(วัฏจักร) เศรษฐกิจ (แท้จริง) เป็นอย่างไร...?


       ในพระพุทธศาสนาแนวความคิดสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับ กฎธรรมชาตินั้น ท่านให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพหรือสภาวะของสิ่งเหล่านั้นที่มนุษย์พึงสามารถสังเกตเห็นได้ หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไปในลักษณะที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ล้วนแต่มีที่มาหรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นไปเช่นนั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มนุษย์เป็นได้เพียงผู้ที่ไปค้นพบหลักเกณฑ์ดังกล่าวเหล่านั้น และพยายามทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อก้าวเข้าไปสู่ลู่ทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว

        กระแสสายธารของการดำเนินไปในกฎธรรมชาติ ที่เป็นไปในลักษณะของการอาศัยเหตุปัจจัยในความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันของสิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อให้เข้าได้ง่าย  ๆ ว่า กฎธรรมชาติ (จากหนังสือ : พุทธธรรม : ฉบับปรับปรุงและขยายความ โดยท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)     

            ...มีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวด ที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ  ไตรลักษณ์ และ ปฏิจจสมุปบาท ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ ไตรลักษณ์ มุ่งแสดงลักษณะของสิ่งทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท ส่วนหลักปฏิจจสมุปบาท ก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนมองเห็นลักษณะได้ว่าเป็นไตรลักษณ์       

          กฎธรรมชาตินี้เป็น ธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดาไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใด ๆ กฎธรรมชาตินี้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านี้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลก    

     สำหรับไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติ ว่าดังนี้

         ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า

                  ๑. สังขารทั้งปวง     ไม่เที่ยง.........

                  ๒. สังขารทั้งปวง     เป็นทุกข์.........

                  ๓. ธรรมทั้งปวง       เป็นอนัตตา.........

            ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวง  ไม่เที่ยง.....สังขารทั้งปวง  เป็นทุกข์.....ธรรมทั้งปวง  เป็นอนัตตา.....

         ... ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นว่า ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ท่านกล่าวถึงสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ แต่ในข้อ ๓ ท่านกล่าวถึงธรรมทั้งปวงว่า เป็นอนัตตา คือไร้ตัวหรือมิใช่ตน การใช้คำที่ต่างกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความแตกต่างกันบางอย่างระหว่างหลักที่ ๑ และที่ ๒ คือ อนิจจตา และ ทุกขตา กับหลักที่ ๓ คือ อนัตตตา และความแตกต่างกันนี้จะเห็นได้ชัด ต่อเมื่อเข้าใจความหมายของคำว่าสังขาร และคำว่าธรรม

             ธรรมเป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดกระทั่งความไม่มีที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยายประกอบลงไป เพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ  หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้น ๆ ในกรณีนั้นหรือในความแวดล้อมอย่างนั้น ๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น ๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน ดังนี้เป็นต้น

               ธรรมที่กล่าวถึงในหลักอนัตตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ ท่านใช้ในความหมายที่กว้างที่สุดเต็มที่สุดขอบเขตของศัพท์ คือ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดขั้นจำกัด ธรรมในความหมายเช่นนี้ จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรมบ้าง โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมบ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรมบ้าง กุศลกรรม อกุศลกรรม และอัพยากฤตธรรม (สภาวะที่เป็นกลาง ๆ ) บ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม

               ธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกประเภทได้เป็น ๒ อย่างคือ

              ๑. สังขตธรรม ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย หรืออีกย่างหนึ่งว่า สังขาร ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน หมายถึง  สภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน

              ๒. อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน

             โดยนัยนี้ จะเห็นชัดว่า สังขารคือสังขตธรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม แต่ธรรมกินความหมายกว้างกว่า มีทั้งสังขารและนอกเหนือจากสังขาร คือทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและวิสังขาร หรือทั้งสังขารและนิพพาน เมื่อนำเอาหลักนี้มาช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับไตรลักษณ์ จึงสามารถมองเห็นขอบเขตความหมายในหลักสองข้อต้นคือ อนิจจตาและทุกขตา ว่าต่างจากข้อสุดท้ายคืออนัตตตาอย่างไร โดยสรุปได้ดังนี้

            สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ตามหลักข้อ ๑ และข้อ ๒ แห่งไตรลักษณ์ (และเป็นอนัตตาด้วยตามหลักข้อ ๓) แต่อสังขตธรรมหรือวิสังขาร คือนิพพาน ไม่ขึ้นต่อภาวะเช่นนี้

              ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและมิใช่สังขาร คือสภาวะทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งนิพพาน เป็นอนัตตา คือไร้ตัวมิใช่ตน

              อนัตตาเท่านั้น เป็นลักษณะร่วมที่มีทั้งในสังขตธรรมและอสังขตธรรม ส่วนอิจจตาและทุกขตา เป็นลักษณะที่มีเฉพาะในสังขตธรรม ซึ่งทำให้ต่างจากอสังขตธรรม ในพระบาลีบางแห่งจึงมีพุทธพจน์แสดงลักษณะของสังขตธรรมและอสังขตธรรมไว้ เรียกว่า สังขตลักษณะ และอสังขตลักษณะ ใจความว่า          

           สังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นสังขตะ (ว่าเป็นสภาวะที่มีปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น) ของสังขตธรรม มี ๓ อย่างคือ

             ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ

             ๒. ความแตกดับหรือความสลาย ปรากฏ

             ๓. เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปร ปรากฏ 

          ส่วน อสังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นอสังขตะ (ว่ามิใช่สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันทำขึ้นแต่งขึ้น) ของอสังขตธรรม ก็มี ๓ อย่างคือ

            ๑. ไม่ปรากฏความเกิด

            ๒. ไม่ปรากฏความสลาย

            ๓. เมื่อดำรงอยู่ ไม่ปรรากฏความผันแปร

        รวมความมาย้ำอีกครั้งหนึ่งให้ชัดขึ้นอีกว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน พ้นจากภาวะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัวมิใช่ตน ส่วนธรรมอื่นนอกจากนั้นคือสังขารหรือสังขตธรรมทั้งหมด ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังความในบาลีแห่งวินัยปิฎกผูกเป็นคาถายืนยันไว้ว่า

          สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้...

 

         ในทางเศรษฐศาสตร์จากการศึกษาและการสังเกตการเคลื่อนไหวของรายได้ประชาชาติในระยะยาวทำให้ นักเศรษฐศาสตร์พบว่าการหมุนเวียนของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่างๆนั้น จะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงสลับไปสลับมาเหมือนลูกคลื่น (phases) จากระยะที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตจนถึงขีดสุดแล้วค่อยๆ ชะลอตัวลงมาจนถึงจุดต่ำสุด และจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นไปใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรทางเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไป นักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycles) จำแนกออกเป็น ๔ ระยะ คือ

               ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (economic recovery) เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด ในระยะนี้เศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มจะดีขึ้น สินค้าที่เหลือค้างสต็อกเริ่มค่อยๆ ทยอยขายออก ราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น การคาดคะเนกำไรของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น ผู้ผลิตจะหันมาลงทุนในกิจการมากขึ้น ผลิตผลผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานก็จะสูงขึ้น กอปรกับประชาชนเริ่มมีรายได้ดีขึ้น ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินอื่นๆจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้น

                ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (economic prosperity) เป็นระยะที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู มีบรรยากาศแห่งการลงทุนที่ดี ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคาดคะเนกำไรไปในทางที่ดีมากคือมีความมั่นใจ ในอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ การลงทุนต่างๆจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นมาก และสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการได้มากขึ้น เป็นระยะที่มีการซื้อง่ายขายคล่อง เศรษฐกิจจะมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง ราคาของสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อขึ้นมาได้

               ระยะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) เป็นระยะที่ต่อเนื่องกับระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง เมื่อภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่แล้วผลที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือแรงกดดันที่จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น เนื่องจากการที่มีการผลิต การลงทุน และการบริโภครวมเกินกว่ากำลังการผลิตของประเทศ รวมทั้งการที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นเพราะจะต้องแข่งขันกันในการแย่งทรัพยากรการผลิตมาใช้ผลิตสินค้าและบริการในกิจการของตน สภาพการแข่งขันกันผลิตทำให้ราคาและผลตอบแทนลดต่ำลง ผู้ผลิตเกิดความไม่มั่นใจในอนาคตทำให้ลดการลงทุน ส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลง รายได้ของประชาชนน้อยลง สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มที่เลวลง

                ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression) เป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนรวมจะลดลงมาก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ธนาคารและสถาบันการเงินจะเร่งรัดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการชำระเงินต้นและจ่ายคืนดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการขยายวงเงินสินเชื่อออกไป ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะไม่มีความมั่นใจในกำไรและอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ ไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่จะตัดสินใจลงทุน ทำให้การลงทุนชะงักงัน ในที่สุดเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัวลงถึงจุดต่ำสุด ภาวะการซื้อง่ายขายคล่องจะหายไป สินค้าเดิมที่ผลิตออกมาแล้วก็ขายไม่หมด มีสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก มีการลดการผลิต การจ้างงาน เกิดภาวะการว่างงานกระจายตัวโดยทั่วไป ประชาชนไม่ค่อยมีกำลังซื้อเพราะมีรายได้ลดลงมาก

                 สังขตธรรมในหลักพระพุทธศาสนาถือได้ว่า เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่ง เป็นไปในลักษณะของสภาวะที่มีเหตุปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น หรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของเหตุปัจจัย ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน หากย้อนกลับไปเพ่งพินิจ ที่ส่วนประกอบของเศรษฐกิจ ในฐานะสภาวะตัวการและเงื่อนไข จะได้ว่า

 

                 ๑. ความเกิดขึ้นปรากฏในสภาวะวัฏจักรเศรษฐกิจนั้นจะมีความสัมพันธ์กันกับความต้องการและการสนองตอบ ซึ่งก็คือ สภาวะตัวการ ที่สำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระยะเศรษฐกิจฟื้นตัวและรุ่งเรือง

                 ๒. เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปรปรากฏในสภาวะวัฏจักรเศรษฐกิจนั้นจะมีความสัมพันธ์กันกับกระบวนการทางด้านราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน หรือที่เรียกว่า สภาวะเงื่อนไข ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งองค์ประกอบของเงื่อนไขดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือและกลไกในการทำให้กระบวนการทางเศรษฐกิจทรง (ตั้ง) อยู่ได้นั่นเอง โดยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระยะเศรษฐกิจฟื้นตัวและรุ่งเรือง

                  ๓. ความแตกดับหรือความสลายปรากฏในสภาวะวัฏจักรเศรษฐกิจนั้นจะมีความสัมพันธ์กันกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนออกมาในลักษณะการล้มละลายและการตกงานอย่างรุนแรงนั่นเอง โดยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระยะเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ

 

            ในการอธิบาย สังขตลักษณะ ในสภาวะวัฏจักรเศรษฐกิจนั้น แก่นแท้ไม่ไห้พึงยึดติดว่า ความเกิดขึ้นปรากฏ (= ความต้องการ + การสนองตอบ = เศรษฐกิจฟื้นตัว + เศรษฐกิจรุ่งเรือง) เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปรปรากฏ ( = ราคา + การแลกเปลี่ยน + เงิน = เศรษฐกิจฟื้นตัว + เศรษฐกิจตกต่ำ) และความแตกดับหรือความสลายปรากฏ ( = วิกฤติเศรษฐกิจ = เศรษฐกิจถดถอย + เศรษฐกิจตกต่ำ) แต่ที่แยกแยะออกมาก็เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายทำความเข้าใจ ให้เห็นถึงตัวเด่นที่ชัดเจนในแต่ละช่วงของกระบวนการเท่านั้น เกี่ยวเนื่องจาก ความสัมพันธ์ในเหตุปัจจัยที่อาศัยซึ่งกันและกันนั้นจะมีสภาวะ (ธรรม) ของความเกิดขึ้นและความแตกสลายภายในอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดสายไม่ขาดตอน แต่ที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปมองไม่เห็นเป็นเพราะ เหมือนมีสิ่งที่ปิดบังอำพรางซ่อนเร้นสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งท่านเรียกสภาวะ (ธรรม) นี้ว่า สันตติ บังอนิจจลักษณะ(จากหนังสือพุทธธรรม โดยท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์)

 

          ...ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับ หรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปก็ถูก สันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ, สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็นนั้นล้วนแต่มีความเกิดขึ้นและความแตกสลายอยู่ภายในตลอดเวลา แต่ความเกิดดับนั้นเป็นไปอย่างหนุนเนื่องติดต่อกันรวดเร็วมาก คือ เกิด-ดับเกิด-ดับ-เกิด-ดับ ฯลฯ ความเป็นไปต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ยิ่งนั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นว่า สิ่งนั้นคงที่ถาวร เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เหมืนอย่างตัวเราเองหรือคนใกล้เคียงอยู่ด้วยกัน มองเห็นกันเสมือนว่าเป็นอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน สังเกตดู หรือไม่เห็นกันนาน ๆ เมื่อพบกันอีกจึงรู้ว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเดิม แต่ตามความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทีละน้อยและต่อเนื่องจนไม่เห็นช่องว่าง ตัวอย่างเปรียบเทียบพอให้เห็นง่ายขึ้น เช่น ใบพัดที่กำลังหมุนอยู่อย่างเร็วยิ่ง มองเห็นเป็นแผ่นกลมแผ่นเดียวนิ่ง เมื่อทำให้หมุนช้าลง ก็เห็นเป็นใบพัดกำลังเคลื่อนไหวแยกเป็นใบ ๆ เมื่อจับหยุดมองดูก็เห็นชัดว่าเป็นใบพัดต่างหากกัน ๒ ใบ ๓ ใบ หรือ ๔ ใบ หรือเหมือนคนเอามือจับก้านธูปที่จุดไฟติดอยู่แล้วแกว่งหมุนอย่างรวดเร็วเป็นรูปวงกลม มองดูเหมือนเป็นไฟรูปวงกลม แต่ความจริงเป็นเพียงธูปก้านเดียงที่ทำให้เกิดรูปต่อเนื่องติดเป็นพืดไป หรือเหมือนหลอดไฟฟ้าที่ติดไฟอยู่สว่างจ้า มองเห็นเป็นดวงไฟที่สว่างคงที่ แต่ความจริงเป็นกระแสไฟฟ้าที่เกิดดับไหลเนื่องผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนมวลน้ำในแม่น้ำที่มองดูเป็นผืนหนึ่งผืนเดียว แต่ความจริงเป็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านไป ๆ เกิดจากน้ำหยดน้อย ๆ มากมายมารวมกันและไหลเนื่อง สิ่งทั้งหลายเช่นดังตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ถูกต้องมากำหนดแยกมนสิการเห็นความเกิดขึ้นและความดับไป จึงจะประจักษ์ความไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ เป็นอนิจจัง...

 

              ในสภาวะของวัฏจักรเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจฟื้นตัว เศรษฐกิจรุ่งเรือง เศรษฐกิจถดถอย และเศรษฐกิจตกต่ำ) นั้น ถือได้ว่ามีกระบวนการของ ตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) และ เงื่อนไข (ราคา + การแลกเปลี่ยน + เงิน) รวมทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) ผสมปนเปื้อนคลุกเคล้าเข้าด้วยกันในทุกช่วงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปมองไม่เห็น เป็นเพราะ มีสภาวะและเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาปิดบังอำพรางเอาไว้ ทำให้มองข้างสิ่งเหล่านี้ไป เช่น ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและรุ่งเรืองอยู่นั้น แท้ที่จริงก็มีการตกงานและการล้มละลายในธุรกิจบางสาขา แต่ว่าเป็นเพียงส่วนน้อยและที่สำคัญ สภาวะบีบคั้น บังคับจากการซื้อง่ายขายคล่อง รวมทั้งปริมาณเงินที่มีอยู่มากมายในระบบเศรษฐกิจที่ช่วยปิดบังอำพราง ซ่อนเร้นไม่ให้สิ่งเหล่านั้น (ล้มละลายและตกงาน) มีความสำคัญเด่นชัดเจนขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งสามารถอธิบายถึงสิ่งที่บีบคั้น บังคับรวมทั้งปิดบังอำพรางสภาวะตัวการและเงื่อนไขในวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ได้ว่า

        สภาวะตัวการ :

            ๑. ความต้องการ ถูกบีบคั้น บังคับโดย โลภะและถูกปิดบังอำพรางเอาไว้ด้วย อวิชชา

            ๒. การสนองตอบ ถูกบังคับ บีบคั้นโดย การจำกัดของทรัพยากรและถูกปิดบังอำพรางเอาไว้ด้วย เทคโนโลยี (ที่มีแนวคิด (ผิด) ว่า สามารถเอาชนะธรรมชาติได้)

        สภาวะเงื่อนไข :

              ๑. ราคา + การแลกเปลี่ยน + เงิน ถูกบังคับ บีบคั้นโดย การแปรปรวนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในสภาวะตัวการ)และถูกปิดบังอำพรางเอาไว้ด้วย เงื่อนไขหรือนโยบาย เช่น กลไกราคาหรือการแทรกแซงโดยรัฐบาล เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 547486เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2013 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ลึกซึ้ง แน่นด้วยวิชาการ ที่สามารถเทียบเคียงกันได้ดีมากยิ่งเลยครับ

ขอมาศึกษาเรียนรู้นะครับ

ชัดเจนมากครับ

๑. สังขารทั้งปวง     ไม่เที่ยง.........

                  ๒. สังขารทั้งปวง     เป็นทุกข์.........

                  ๓. ธรรมทั้งปวง       เป็นอนัตตา.........

ขอบคุณอาจารย์ชยพร มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...ผมติดตามบันทึกของอาจารย์เสมอและชอบมากครับ...:)

ขอบคุณอาจารย์ขจิต มากครับที่แวะมาให้กำลังใจเสมอ...ผมติดตามและชื่นชมกิจกรรมด้านจิตอาสาของอาจารย์มากครับ...:)

ขอบคุณมากครับ...สำหรับกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้จากทุก ๆ ท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท