แนวคำตอบข้อสอบอัตนัยรุ่นที่ 31 คำฟ้องแพ่ง


ข้อ 1.โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีนายแดง อาทิตย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์ประกอบกิจการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิค เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศรายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของบริษัท ของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการเงินและคอมพิวเตอร์โดยมีนายโท เป็นสอง ตกลงทำสัญญายอมผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้นกับโจทก์อันเนื่องมาจากการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อ โจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2

จำเลยที่ 3 เป็นบุตรและเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวที่มีสิทธิรับมรดกของนายโท เป็นสอง ซึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2551 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบมรณะบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 2.ในการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลสำคัญที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ คือ แบบผลิตภัณฑ์ใหม่ กรรมวิธีและต้นทุนการผลิต และรายชื่อลูกค้าของโจทก์ โดยโจทก์ได้เก็บรักษาไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้รหัสในการเข้าถึงระบบและเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งรู้เฉพาะกรรมการของบริษัทโจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้น

ระหว่างเดือนมกราคม 2550 ถึงเดือนมกราคม 2551 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการเงินและคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลสำคัญในคอมพิวเตอร์ของโจทก์

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นเป็นลูกจ้างของโจทก์ให้ลักลอบเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 เอาข้อมูลสำคัญและเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไปให้แก่จำเลยที่2 เพื่อจำเลยที่ 2 จะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิคจำหน่ายโดยมิชอบ เพื่อนำกำไรมาแบ่งปันกันระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 1 ได้ลักลอบเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลดังกล่าวโจทก์ และได้ทำสำนำซึ่งเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ คือแบบผลิตภัณฑ์ใหม่รวม 10แบบ รายชื่อลูกค้าสำคัญ กรรมวิธีและต้นทุนการผลิตสินค้าทั้งหมด จากระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้มอบสำเนาข้อมูลที่ลักลอบมานั้นให้จำเลยที่ 2 ไปในวันเดียวกัน ข้อมูลแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้ง 10 แบบ ซึ่งจำเลยที่ 1 ลักลอบเอาไปมอบให้จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์กำลังจะทำการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้ลูกค้าต่างประเทศของโจทก์ในยุโรปช่วงปลายปี 2550

ข้อ 3.ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม 2550 จำเลยที่ 2 ได้เอาข้อมูลซึ่งเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ที่ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในคำฟ้อง ข้อ 2 นั้นไปใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิคโดยมิชอบและส่งไปขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ทุกรายในประเทศยุโรป และลูกค้าของโจทก์ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจากจำเลยที่ 2 ไว้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเดือนธันวาคม 2550 โจทก์ได้ผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิคแบบใหม่ทั้ง 10 แบบนั้นตามข้อมูลของโจทก์ และเสนอขายไปยังลูกค้าของโจทก์ในประเทศยุโรป ปรากฏว่าลูกค้าทุกรายปฏิเสธไม่รับซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ของโจทก์ โดยแจ้งกลับมาว่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคทั้ง 10 แบบนั้นจากจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว

ข้อ 4.การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนี้

4.1ค่าเสียหายจากโอกาสที่โจทก์จะได้กำไรจากการขายผลิตภัณฑ์เซรามิคแบบใหม่ของโจทก์ทั้ง 10 แบบ เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)

4.2 ค่าเสียหายจาการที่ท่านละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) รวมค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน)

จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายโท เป็นสอง ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ จึงต้องร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 และ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) จำเลยทั้งสาม จึงต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชอบใช้เงินจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันทำละเมิด คือ 31 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้ง 3 จะร่วมกันหรือแทนกันชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน ซึ่งดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 10,500,000 (สิบล้านห้าแสนบาทถ้วน) โดยจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ในต้นเงิน 10,000,000 บาท เพียง 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 3 จะร่วมกัน หรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน ซึ่งดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,250,000 บาท (ห้าล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

ก่อนฟ้องโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความ มีหนังสือทวงถามส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามได้รับแล้วเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับของบริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัดเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4-9

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยทั้งสามได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับจำเลยทั้งสามต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คำขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 10,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันหรือแทนกันชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียง 5,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 3 จะร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน

ข้อ 2 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์

คำสำคัญ (Tags): #คำฟ้องแพ่ง
หมายเลขบันทึก: 549555เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2013 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท