HITAP
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ไฮแทป Health Intervention and Technology Assessment

"ชัดแจ๋ว" โครงการเพื่อเด็กไทยได้มีสายตาดี


นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ "เด็กคนหนึ่ง" จะสูญเสียโอกาสในการเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพียงเพราะความไม่รู้ของผู้ใหญ่

ท่านทราบหรือไม่ว่า ความผิดปกติทางสายตาในเด็กสามารถแก้ไขได้หากเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 6 ขวบ

แล้วท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหลานของท่านมีสายตาผิดปกติ ในเมื่อมีแต่ตัวเด็กเองเท่านั้นที่บอกได้ว่า มองเห็นภาพชัดแจ๋ว หรือเห็นภาพมัวๆ แล้วถ้าเด็กคนนั้นเกิดมาพร้อมสายตาผิดปกติ เขาย่อมไม่รู้ความแตกต่างระหว่างการมองเห็นชัดและไม่ชัด ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีวิธีดูอย่างไรว่าเด็กคนนั้นมีสายตาผผิดปกติ

"เด็กโง่" ในสายตาของผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการ

เด็กที่มีสายตาผิดปกติมักมีพฤติกรรมต่างจากเด็กคนอื่นๆ เช่น มักเดินสะดุด ซุ่มซ่าม ตกบันได เรียนไม่ทันเพื่อน อ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนหนังสือตัวเอียงหรือเขียนไม่สวย ฯลฯ จนผู้ใหญ่มักตัดสินเด็กคนนั้นว่า "เด็กดื้อ" หรือ "เด็กโง่" และหยุดความพยายามที่จะพัฒนาเด็กคนนั้นให้เท่าเทียมเด็กคนอื่นๆ จึงนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่เด็กคนหนึ่งจะสูญเสียโอกาสในการเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพียงเพราะความไม่รู้ของผู้ใหญ่

จักษุแพทย์เด็ก คือ ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถบอกได้และรักษาได้ แต่หากต้องการให้เด็กทั้งประเทศได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์เด็กนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะทั้งประเทศมีจักษุแพทย์เด็กแค่เพียงประมาณ 100 คนเท่านั้น!

โครงการ "ชัดแจ๋ว" หรือ โครงการวิจัยการพัฒนาระบบคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กก่อนวัยประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยและ HITAP เป็นโครงการที่ต้องการทดลองให้คนที่ใกล้ชิดเด็กที่สุดคนหนึ่ง นั่นคือ ครู เป็นผู้ตรวจคัดกรองสายตาเด็กที่โรงเรียน ก่อนที่จะให้จักษุแพทย์เป็นผู้ตรวจซ้ำและรักษา ในกรณีที่เด็กต้องได้รับแว่นสายตาก็จะมีบริการให้ฟรี ผลการวิจัยพบว่าระบบนี้สามารถคัดกรองเด็กสายตาผิดปกติได้จริง แม้การตรวจสายตาโดยคุณครูจะมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม 

"เด็กแว่น" เป็นเด็กที่มีบุคลิกไม่ดี?

นอกจากนี้ โครงการยังพบข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับ ทัศนคติของผู้ปกครองเกี่ยวกับการใส่แว่น ได้แก่

ผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังเชื่ออย่างผิดๆ ว่า สายตาผิดปกติในเด็กสามารถหายเองได้เมื่อเด็กโตขึ้น หรือเชื่ออย่างผิดๆ ว่า การใส่แว่นตั้งแต่เด็กจะยิ่งทำให้ความผิดปกติเลวร้ายมากขึ้นและยิ่งทำให้เด็กเสียบุคลิก

ผู้ปกครองที่พาเด็กไปตัดแว่นเองตามร้านทั่วไปไม่ทราบว่า การตรวจสายตาเด็กและตัดแว่นสายตาเด็กจะต้องทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น เนื่องจากการตรวจสายเด็กและตัดแว่นเด็กจะไม่เหมือนกับตัดแว่นผู้ใหญ่ตามร้านทั่วไป และสายตาเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ หนึ่งปี จึงจะต้องมีการตรวจซ้ำหรือเปลี่ยนแว่นทุกหนึ่งปี

มองเห็นชัดแจ๋ววันนี้ มีอนาคตดีกว่าในวันหน้า

ข้อเท็จจริงที่ผู้ปกครองและคุณครูควรทราบคือ หากไม่รักษาสายตาผิดปกติตั้งแต่เด็ก จะทำให้เป็น "โรคตาขี้เกียจ" คือ การที่สายตาทั้งสองข้างมองเห็นไม่เท่ากันเพราะมีพัฒนาการไม่เท่ากัน เช่น หากข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัดตั้งแต่เด็ก หากพ้นหกขวบไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้และจะมองไม่ชัดไปอย่างนี้ตลอดชีวิต 

และข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การมองเห็นชัดเจนในเด็ก เป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาสมอง เช่น การเรียนรู้สิ่งรอบตัว 

เด็กคืออนาคตของชาติ แต่ถ้าผู้ใหญ่ในวันนี้ไม่เห็นความสำคัญของการมองเห็นของเด็ก อนาคตชาติอาจจะดูเลือนรางเช่นภาพที่เด็กมองเห็นในวันนี้

ขณะนี้โครงการ "ชัดแจ๋ว" กำลังประเมินความเป็นไปได้ของการให้ "ผู้ปกครอง" เป็นผู้ตรวจสายเด็ก 

โปรดติดตามความคืบหน้าได้ที่ www.hitap.net

หรือดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ http://hitap.net/research/10655

หรือดาวน์โหลดบทความที่เกี่ยวข้อง 

http://hitap.net/blogs/12157

http://hitap.net/blogs/11998

หรือชมวิดีโอคณะวิจัยลงพื้นที่ 14 โรงเรียนทั่วประเทศไทยเพื่อทดลองให้ครูเป็นผู้ตรวจคัดกรองสายตาเด็กได้ที่

http://www.youtube.com/watch?v=nhbq37eSbL4

หมายเลขบันทึก: 548171เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่าน

มาเขียนอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท