหน้า

          ความสำเร็จในชีวิตช่วงสั้นๆ หลังสำเร็จการศึกษา คือ การมีงานทำตามที่ตนต้องการ (employability & entrepreneurship)

          กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด   เพราะแม้แต่ elite universities ก็ต้องดำรงอยู่ในระยะยาวด้วยความสำเร็จ ของนักศึกษานั่นเอง    แต่เขาเชื่อคนละแนว คือเขาเชื่อว่า บัณฑิตที่เรียนตามแบบของเขา    จะมีวิชาแน่นที่พื้นฐาน ออกไปทำอะไรก็ได้ ที่จะสามารถปรับตัวเรียนรู้เพิ่มเติมและประสบความสำเร็จในชีวิตภายหน้า

          ในขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เน้นสร้างคุณค่า/มูลค่า แก่ความสำเร็จในชีวิต ด้วยการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับชีวิตจริงในอนาคตอันใกล้ของเขา    ทำให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียน   ตั้งใจเรียน  และเรียนสนุก

          บันทึกนี้จึงก้าวสู่อุดมศึกษา แบบมีสถาบันอุดมศึกษา ๒ กลุ่ม ตามแบบอเมริกา    คือกลุ่ม Liberal Arts College (วิทยาลัยศิลปวิทยาศาสตร์)    กับกลุ่มมหาวิทยาลัยทั่วไป ที่เน้นเรียนแยกเป็นรายวิชาชีพ    แบบไหนดีกว่า ไม่มีคำตัดสิน    เพราะโลกและสังคมซับซ้อนมาก   ไม่ว่าเรียนแบบไหน ตอนไปทำงานประกอบอาชีพ แต่ละคนจะ เรียนรู้ปรับตัวได้อีกมากมาย   ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์

          แต่ก็เถียงต่อได้อีก   ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาแนวศิลปวิทยาศาสตร์    เน้นการฝึกฝนปฏิบัติ ด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในตนด้วย    ไม่ใช่ใช้แค่เพียงการเรียนรู้เชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ และเชิงสังคมศาสตร์ เพื่อฝึกฝนเปลี่ยนแปลงตนเอง    ซึ่งคำโต้แย้งแบบนี้ ผมออกจะเชื่อ    โดยดูที่ชีวิตของตนเอง    ซึ่งขาดการเรียนรู้ด้านศิลปะ    ทำให้รู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง    แก้ไขชดเชยในภายหลังได้ยากมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 551484เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท