ปัญหาการศึกษาไทย : ความท้าทายที่ต้องจัดการด้วยข้อมูล ปัญญา และมโนธรรม


 

เครดิตภาพ : Kroobannok.com

 

ผู้เขียนได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยล่าสุด ในการประชุมของ World Economic Forum (WEF) - The Global Cometitiveness Report 2012-2013 ซึ่งเป็นการประชุม "เวทีเศรษฐกิจโลก" ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ  ซึ่งมีรายงานว่าการศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 ของอาเซียนรองจากเวียตนามและกัมพูชา อีกทั้งผลการทดสอบการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ PISA เราก็อยู่ในอันดับน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด แต่แทนที่ผู้เกี่ยวข้องจะรีบเร่งศึกษาปัญหาให้ชัดเจนถึงสาเหตุที่มา และกำหนดแนวนโยบายเพื่อแก้ปัญหา เรากลับบอกว่าต้องมาดูว่าการจัดอันดับดังกล่าวน่าเชื่อถือเพียงใด ทั้งๆที่ข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งจากหลายองค์กรก็ออกมาในรูปเดียวกัน โดยเฉพาะผลสอบของ PISA ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย ดังนั้นการให้ข่าวว่าจะต้องดูวิธีการจัดอันดับและความน่าเชื่อถือก่อน จึงเป็นเพียงการหาข้อแก้ตัวของผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงมากกว่าที่จะหาทางแก้ไข ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะมันเป็นวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการไทยและนักการเมืองไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว แต่ที่น่าห่วงก็คือวิธีคิดและวัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ มันไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่ก้าวหน้าไปด้วยอัตราเร่งตามความเร็วของยุคดิจิตอล 

อันที่จริงปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยนั้นเราเองก็รู้อยู่แก่ใจดี ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาจัดอันดับเพื่อส่งสัญญาณบอกเรา ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนควรต้องกระตือรือร้นและดำเนินการเชิงรุก เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาให้ถ่องแท้และหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมมาใช้แก้ไขให้ลุล่วงไปให้จงได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากอันดับของเราจะตกลงเรื่อยๆแล้ว มันยังจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของคนไทยในเวทีโลก ฉุดรั้งประเทศให้ล้าหลัง และในที่สุดก็กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวม

ดังนั้น หากจะมีใครที่มีแก่ใจลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงใจแล้ว ผู้เขียนก็ใคร่เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในการแก้ปัญหาการศึกษาไทยนั้น ไม่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะเป็นหัวหอกริเริ่มก็ตาม สิ่งที่ท่านทั้งหลายควรมีควรทำก็คือ ท่านต้องทำงานโดยใช้ข้อมูลความจริงเป็นฐานในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใช้อัตตาหรือความเห็นส่วนตัวเป็นเครื่องตัดสินใจ ท่านต้องลงทุนเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วน แล้วทำการศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ถึงสาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยทั้งหลาย ซึ่งอาจต้องมีการรวบรวมข้อมูลจากทั้งประเทศไปถึงต่างประเทศถ้าจำเป็น และขั้นต่อมาก็คือท่านต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดด้วยสติปัญญามิใช่ด้วยอคติส่วนตน องค์ความรู้ทั้งหลายที่เรามีอยู่ต้องถูกนำมาใช้ ในเมื่อเรามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมากมายทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ คนเหล่านี้ต้องถูกระดมมาร่วมคิดร่วมทำเพื่อการครั้งนี้ เพราะงานนี้มันใหญ่เกินกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการจะทำคนเดียวเสียแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือทุกสิ่งอย่างที่ท่านทำไปนั้น ต้องตั้งอยู่บนมโนธรรมที่บริสุทธิ์ เพื่อให้ทุกการตัดสินใจเป็นไปเพื่อการศึกษาและประชาชนโดยแท้จริง เพราะที่ผ่านมานั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การตัดสินใจต่างๆของฝ่ายการเมืองก็ดี ฝ่ายข้าราชการก็ดี มักมีการแอบแฝงประโยชน์ส่วนตนไว้ในการตัดสินใจเสมอๆ จนหลายๆเรื่องที่ปรากฏออกมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เช่น การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมากว่าสิบปีก็ไม่ได้ส่งผลดีใดๆต่อคุณภาพการศึกษาเลย นอกจากทำให้ข้าราชการในกระทรวงฯมีตำแหน่งที่สูงขึ้นและมีอำนาจมากขึ้น หรือแม้แต่การตั้งองค์กรมหาชนหรือองค์กรพิเศษในกำกับทั้งหลาย ก็ไม่ได้ช่วยยกระดับการศึกษาได้ซักเท่าไรนอกจากเป็นแหล่งงานและแหล่งรายได้ของคนบางพวกบางกลุ่มเท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันกลับมาทำงานกันอย่าง "จริงจัง" ด้วยกายและสมองจริงๆเสียที เลิกสร้างภาพ เลิกแอบแฝงประโยชน์ส่วนตน และหันมาใช้ข้อมูล ปัญญา และมโนธรรมอันบริสุทธิ์เป็นฐานหลักในการตัดสินใจ เพราะมีเพียงทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติได้ 

หมายเลขบันทึก: 547378เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2013 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2013 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การศึกษาไทย..ใครดูแล ...ให้...กระตือรือร้นและดำเนินการเชิงรุก 

...หันกลับมามอง "รากเหง้า" แห่ง ความเป็น "ไทย" มีต้นทุน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตร

มี วัฒนธรรม ที่งดงามสืบสานประเพณี .... มีภูมิปัญญาดี วิถีท้องถิ่น.....มีความสมัครสมาน สามัคคี พึ่งพา แบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ.....เพียงเท่านี้  การศึกษา ก็มีหนทาง ให้ชาวไทย ถ้วนหน้า ได้เรียนรู้ และ เติบโต.....อย่างยั่งยืน

 

สวัสดีด้วยรอยยิ้มค่ะ

ชอบบทวิเคราะห์ครับ ;)...

สาธุ...ขอให้ประโยคนี้เป็นจริง "จริง จัง" ด้วยกายและสมองจริงๆเสียที เลิกสร้างภาพ เลิกแอบแฝงประโยชน์ส่วนตน และหันมาใช้ข้อมูล ปัญญา และมโนธรรมอันบริสุทธิ์เป็นฐานหลักในการตัดสินใจ" การศึกษาไทยจะได้เดินหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท