การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมปัญญาท้องถิ่น


การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมปัญญาท้องถิ่น

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น

การสำรวจสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนหรือสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันทำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเหมือนๆกัน (จุดเด่น) ต่อมาจึงควรจะนำสิ่งที่เราสำรวจนั้นมาศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลแล้วจึงนำมาตั้งจุดมุ่งหมาย/จุดประสงค์ว่าเราจะทำเพื่ออะไร จะทำไปทำไม ทำแล้วจะได้อะไร และที่สำคัญสิ่งที่ทำเกิดผลดี ผลเสีย ประโยชน์แก่ใคร หลังจากที่เราได้จุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแล้วให้เรากำหนดเนื้อหาหรือสิ่งที่เราจะสอนให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำมาจัดทำเป็นหลักสูตร ซึ่งในการจัดทำหลักสูตรนี้ควรมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ครู ผู้นำชุมชุนและผู้รู้ต่างๆ เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร หลังจากนั้นควสรมีการประเมินผลหลักสูตรว่าเป็นอย่างไรบ้างและนำข้อบกพร่องหรือส่วนที่ดีมาปรับปรุง พัฒนาต่อไป

วิธีการพัฒนาหลักสูตร

โดยหลักการทั่วไป ขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรในระดับชาติหรือระดับสถานศึกษา จะมีวิธีดำเนินการในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เริ่มด้วยการกำหนดจุดหมายของหลักสูตร การกำหนดเนื้อหาสาระ การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินหลักสูตร และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร อย่างไรก็ตาม แต่ละขั้นตอนอาจมีการกระจายกิจกรรมให้ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้นได้ เพื่อให้เหมาะสมกับธรรมชาติของหลักสูตรแต่ละระดับหรือแต่ละประเภท
ทาบา (Taba, 1962)นักพัฒนาหลักสูตรชาวอเมริกัน ให้ความเห็นสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเอง โดยยึดหลักการดำเนินการจากระดับล่างหรือระดับรากหญ้า ทาบามีความเชื่อว่าครูใน โรงเรียนซึ่งเป็นผู้สอนโดยตรงควรจะเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเองมากกว่าส่วนกลางหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้จัดทำและจัดส่งมาให้ และกล่าวว่าครูควรจะเริ่มกระบวนการพัฒนาหลักสูตรจากการสร้างหน่วยการเรียนการสอนในเนื้อหาเฉพาะสำหรับเด็กในโรงเรียนก่อน ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้
ทาบา (Taba, 1962)ได้กำหนดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนออกเป็น 5 ขั้นตอน ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับบริบทของประเทศไทย ดังนี้
1. การผลิตหน่วยการเรียนการสอนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา การดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะนำร่องกระบวนการจัดทำหลักสูตรในลักษณะหน่วยการเรียนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา มี
กิจกรรมดำเนินการ 8 ประการ ดังนี้
1.1 การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน ในขั้นนี้คณะกรรมการหลักสูตรของโรงเรียนจะสำรวจความต้องการของผู้เรียนเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร โดยพิจารณาจากช่องว่าง จุดบกพร่องและความหลากหลายแห่งภูมิหลังของผู้เรียน
1.2 การกำหนดจุดหมาย ภายหลังจากได้วิเคราะห์ความต้องการของนักเรียนแล้ว ผู้วางแผนหลักสูตรจะช่วยกันกำหนดจุดหมายที่ต้องการ
1.3 การเลือกเนื้อหา เนื้อหาสาระหรือหัวข้อเนื้อหาที่จะนำมาศึกษาได้มาโดยตรงจากจุดหมาย คณะผู้ทำหลักสูตรไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาจุดหมายในการเลือกเนื้อหาเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาความสอดคล้องและความสำคัญของเนื้อหาที่เลือกด้วย
1.4 การจัดเนื้อหา เมื่อได้เนื้อหาสาระแล้ว งานขั้นต่อไปคือ การจัดลำดับเนื้อหา ซึ่งอาจจัดตามลำดับจากเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยาก หรืออาจจัดตามลักษณะหรือธรรมชาติของเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ การจัดเนื้อหาที่เหมาะสมควรจะสอดรับกับวุฒิภาวะของผู้เรียน ความพร้อมของผู้เรียนและระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
1.5 การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องเลือกวิธีการหรือยุทธวิธีที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้กับเนื้อหาได้ นักเรียนจะทำความเข้าใจเนื้อหาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่นักวางแผนหลักสูตรและครูเป็นผู้เลือก
1.6 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูเป็นผู้ตัดสินวิธีการที่จะจัดและกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ และการจัดลำดับขั้นตอนของการใช้กิจกรรม ในขั้นนี้ครูจะปรับยุทธวิธีให้เหมาะกับนักเรียนเฉพาะกลุ่มที่ครูรับผิดชอบ
1.7 การกำหนดสิ่งที่จะต้องประเมินและวิธีการในการประเมิน ครูผู้สอนในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรจะต้องประเมินและตรวจสอบให้ได้ว่าหลักสูตรดังกล่าวบรรลุจุดหมายหรือไม่ ครูผู้สอนจะต้องเลือกเทคนิควิธีอย่างหลากหลายเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และให้สามารถบอกได้ว่าจุดหมายของหลักสูตรได้รับการตอบสนองหรือไม่
1.8 การตรวจสอบความสมดุลและลำดับขั้นตอน ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งเน้นที่การจัดทำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนการสอนให้คงเส้นคงวาและสอดคล้องภายในตัวหลักสูตรเอง การดำเนินการในลักษณะนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมและเกิดความสมดุลในเนื้อหาและประเภทของการเรียนรู้
2. การนำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนไปทดลองใช้ เมื่อคณะผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้จัดทำหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรในรูปของสื่อหรือบทเรียนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว คณะครูก็จะนำเอกสารหลักสูตรเหล่านั้นไปทดลองสอนในชั้นเรียนที่รับผิดชอบ มีการสังเกต วิเคราะห์และเก็บรวบรวมผลการใช้หลักสูตรและการจัดกิจการรมในชั้นเรียน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นในโอกาสต่อไป
3. การปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรให้สอดคล้องกัน ในขั้นตอนนี้จะต้องปรับหน่วยการเรียนหรือหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างความสามารถของผู้เรียนกับทรัพยากรที่โรงเรียนมีอยู่และกับพฤติกรรมการสอนของครู มีการรวบรวมข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ได้จากการทดลองไว้ในคู่มือครู เพื่อจะใช้เป็นข้อสังเกตและแนวทางที่จะช่วยให้ครูได้จัดกิจกรรม การสอนอย่างรอบคอบ
4. การพัฒนากรอบงาน ภายหลังจากจัดทำบทเรียนหรือหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ จำนวนหนึ่งแล้ว ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องตรวจสอบหลักสูตรและสื่อในแต่ละหน่วยหรือแต่ละรายวิชา ในประเด็นของความเหมาะสมและความเพียงพอของขอบข่ายเนื้อหา และความเหมาะสมของการจัดลำดับเนื้อหา ครูหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาหลักสูตรจะต้องรับผิดชอบจัดทำหลักการและเหตุผลของหลักสูตรโดยดำเนินการผ่านกระบวนการการพัฒนากรอบงาน
5. การนำหลักสูตรไปใช้และเผยแพร่ เพื่อให้ครูที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรไปใช้จริงในระดับห้องเรียนอย่างได้ผล จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องจัดฝึกอบรมครูประจำการอย่างเหมาะสม
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 5 ขั้นตอนที่กล่าวมามีลักษณะที่เป็นเชิงวิชาการอยู่มาก ดังนั้นเมื่อมีการจัดทำหลักสูตรในสถานการณ์จริงผู้รับผิดชอบสามารถปรับปรุงกิจกรรมและขั้นตอนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหาวิชา สภาพท้องถิ่นและเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตามในเวลาปฏิบัติงาน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถปรึกษาหารือกับผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นข้าพเจ้าได้ศึกษามาทั้งในอินเทอร์เน็ตและหนังสือ คุณช่ำ เชื้ออินทร์,รศ.ดร.ธวัธชัย ชัยจิรฉายากุล,รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์,รศ.ดร.ประภาพรรณ เอี่ยมสุภาษิต การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจและเรียนรู้ว่า เราสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละชุมชนมาปรับเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่นักเรียน โดยปลูกฝั่งให้นักเรียนเห็นความสำคัญท้องถิ่นของตนมากขึ้นและเป็นการพัฒนาชุมชนให้เกิดเป็นแหล่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ใหม่ๆได้ด้วย ซึ่งขอยกตัวอย่างเมื่อตอนที่ดิฉันเรียนอยู่ชั้นม.2 ชุมชนที่อยู่บริเวณของดิฉันชาวบ้านทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งในวิชาสังคมอาจารย์ก็ได้พาพวกดิฉันไปเรียนรู้วิธีการปั้นดินเผา ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนไปคือหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นนั่นเอง เพราะตอนนั้นขับรถผ่านก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เมื่อได้เรียนแล้วทำให้รู้สึกดีว่าชุมชนของเราน่าอยู่และมีเอกลักษณ์ที่น่าอนุรักษ์อย่างมาก ดังนั้นเมื่อได้มาศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นจึงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจมากขึ้น

ขอบขอบคุณแหล่งข้อมูลดังนี้

http://www.oo-cha.com/courses/CD/cd5.pdf

http://www.moe.go.th/wijai/curriculum%20school.htm

http://krututor.files.wordpress.com/2012/03/develop1.pdf

หมายเลขบันทึก: 550046เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท