องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ตอนที่ 1 (จาก 2)


จากสภาพสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามความเจริญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบที่เชื่อมโยงถึงกัน ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว  สังคม  องค์กร  และประเทศ ด้วยเหตุของการพัฒนาที่มีเป้าหมายของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อมุ่งตอบสนองความพึงพอใจของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนเพียงบางส่วน แต่ขาดการคำนึงถึงหลักคุณธรรม จริยธรรมซึ่งกระทบมากมายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ สภาวะจิตใจของคน ซึ่งเป็นเหตุก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม และยังเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาที่ยั่งยืน  เหตุนี้ในปัจจุบันทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนจึงหันมามองสิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคลแต่ละคนมากขึ้นนั่นคือ “ความสุข” ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ

ประเทศ ภูฏาน เป็นประเทศที่สร้างความตื่นตัวให้กับนานาประเทศด้วยการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH) มากกว่า GDP ในการวัดความอยู่ดีกินดีและความสงบสุขของประชากร ตั้งแต่ พ.ศ.2515 เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศ ภายใต้นโยบายสำคัญ 4 ประการ คือ (1) การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ (4) ธรรมาภิบาล โดยในปี 2548 รายงานสำมะโนประชากรและเคหะของภูฏาน พบว่า ประชากรทั้งประเทศมีความสุข ร้อยละ 96.7 และได้มีการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของประชากรภูฏาน  ออกเป็น 10 องค์ประกอบ ซึ่งมีการสำรวจทุกปีได้แก่ 1) ความอยู่ดีมีสุขทางใจ ที่พิจารณาในด้านสุขภาพ  ความสุขทางวัตถุ  ความสมดุลในด้านงานกับชีวิต และสัมพันธภาพ  2) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3) การศึกษา 4) สุขภาวะ  5) การใช้เวลาและความสมดุล 6) การบริหารจัดการที่ดี 7) ความเข้มแข็งของชุมชน 8) การดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ  9)มาตรฐานการดำรงชีพ  และ 10) เกษตรกรรม 

สำหรับประเทศไทยมีการนำ “ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข” มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ต่อเนื่องมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมและคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1) สุขภาพอนามัยและโภชนากร  2) การศึกษา 3) ชีวิตการทำงาน 4) ชีวิตครอบครัว  5) การเติบโตทางเศรษฐกิจ  ความยากจน  การกระจายรายได้และสวัสดิการ 6) สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  และ 7) ประชารัฐ และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) มีเป้าหมายมุ่งไปสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เพื่อเป็นเครื่องมือติดตามประเมินผลกระทบการพัฒนาที่มีต่อคนในสังคมไทย

ประเทศไทย ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร  สำนักงานกอบทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สร้างแนวทางการสร้างสุขในที่ทำงานขึ้น เป็นความสุขพื้นฐาน 8 ประการ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์หลายมิติ ได้แก่       1) ด้านการมีสุขภาพดี (Happy Body) , การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Happy Heart), การรู้จักผ่อนคลาย (Happy Relax), การมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวมีคุณธรรมประจำใจ (Happy Soul) มีเศรษฐกิจการเงินที่ดี (Happy Money), การพัฒนาความรู้ (Happy Brain), การมีครอบครัวที่ดี (Happy Family), และมีสังคมที่มีความสุข (Happy Society) เป็นตัวชี้วัด การสร้าง “ความสุขมวลรวมของการทำงาน” ในทุกๆองค์กร เพื่อนำมาประมวลรวมกันสะท้อนความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตของประชาชน(กกกร  ขลายแย้มและอธิวัฒน์  เจี่ยวิวรรธน์กุล : 2554)

 

บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอ องค์ความรู้เกี่ยวกับองค์กรแห่งความสุข  ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรก  ความหมาย ขององค์กรแห่งความสุขเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในความหมาย ความสำคัญขององค์กรแห่งความสุข  ส่วนที่สอง กรอบแนวคิดของสุขภาวะในการทำงาน และส่วนที่สาม แนวทางในการสร้างองค์กรแห่งความสุข 

ชาญวิทย์  วสันต์ธนารัตน์

: องค์กรที่สร้างความสุขในการทำงาน โดยทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสร้างความสุขให้เกิดในที่ทำงาน ทำให้ที่ทำงานเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของคนทำงาน

Dive, 2004

: องค์กรที่สามารถบรรลุถึงพันธกิจที่ตั้งไว้พร้อมกับมีความสามารถในการเติบโตและพัฒนาบุคลากรในองค์กรไปพร้อมๆกัน

Lowe, 2004

: องค์กรที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพของพนักงานและผลการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น

Smet,Loch,Schaninger,2007

: องค์กรที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานได้ดี  พนักงานมีจุดมุ่งหมายร่วมกับองค์กรมุ่งเน้นการปรับกระบวนการทำงานใหม่และมีแนวทางการปฏิบัติงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน

จากความหมายดังกล่าว  สรุปได้ว่า  องค์กรแห่งความสุข  คือ องค์กรที่สามารถกระตุ้น  จูงใจ สร้างความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจให้ทุกคนในองค์กร สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พร้อมปฏิบัติภารกิจขององค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของ องค์กรแห่งความสุข

          องค์กรแห่งความสุข เป็นแนวคิดหลักที่มุ่งดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “คนทำงานในองค์กร”ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว  องค์กร  ชุมชน และสังคม มีการส่งเสริมและพัฒนานโยบาย  การสร้างองค์ความรู้และการขับเคลื่อนเครือข่ายในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน  ด้วยเป็นความสำคัญว่า เมื่อคนทำงานในองค์กรมีความสุข  ย่อมส่งผลดีต่อผลประกอบการหรือผลผลิตขององค์กร  ความผาสุกในครอบครัว ชุมชน ส่งผลต่อสังคมที่มีความสุขที่ยั่งยืน

การสร้างความสุขในที่ทำงาน นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารองค์กร มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดการรังสรรค์ทางความคิด งานที่ได้รับมอบหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความตึงเครียดจากการทำงาน และสภาพแวดล้อมลดความขัดแย้งในองค์กรความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำงานเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้พฤติกรรมคนปรับเปลี่ยนและพัฒนาในแนวโน้มที่ดีขึ้น

กรอบของสุขภาวะในที่ทำงาน (WHO : Healthy Workplace Framework)

          องค์การอนามัยโลก (Burton, 2010) ได้กำหนดแนวทางของการสร้างเสริมสุขภาวะในที่ทำงานขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตและการแข่งขัยขององค์กรนั้น องค์กรจะต้องพิจารณาแนวทาง 4 ด้าน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.    สภาพแวดล้อมทางกายภาพ หมายถึง ส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงาน เช่น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อากาศ  เครื่องจักร  เฟอร์นิเจอร์  ผลิตภัณฑ์  เคมี  วัสดุ และกระบวนการที่ปรากฏในสถานประกอบการ  ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ตลอดจนสุขภาวะและความเป็นอยู่ของพนักงาน  สภาพแวดล้อมทางกายภาพนับเป็นพื้นฐานของความปลอดภัยและสุขภาวะในการประกอบอาชีพ และส่งผลกระทบต่อการทำงาน  ความเจ็บป่วย  การบาดเจ็บ และอาจก่อให้เกิดการพิการหรือเสียชีวิตได้

2.    สภาพแวดล้อมทางจิตสังคม  หมายถึง องค์กร  การทำงานวัฒนธรรมองค์กร  ทัศนคติ  ความเชื่อ  ค่านิยม และการปฏิบัติ และส่งผลกระทบต่อความผาสุกของพนักงานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้ เช่น การขาดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในองค์กร  ขาดการสนับสนุนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาวะ  เป็นต้น

3.    แหล่งของสุขภาวะบุคคลในที่ทำงาน  หมายถึง  สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนบริการสุขภาพ  ข่าวสาร  ทรัพยากรและโอกาสที่บริษัทหรือองค์กรจัดเตรียมไว้สำหรับพนักงาน หรือสนับสนุน หรือกระตุ้นเพื่อปรับปรุง  หรือคงไว้ซึ่งวิธีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะ  มีการติดตามและสนับสนุนทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต 

4.    ชุมชนบริษัท   เป็นความเชื่อมโยงของชุมชนและบริษัท  อันประกอบด้วย กิจกรรม ทักษะ ความเชี่ยวชาญและแหล่งทรัพยากรอื่น ๆ ความผูกพันของบริษัท  สภาพชุมชนทั้งทางกายภาพและสังคม  ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ  ความปลอดภัยและความผาสุกของพนักงานและครอบครัว

สำหรับประเทศไทย นายแพทย์ชาญวิทย์  วสันต์ธนารัตน์ (2553) ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  กล่าวถึง องค์กรที่มีความสุขว่าจะต้องประกอบด้วยหัวใจสำคัญหลายอย่าง คือ การทำงานเป็นทีม (Teamwork) การมีความสุข  (happy)  มีความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่ความก้าวหน้า (creativity) โดยได้เสนอแนวคิดและหลักการสร้างองค์กรแห่งความสุข  แบบความสุข 8 ประการ คือ

 

1.       Happy body มีสุขภาพดี สุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจมาจากการที่รู้จักใช้ชีวิต รู้จักกิน รู้จักนอน ชีวิตมีความสุข

2.       Happy heart มีน้ำใจงาม สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการที่มนุษย์จะอยู่กับคนอื่นได้ต้องมีน้ำใจคิดถึงคนอื่น เอื้ออาทรต่อกัน เพราะคนเราอยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ ต้องรู้จักแบ่งปันอย่างเหมาะสม

3.       Happy relax การผ่อนคลาย ต้องรู้จักผ่อนคลายสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกกดดันมากเกินไป หากทำงานเครียดก็ต้องมีวิธีผ่อนคลายในการทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัวก็ด้วย ต้องรู้จักผ่อนคลายให้เหมาะสม

 4.   Happy brain การหาความรู้ มนุษย์เราอยู่ได้ด้วยการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นมืออาชีพและเกิดความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงาน หรือพูดง่ายๆ คือ เรียนเพื่อรู้ และสอนคนอื่นได้ในงานที่ตนรู้

         5.  Happy soul การมีคุณธรรมอันเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคม คือการมี หิริโอตตัปปะ ในการทำงานเป็นทีม หิริโอตตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำของตนเองโดยเฉพาะการกระทำที่ไม่ดี คนดีมีคุณธรรมนำมาซึ่งความสุขขององค์กร เพราะคนมีความศรัทธาในศาสนาและมี ศีลธรรมในการดำเนินชีวิต

1.    Happy money รู้จักใช้เงินให้เป็น สามารถจัดการรายรับรายจ่ายของตัวเองได้ มีเงินรู้จักเก็บรู้จักใช้ เป็นหนี้ให้พอดี มีชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะวันนี้คนปฏิเสธการเป็นหนี้ไม่ได้ แต่สามารถจัดการค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับตนเองได้

2.    Happy family ครอบครัวที่ดี การให้ความสำคัญกับครอบครัวทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมั่นคง เกิดกำลังใจที่ดีในการทำงาน เหมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้เผชิญกับอนาคตหรืออุปสรรคในชีวิตได้

3.    Happy society สังคมดี สังคมมีสองมิติ คือ สังคมในที่ทำงานกับสังคมนอกที่ทำงาน มนุษย์ทุกคนต้องมีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อสังคมที่ตนเองอยู่อาศัย เพื่อให้เกิดสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีตามมา

การสร้างความสุขในที่ทำงานไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งในองค์กร เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดในที่ทำงาน ทำให้ที่ทำงานเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของคนทำงาน

แนวทางการสร้างองค์กรแห่งความสุข

          การสร้างองค์กรแห่งความสุข ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จนั้นองค์กรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  มีระบบการจัดการและการร่วมมือทั้งในด้านองค์ความรู้และการวิจัยปฏิบัติการ ซึ่งหลักสำคัญที่เป็นแกนกลางจะต้องปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ  คือ  ความเป็นผู้นำ (Leadership  engagement)  การมีส่วนร่วมของพนักงาน (worker involvement) ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมและ    การให้คุณค่า (values and ethics)  

          ความเป็นผู้นำ Leo J Hindery  (ทศ  คณนาพรและ พันโทอานันท์  ชินบุตร, 2555 :72-73) ได้เขียนหนังสือเรื่อง It  takes a CEO : It’s time to lead with  integrity ได้เขียนถึงคุณสมบัติของ “ผู้นำองค์การในอนาคต” ที่น่าสนใจมากคือ

1.       Bright. Well educated  and  well-informed : เป็นคนเฉลียวฉลาด  การศึกษาดี และมีข้อมูลพร้อม

2.       An  inquiring  mind  : มีจิตใจใฝ่รู้

3.       Articulate  : สามารถสื่อสารถ่ายทอดความคิดออกมาได้เป็นภาพพจน์อย่างชัดแจ้ง

4.       Exceptionally  hard working : ตั้งใจมุ่งมั่นทำงานหนัก

5.       Honest  and  ethical : มีจริยธรรมและความซื่อสัตย์

6.       Demonstrates  a  sense  of  fairness  and  fair  play  : แสดงออกให้เห็นถึงการมีความเป็นธรรมและยอมรับการแข่งขันอย่างยุติธรรม

7.       Lives  life  with  grace  : ตั้งมั่นบนชีวิตแห่งความโอบอ้อมอารีและรู้จักให้อภัย

8.       Loves  peple  : รักผู้คน

9.       Hates  bigotry : ไม่ดันทุรัง  เกลียดการดูถูกเหยียดหยาม

10.   Shows  courage : แสดงออกซึ่งความกล้าหาญ

11.   Take (smart)risks : ยอมรับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด

12.   Make  tough  decisions  in  a  timely  way : สามารถตัดสินใจในเรื่องยากๆได้ภายในเวลาอันเหมาะสม

13.   Acts on conviction : สามารถดำเนินการบางอย่างเพื่อยอมรับความผิด

14.   Demonstrates  patience-up to a point : มีความอดกลั้นได้ถึงในระดับหนึ่ง

15.   Spots  talent  and  keeps  on  looking : รู้จักเลือกและแสวงหาคนเก่ง

16.   Delegates  without  second  question : มอบอำนาจให้โดยปราศจากความกังวลใจ

17.   Acknowledges  multiple  constituencies : เปิดเผยและมีความรับผิดชอบต่อบรรดากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

18.   Know  where  the  buck  really  stops : รู้ว่าต้องเป็นผู้ตัดสินใจ  โยนออกไปให้ใครไม่ได้อีกแล้ว

19.   Tolerates  loneliness : ทนสภาพการถูกโดดเดี่ยว 

           การมีส่วนร่วมของพนักงาน (worker involvement)  ผู้นำต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของการทำงานต้องมี “สติ” รู้ตระหนักในหน้าที่อันควรทำและไม่ควรทำทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  มีชีวิตที่มีทั้ง “คุณค่า”และ “คุณภาพ” เพราะความสุขกับความเป็นจริงในปัจจุบัน  สุขอย่างมีสติ และ สุขอย่างมีคุณภาพ  ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีความสำคัญยิ่งต่อองค์กร พนักงานทุกคน คือทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กร  ผู้นำมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างทายาทในการทำงาน  สร้างทีมงานที่แข็งแกร่งให้เป็นที่ยอมรับ  .... อ่านต่อตอนที่ 2 ....

หมายเลขบันทึก: 548013เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2013 05:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2013 05:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท