(56) 'หัวขโมย' ประสบการณ์ที่ควรจดจำอย่างใส่ใจ


วันหนึ่งเธอโทรศัพท์มาหาแม่ด้วยเสียงสะอื้นว่าเธอทำผิดอย่างไม่น่าให้อภัย .. เธอรู้สึกปวดร้าวใจอย่างมาก "อายเข็ดแล้ว ไม่ทำอีกแล้ว" .. ตัวอย่างจากประสบการณ์ของลูกสาว หัวขโมยที่ทำลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อนุทินของคุณกล้วยไข่ 3 ต.ค.56 ปรารภเรื่องด็กๆ copy งานมาส่ง พร้อมทั้งยอมรับว่าตนเองก็เคยทำมาก่อนด้วยความไม่รู้ เพื่อขอคำแนะนำจากสมาชิก GTK ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากหลายท่าน ทั้งคุณขจิต ฝอยทอง, Wasawat Deemarn, นงนาท สนธิสุวรรณ และคุณมะเดื่อ ดิฉันอยากแนะนำบ้าง .. แต่เป็นอย่าง ย า ว ค่ะ

ดิฉันปลูกฝังความตระหนักถึงจริยธรรมด้านงานวิชาการให้ลูกสาวมาอย่างยาวนาน วันหนึ่งเธอโทรศัพท์มาหาแม่ด้วยเสียงสะอื้นว่าเธอทำผิดอย่างไม่น่าให้อภัย (ใน class room ป.โท)

".. แม่ อายถูกอาจารย์ดุว่า ทำไมเธอไม่เขียนอ้างอิง .. ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเธอนะ" คำว่า 'ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเธอ' นั้นมันแทงเข้าไปในอก รู้สึกปวดร้าวใจอย่างมาก "อายเข็ดแล้ว ไม่ทำอีกแล้ว"

ดิฉันบอกให้เธอตั้งสติ แล้วค่อยๆ เล่า.. เนื้อหาโดยสรุป คือ เธอทำรายงานส่งอาจารย์ มีเนื้อหาสาระบางส่วนจากชั่วโมงเรียนโดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา ด้วยคิดว่าเป็นคำพูดของอาจารย์ ไม่ใช่เอกสาร มาทราบภายหลังว่าเนื้อหาสาระดังกล่าวมีในหนังสือที่อาจารย์เป็นผู้เขียน สะดวกต่อการอ้างอิง เธอรู้สึกผิดจนนอนไม่ได้ กลับไปขอทำรายงานใหม่เพื่อลดความรู้สึกผิดของตนเองลงบ้าง

นั่นคือตัวอย่างจากประสบการณ์ของลูกสาว หัวขโมยที่ทำลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดิฉันมีตัวอย่างจากประสบการณ์ของแม่ ความพยายามปลูกฝังจริยธรรมด้านวิชาการให้แก่วิชาขีพพยาบาลค่ะ

เมื่อดิฉันต้องดูแล นศ.พยาบาล ที่มาฝึกภาคปฏิบัติวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชจากมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่ส่งเด็กมาฝึกงานโดยไม่มีอาจารย์ตามมาดูแลด้วย พบว่า นศ.มีพฤติกรรมคัดลอกงานของผู้อื่นมาส่งอย่างเป็นล่ำเป็นสัน งานจะน่าเกลียดมากน้อยขึ้นอยู่กับความมักง่ายของ นศ. เคยมีเหตุการณ์ผู้ป่วยใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า หนู-ผม-ดิฉัน สลับกันไปมาตลอดเวลาเลยเชียวละ แต่ก็ยังไม่ปวดใจเท่าการได้อ่านสำนวนตนเองภายใต้ชื่อ นศ. ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ..

เอ๊ะ! ดิฉันถอดวิญญาณได้ตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบหากเป็นคุณจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร?

ดิฉันประยุกต์วิธีการที่สอนลูกมาใช้กับ นศ.พยาบาล โดยกำหนดเงื่อนไขพิเศษดังนี้

(1) เนื้อหาสาระส่วนที่นำมาจากแหล่งต่างๆ ให้เขียนอ้างอิงด้วย ทุกครั้ง (มาตรฐานโลกที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม)

(2) ในการอ้างอิง ให้อ้างอิงถึงผู้อื่น ที่ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ตนศึกษาอยู่นี้ เพื่อบังคับให้ นศ.เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น (ได้มาจากคำตอบของ นศ.ที่ตอบว่า 'ไม่รู้จัก' เมื่อดิฉันเอ่ยนามนักวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ทุกวิชาชีพที่ นศ.ควรรู้จักครบหมดทุกคน)

(3) ในการทำ Case study จะมีองค์ประกอบของส่วนต่างๆ หากเกี่ยวข้องกับโรคกลไกการเกิดโรค ให้อ้างอิงถึงแพทย์ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ท่าน หากเกี่ยวข้องกับการพยาบาลให้อ้างอิงถึงพยาบาลที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ท่าน หากเกี่ยวข้องกับยาให้อ้างอิงถึงเภสัชกรอย่างน้อย 2 ท่าน

(4) การอ้างในข้อ (3) ให้สำเนาเอกสารหน้าที่อ้างแนบมาทุกชิ้น โดยเขียน foot note ให้ถูกต้อง

(5) ส่งงานตามกำหนดทาง mail เพราะ mail โกหกไม่เป็น

(6) หาก นศ.คนใดปฏิบัติตามนี้ไม่ได้ ดิฉันจะส่ง นศ.คนนั้นคืนมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็มี นศ.ที่ปฏิบัติไม่ได้ ดิฉันก็ทำตามข้อตกลงนี้เช่นกัน

ผลการปฏิบัติหรือคะ เชิญทางนี้ค่ะ ..

ผลเบื้องหน้า เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ (เฉพาะ นศ.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดิฉันเท่านั้น!) การปฏิบัติที่ยากที่สุดสำหรับ นศ.คือ ข้อ (4) เพราะสิ่งที่เป็นทุนในมือของเด็กๆ ตอนนั้นเป็น case สำเร็จรูป ไม่ทราบแหล่งที่มา เขาอ้างรวมๆ ตอนท้ายว่ามาจากเล่มไหนบ้าง แต่ไม่รู้ว่านำเนื้อหาส่วนใดมาจากที่ใด ต้องอ่านกันใหม่หมด หัดเขียนอ้างอิง หัดเชื่อมประโยค ฯลฯ ด้วยตนเอง ดิฉันแนะนำให้เขาเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม ใครได้อะไรมาให้เขียนอ้างอิงไว้ให้ชัดเจน แล้วมา 'พู' หรือรวมกันเป็นกองกลาง ฝึกเขียนไปด้วยกัน

ผลเบื้องหลังดิฉันถูกกล่าวถึงอย่างบิดเบือนไปเล็กน้อย (กรุณาเติมข้อความที่ถูกใจท่านลงในช่องว่างที่กำหนดให้ ......... .............. .........) และเมื่อดิฉันส่งประวัติส่วนตัวไปขอสมัครงานเป็นอาจารย์แบบจิตอาสาไม่คิดค่าเสียหาย ผลปรากฎว่า .. ไม่มีการตอบรับ..จากหน่วยงานที่ท่านเรียก เมื่อติดตามผลทางโทรศัพท์ก็มีคนเสียงโหดมาต้อนรับ

ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ป่วยเป็นโรคจิตมารักษา รพ.พระศรีมหาโพธิ์บ้างก็แล้วไป! ฮา..

หมายเลขบันทึก: 550286เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2015 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...มีหลายสาเหตุที่ไม่มีการเขียนอ้างอิง ...สาเหตุหนึ่งคือไม่รู้หลักการเขียนอ้างอิง...

- การอ้างอิง เป็นเรื่องสำคัญ ทางจริยธรรม

- สถานการณ์ ที่เกิด ใน Class  ส่วนใหญ่ เด็กๆ  ไม่ได้ตั้งใจ  หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และ ไม่ทราบวิะีเขียนที่ถูกต้อง (สนับสนุน ท่าน ดร.พจนา)

- การ ตำหนิอย่างสร้างสรรค์   เพื่อ ชี้แนะนำ กระตุ้นเตือน ตอกย้ำ ซ้ำ ทวน ให้ เด็ก ๆ ใน Class  ยึดถือปฏิบัติ  ครู อาจารย์  เราช่วยกันไป นะคะ

ขอบคุณ บันทึก ดีดี มีประโยชน์ ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท