Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จูดี้เกิดในมลรัฐเนวาดาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ จากบิดาและมารดาสัญชาติไทย มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ?


กรณีศึกษานางสาวจูดี้ : สิทธิในสัญชาติไทยของคนเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ จากบิดาและมารดาสัญชาติไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151960405838834

--------------

ข้อเท็จจริง

-------------

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๗๔/พ.ศ.๒๕๑๗ นางนภาซึ่งมีสัญชาติไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเนวาดากับนายศิลาซึ่งมีสัญชาติไทย ณ เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา

นับแต่การสมรสจนถึงปัจจุบัน บุคคลทั้งสองก็อยู่กินฉันสามีภริยาในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะบุคคลทั้งสองประกอบธุรกิจซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมลรัฐคาลิฟอร์เนีย แม้จะเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาเสมอ และมีที่พักอาศัยถาวรทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย แต่เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็เป็นไปในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นางนภาและนายศิลายังมีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยและถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลไทยในสถานะคนสัญชาติไทย บุคคลทั้งสองมีชื่อในทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยประเภท ท.ร.๑๔ ในสถานะคนสัญชาติไทย ณ เขตบางเขน นอกจากนั้น ยังไม่ปรากฏว่า บุคคลทั้งสองเคยสละสัญชาติไทย หรือเคยแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน

ทั้งนางนภาและนายศิลายังมีทรัพย์สินตั้งอยู่ในประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

ใน พ.ศ.๒๕๒๖ นางนภาและนายศิลามีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน อันได้แก่ นางสาวจารุวรรณหรือ “จูดี้” ซึ่งเกิดในมลรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้ออก “หนังสือรับรองการเกิดแบบมีชีวิต (Certificate of Live Birth)” เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ.๑๙๘๓/พ.ศ.๒๕๒๖ เพื่อรับรองการเกิดของเด็กหญิงจูดี้ โดยระบุว่า เกิดจากนางนภา วรรณทิพย์ และนายศิลา เชื้อพรหม ณ โรงพยาบาลมูลนิธิไกร์เซอร์ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๘๓/พ.ศ.๒๕๒๖ โดยหนังสือนี้ระบุอีกว่า บุพการีทั้งสองของเด็กหญิงจูดี้เกิดในประเทศไทย และมีอายุ ๓๔ ปี หนังสือดังกล่าวมิได้ระบุทั้งสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของบุพการีและเด็กหญิงจูดี้ ทั้งยังมิได้ระบุสถานะบุคคลตามกฎหมายการเข้าเมืองของบุคคลทั้งสาม และทั้งยังมิได้ระบุสถานะที่อยู่ของบุุคคลทั้งสองในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ปรากฏการลงนามรับทราบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ระบุในหนังสือดังกล่าวเกี่ยวการเกิดของเด็กหญิงจูดี้โดยนางนภา มารดา และนายทะเบียนท้องถิ่น 

นอกจากนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายศิลาและนางนภามิได้แจ้งการเกิดของนางสาวจูดี้ต่อสถานกงสุลไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และมิได้เคยร้องขอเพิ่มชื่อของนางสาวจูดี้ในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่า บุพการีทั้งสองได้แจ้งการเกิดของนางสาวจูดี้ในทะเบียนราษฎรของประเทศสหรัฐอเมริกาในสถานะคนสัญชาติอเมริกัน

นางสาวจูดี้เรียนหนังสือในประเทศสหรัฐอเมริกาจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และต่อมา ใน พ.ศ.๒๕๕๐  นางสาวจูดี้ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับตาและยายในประเทศไทย เธอเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา เธอแสดงตนเป็นคนสัญชาติอเมริกันในการร้องขออนุญาตเข้ามาในประเทศไทย และร้องขอสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงาน

นางสาวจูดี้ทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทวิทยาประกันภัย (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายลาว จึงมีสำนักงานตามตราสารจัดตั้งในประเทศลาว แต่มีสำนักงานใหญ่ที่แท้จริงตั้งอยู่ในประเทศไทย เพราะมีสมาชิกทุกคนเป็นคนสัญชาติไทย แต่บริษัทนี้มีสาขาตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม พม่า/เมียนมาร์ และกัมพูชาอีกด้วย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทวิทยาประกันภัย (ลาว) จำกัดและนางสาวจูดี้ทำ ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นางสาวจูดี้ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยทางราชการของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงตนในสถานะคนสัญชาติอเมริกันในการเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนในประเทศ CLMV กล่าวคือ ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศสหภาพเมียนมาร์/พม่า และประเทศเวียดนาม ในส่วนของการอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น นางสาวจูดี้ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในสถานะคนทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีระยะเวลาอาศัยอยู่ ๑ ปี ดังนั้น จึงต้องต่อวีซ่าทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน

ด้วยว่า นางสาวจูดี้ประสงค์ที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดไป โดยคำแนะนำของเพื่อนของบิดาและมารดา นางสาวจูดี้ได้ร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนเขตบางเขน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเขตดังกล่าวก็ได้บันทึกชื่อของนางสาวจูดี้ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓)  ในสถานะของคนสัญชาติอเมริกัน และได้ให้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖ แก่นางสาวจูดี้ ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑

-------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นางสาวจูดี้มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด  หากเธอผู้นี้ต้องการจะร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เธอจะต้องสละสัญชาติอเมริกันก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด[1]

-----------

แนวคำตอบ

-----------

คำถามข้อนี้มี ๒ ประเด็นหลักที่จะต้องตอบ กล่าวคือ (๑) นางสาวจูดี้มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด และ (๒) หากเธอผู้นี้ต้องการจะร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เธอจะต้องสละสัญชาติอเมริกันก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด ดังนี้ เพื่อความชัดเจน จึงควรแยกตอบทีละประเด็น

 

(๑) นางสาวจูดี้มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ประเด็นเกี่ยวกับสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน กล่าวคือ เป็นเรื่องระหว่างรัฐเจ้าของสัญชาติและเอกชน ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในว่าด้วยสิทธิในสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาตินั้น ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

เมื่อนางสาวจูดี้เกิดในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๘๓/พ.ศ.๒๕๒๖  กฎหมายไทยซึ่งมีผลในเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕  และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติของกฎหมายภายในพิเศษหรือกฎหมายระหว่างประเทศมากำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาปัญหาความมีสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวจูดี้ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดังกล่าวข้างต้น

โดยหลักกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังปรากฏใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕   บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดในสถานการณ์ทั่วไป หากมีข้อเท็จจริง ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้  (๑) เกิดจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม (๒) เกิดนอกประเทศไทยจากมารดา ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย โดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่มีสัญชาติ ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม และ (๓) เกิดในประเทศไทย โดยไม่มีบิดาและมารดาต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลที่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และโดยไม่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาจะต้องไม่เป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของนางสาวจูดี้แล้ว จะเห็นว่า เธอย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็น “คนสัญชาติไทยโดยการเกิด” ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ นางสาวจูดี้ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เพราะว่า นายศิลาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด การเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาและการได้สิทธิในสัญชาติอเมริกันของนางสาวจูดี้ไม่มีผลอย่างใดในเรื่องนี้ แม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างนายศิลาและนางนภาจะทำในประเทศสหรัฐอเมริกา และตามกฎหมายเนวาดา การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวก็ชอบด้วยกฎหมายไทย อันได้แก่ มาตรา ๒๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์” ดังนั้น หากการสมรสนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายเนวาดา อันเป็นกฎหมายของมลรัฐที่ทำการจดทะเบียนสมรส การสมรสดังกล่าวก็จะชอบด้วยทั้งกฎหมายอเมริกันและกฎหมายไทย รวมตลอดถึงกฎหมายของรัฐทุกรัฐบนโลก ดังนั้น นายศิลาจึงมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวจูดี้ในขณะที่บุคคลผู้นี้เกิด จึงสรุปได้ว่า เธอผู้นี้จึงมีสิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม

 

ลักษณะที่สอง ก็คือ นางสาวจูดี้ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลของมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕  ทั้งนี้ เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดให้บุตรของมารดาสัญชาติไทยที่เกิดก่อนวันที่ดังกล่าวมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้  ขอให้สังเกตว่า ในขณะที่เกิด กล่าวคือ นับแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๖ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ นางสาวจูดี้ย่อมไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะเธอไม่มีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบแห่งกฎหมายที่มีผลในขณะที่เกิด กล่าวคือ มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ซึ่งกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาจะต้องเกิดนอกประเทศไทยและไม่ปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้นางสาวจูดี้จะเกิดนอกประเทศไทย แต่เมื่อมีนายศิลาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย นางสาวจูดี้จึงไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาในขณะที่มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ยังมีผล   แต่เมื่อมีการปฏิรูปแนวคิดใหม่ในการกำหนดผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และมีการกำหนดการคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาแก่บุตรของมารดาสัญชาติไทยทุกคนที่เกิดก่อนการปฏิรูปหลักกฎหมายนี้ จึงสรุปได้ว่า นางสาวจูดี้ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลของกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสัญชาติ อันได้แก่ มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

 

เราคงต้องตระหนักใยท้ายที่สุดว่า เมื่อนางสาวจูดี้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา เธอจึงไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ในวันนี้ นางสาวจูดี้จึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดาโดยผลของกฎหมาย สิทธิดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นโดยผลของกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องร้องขอสิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด และเป็นเสรีภาพที่จะใช้สิทธินี้หรือไม่ ก็ได้ เราจะเห็นว่า นางสาวจูดี้มีสิทธิในสองสัญชาติ กล่าวคือ สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตและอเมริกันโดยหลักดินแดน

 

(๒) หากเธอผู้นี้ต้องการจะร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เธอจะต้องสละสัญชาติอเมริกันก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า นางสาวจูดี้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดาโดยผลของกฎหมาย และเมื่อพิจารณากฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ ก็ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ต้องสละสัญชาติอเมริกันก่อนที่จะมาถือ/ใช้สิทธิในสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคิดในกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติที่ยอมรับตลอดมาในเสรีภาพที่จะถือสัญชาติทุกสัญชาติที่บุคคลมีโดยการเกิด ดังนั้น นางสาวจูดี้จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เขตบางเขนเพิ่มชื่อของตนเองในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เมื่อเธอถูกบันทึกก่อนแล้วในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติอเมริกัน ด้วยว่า เธอมิได้แสดงเจตนาที่จะใช้สิทธิในสัญชาติไทยที่มีอยู่ แต่หากเธอต้องการที่จะใช้สิทธินี้ เขตบางเขนก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวจูดี้ และเมื่อเธอสามารถพิสูจน์ได้ว่า บิดาและมารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่เธอเกิดจริง เขตบางเขนก็จะต้องย้ายชื่อของเธอจากทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) มาไว้ในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และจะต้องบันทึกสถานะทางสัญชาติเป็น “ไทย” แทน “อเมริกัน” ทั้งนี้ หน้าที่ของเขตบางเขนในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นางสาวจูดี้ย่อมเป็นไปภายใต้มาตรา ๓๖ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

ในกรณีที่เขตบางเขนปฏิเสธหน้าที่ที่จะบันทึกรายการสถานะบุคคลของนางสาวจูดี้ใน ท.ร.๑๔ ในสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิด เธอก็อาจใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งนอกหรือในศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่มักใช้ในสถานการณ์นี้มีได้ ๒ ทาง อันได้แก่ (๑) นางสาวจูดี้อาจร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งหากเขตบางเขนไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็อาจใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะฟ้องเขตบางเขนต่อศาลปกครองได้แทนนางสาวจูดี้ หรือ (๒) นางสาวจูดี้อาจฟ้องเขตบางเขนต่อศาลปกครองได้โดยตัวของเธอเอง และหากฟังว่า เจ้าหน้าที่ของเขตคนใดมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาในฐานเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และหากนางสาวจูดี้มีความเสียหายอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นางสาวจูดี้ก็อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฐานละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายได้อีก


[1] การสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต การสอบภาคที่ ๑  ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ วิชาบังคับ  ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๔ ตุลาคม พ..๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 550777เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท