การนวดเต้านม: วิถีแห่งการเพิ่มน้ำนม


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน

จากการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 4 -7 มิถุนายน 2556 มีเรื่องราวและเกร็ดความรู้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ WORKSHOP 1 การนวดเต้านม: วิถีแห่งการเพิ่มน้ำนมโดยคุณอังสนา วงศ์ศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการคลินิกนมแม่โรงพยาบาลบุรีรัมย์

ในยุคปัจจุบันผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการนวดเต้านมโดยเฉพาะในกลุ่มแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาน้ำนมไม่ไหล น้ำ นมน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ถือเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ ทั้งที่มีความตั้งใจแต่แรกว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง จำต้องหันไปพึ่งพานมผงอย่างน่าเสียดาย การนวดเต้านมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่หวังว่าจะทำให้แม่กลับมาทำหน้าที่แม่ได้อย่างสมบูรณ์ และไม่ต้องพึ่งพานมผงอีกต่อไป

"การนวด" เป็นศาสตร์มหัศจรรย์และเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีการศึกษาและสืบทอดศาสตร์กันในวงกว้าง นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสืบมาการนวดจึงปรากฏให้เห็นในแทบทุกทวีปของโลกเป็นการบำบัดที่เอาใจใส่ทั้งร่างกายจิตใจและอารมณ์ การนวดที่ดีต้องทำอย่างตั้งใจมีความรักและเมตตา ใส่จิตใจลงไปในขณะที่นวดด้วยจังหวะและการลงน้ำหนักมือ เป็นไปตามความรู้สึกของผู้นวด ผู้ทำการนวดที่ดีจะมีมืออุ่นหรือพลัง "ซี่" ถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้สำหรับการนวดเต้านมนั้น ในทางการแพทย์มีวิธีการหลากหลาย ตั้งแต่ต้นทุนราคาต่ำไปจนถึงราคาสูง แต่วีธีการที่ง่าย สะดวก ประหยัด และปลอดภัย ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้คือ การนวดด้วยมือ

วัตถุประสงค์ของการนวดเต้านม ในระยะหลังคลอดเพื่อส่งเสริม และกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำนม เนื่อง จากในเต้านมมีเนื้อเยื่อที่มีความอุดมสมบูรณ์ของหลอดเลือด และน้ำเหลือง การนวดจะช่วยหมุนเวียนการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เนื้อเยื่อคลายตัวและส่งเสริมการระบายน้ำเหลืองตามธรรมชาติและ ระดมเนื้อเยื่อต่างๆให้ช่วยกันผลิตน้ำนม เป็นการเพิ่มความมีชีวิตชีวาต่อระบบของการสร้างน้ำนม โดยปกติแล้วน้ำเหลืองไหลเวียนดีจากการที่ร่างกายเคลื่อนไหว หรือจากแรงภายนอกมากระตุ้น เมื่อได้รับการนวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายก็ถูกกระตุ้นให้ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันและจัดการกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย ดังนั้นคุณประโยชน์ของการนวดจึงสรุปได้ดังนี้

- กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด ทำให้ยืดคลาย ลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของร่างกายสะดวกขึ้น

- การไหลเวียนของโลหิต ทำให้หลอดเลือดยืดขยายการไหลเวียนของเลือดแรงขึ้นทำให้ร่างกายสดชื่น เสริมสร้างการทำงานของอวัยวะ ช่วยการระบายน้ำนมใระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

- ระบบประสาท ทำให้เกิดการกระตุ้นของระบบประสาท ความรู้สึกตอบสนองต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความตื่นตัวในการทำงาน

- อารมณ์และจิตใจ ทำให้ผ่อนคลาย รู้สึกอบอุ่น

- ป้องกันมะเร็งเต้านม

- ลดริ้วรอยของแผลเป็น และรอยแตกลายของผิวบริเวณเต้านม

- การนวดเต้านมด้วยตนเอง ช่วยให้เพิ่มความตระหนักในการตรวจสอบก้อนในเต้านม

วิธีการนวดเต้านม

ท่าที่ 1 ผีเสื้อขยับปีก (butterfly stroke)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง ผู้นวดใช้ฝ่า มือมือวางนาบลงบริเวณเต้านมด้านในของผู้ถูกนวด ในแนวเฉียงเล็กน้อย นิ้วแต่ละข้างชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวน

ท่าที่ 2 หมุนวนปลายนิ้ว (fingertip circles)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง ผู้นวดใช้อุ้งมือขวารองเต้านมขวาของผู้ถูกนวดไว้ พร้อมกับใช้ปลายนิ้วทั้ง4 ของมือซ้ายวางนาบลงบริเวณเหนือลานหัวนม แล้วนวดโดยการหมุนวนไปรอบๆ เต้านมลงน้ำหนักพอประมาณ 5 รอบ จากนั้นสลับนวดทีละเต้า

ท่าที่ 3 ประกายเพชร (diamond stroke)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง ผู้นวดใช้ฝ่ามือขวาวางทาบลงเต้าขวาด้านขวา ฝ่ามือซ้ายวางทาบเต้าขวาด้านซ้าย นิ้วหัวแม่มือทั้ง2 กางออกตั้งฉากกับนิ้วทั้งหมด ในลักษณะประคอง จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อมๆกับเลื่อนมือลงไปที่ลานหัวนม ทำสลับขึ้นลง ลงน้ำหนักแน่นพอควร

ท่าที่ 4 กระตุ้นท่อน้ำนม(Acupressure point I)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง ผู้นวดใช้มือซ้ายวางไว้ที่ไหล่ขวาผู้ถูกนวด กำมือ ขวาเหลือเพียงนิ้วชี้ วางลงบริเวณขอบนอกของลานหัวนม (โดยวัดตำแหน่งการวางจากฐานหัวนมออกไปหนึ่งข้อนิ้วหัวแม่มือ) กดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตำแหน่งเดียวกัน ขยับนิ้วเปลี่ยนตำแหน่ง กดและวนนิ้วในลักษณะเดิมโดยไม่ให้สัมผัสกับหัวนม

ท่าที่ 5 เปิดท่อน้ำนม (Acupressure point II)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง การวัดตำแหน่งผู้นวดใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบลงเหนือฐานหัวนมด้านบน ใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา ตำแหน่งที่ได้คือ การวางของนิ้วชี้ข้างซ้าย ใช้มือขวาวางที่ข้างแขนของผู้ถูกนวด มือซ้ายใช้นิ้วชี้ กดและหมุนวนลงในตำแหน่งที่วัดได้ คลายการกดลง แล้วกดซ้ำทำในลักษณะเดิม 5 ครั้ง

ท่าที่ 6 พร้อมบีบน้ำนม (final steps)

วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวด ผู้ถูกนวดนั่งหลังตรง ในขั้นตอนสุดท้าย จะมีทั้งหมด 4 ท่า ทำให้ครบทั้งหมดแล้วจึงเปลี่ยนข้าง และทำเช่นเดิม โดยทุกขั้นตอนจะไม่สัมผัสถูกหัวนม

ท่าที่ 1 ผู้นวดใช้มือขวาประคองโอบด้านล่างของเต้าไว้ในอุ้งมือ ใช้นิ้วชี้ข้างซ้าย กดและหมุนวนไปโดยรอบลานหัวนม

ท่าที่ 2 ผู้นวดใช้ นิ้วหัวแม่มือขวา วางลงขอบนอกของลานหัวนมด้านบน นิ้วชี้วางด้านตรงข้าม กดนิ้วเข้าหากันพร้อมกับคลึงไปมา อย่างนุ่มนวล

ท่าที่ 3 ผู้ นวดใช้เฉพาะนิ้วชี้ ทั้งมือซ้ายและขวา วางนิ้วให้นาบลงที่ขอบลานหัวนมทั้งสองข้าง ปลายนิ้วชี้ลงพื้น ออกแรงกดข้างนิ้วทั้งสองเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลาย สลับกัน

ท่าที่ 4 ผู้นวดใช้ นิ้วหัวแม่มือขวา วางลงขอบนอกของลานหัวนมด้านบน นิ้วชี้วางด้านตรงข้าม เป็นรูปตัว C ออกแรงกดนิ้วเข้าหากัน ในลักษณะบีบ-คลาย สลับกัน เป็นการบีบน้ำนมในขั้นตอนสุดท้าย

เคล็ดลับการนวดเต้านม

-ใช้น้ำมันบริสุทธิ์ขณะที่นวด เพื่อเพิ่มความหล่อลื่น และช่วยในการขับน้ำนมด้วยสรรพคุณของสมุนไพรเช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันยี่หร่า น้ำมันตะไคร้ น้ำมันมะลิ เป็นต้น

-นวดอย่างนุ่มนวล การลงน้ำหนักไม่เบาหรือไม่หนักจนเกินไป

-หากการนวดมีประสิทธิภาพ จะสัมผัสได้ถึงความร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านม

-ควรนวด หรือนวดขณะอาบน้ำ เป็นประจำทุกวัน

ข้อควรระวังในการนวดเต้านม

-ไม่นวดอย่างรุนแรงหรือนานจนเกินไปอาจทำให้เกิดการฟกช้ำ

-ไม่สัมผัสถูกหัวนมตลอดการนวด

-ไม่สวมเครื่องประดับทุกชนิด เล็บตัดสั้น

ข้อห้ามในการนวดเต้านม

-ผู้ที่เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น

-เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย

-มีบาดแผลบริเวณเต้านม

เอกสารอ้างอิง

ยงศักดิ์ตันติปิฎก (บรรณาธิการ). ตำราการนวดไทยเล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา :2552.

มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา. คู่มือครูหมอนวดไทย เล่มที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา :2553

Arugaan Mother Support Group. 2556. The synopsis of the workshop on Increasing Milk Supply and Relactation: The Power of Lactation Massage Skills, January 25, 2013. Bancha Lamsam Auditorium, Samitivej Sukhumvit Hospital.

บทความโดย พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

หมายเลขบันทึก: 549953เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนน้องอาร์ม  ผู้เชี่ยวเรื่องนมๆๆๆ

ได้เรียนรู้เรื่องผู้หญิง และเรื่องนมๆ

บังหีมค่ะ

ได้ความรู้จากคุณหมอ และผู้ชำนาญการฯค่ะ อาร์มเอามาสื่อสารบอกต่อ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท