อาจารย์คณะเกษตรฯ มข. ติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยพริกปลอดภัย


สรุปบทเรียนการปลูกพริกในอดีตและฝึกอบรมการขยายเชื้อราไตโครเดอร์มาและเชื้อราเมตตาไรเซียม มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคและกำจัดแมลง สรุปได้ว่า การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมี สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้

ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2556 อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่าน และชัยภูมิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และอาจารย์ ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยฯ ฝึกอบรมเกษตรกรปลูกพริกระบบปลอดภัย ใช้เชื้อรากำจัดโรคและแมลงศัตรูพริกและแก้ไขปัญหาการผลิตและการตลาดพริกของเกษตรกร จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
          วันที่ 20 สิงหาคม 2556 ได้เข้าพบ นายสุรพล ทองเที่ยง รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดแพร่ และนายสมควร ชายะกุล หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืชและเกษตรอำเภอหนองม่วงไข่ ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานพริกจังหวัดแพร่ ทั้งนี้เพราะ จังหวัดแพร่ มีพื้นที่ปลูกพริกใหญ่มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย เพื่อส่งโรงงานซอสพริก และตลาดพริกสด เพื่อเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทางจังหวัดควรเตรียมความพร้อมในเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิต การรักษาคุณภาพมาตรฐาน การเพิ่มมูลค่าของพริกและการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(AEC)
          วันที่ 21 สิงหาคม 2556 ในช่วงเช้า ร่วมกับเทศบาลตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีนายสุเมธ สระคำ เจ้าหน้าที่เกษตร อำเภอปัว นายเอกชัย อุตรชน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลศิลาแลง และนายสมเดช เขื่อนเมือง ผู้ใหญ่บ้านศาลา เป็นผู้ประสานงาน อำนวยความสะดวก จัดฝึกอบรมเกษตรกร จำนวน 18 คน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคและแมลง แทนการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนในการผลิต โดยเกษตรกรบ้านศาลามีอาชีพหลักในการทำนา ปลูกผัก ทำสวนผลไม้ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จัดขึ้น ณ ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านศาลา หมู่ที่ 2 อำเภอปัว จังหวัดน่าน
           อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกพริกจำนวน 10 ราย เคยได้รับการฝึกอบรมจากโครงการฯ ทำให้เกษตรกรมีความตื่นตัวกันมาก สังเกตได้จากเกษตรกรสามารถขยายเชื้อราเพื่อป้องกันโรคและแมลงได้เอง เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต  มีการวางแผนและการประยุกต์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดให้เข้ากับเงื่อนไขของตนเอง การนำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้กับการปลูกพริก การปลูกข้าวและพืชผักต่างๆทำให้ลดการใช้สารเคมี และการเผยแพร่ความรู้ไปสู่เกษตรกรคนอื่นๆ พริกที่เกษตรกรปลูกเริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว พริกหนุ่มเขียว ขายได้กิโลกรัมละ 35-40 บาท  มีเกษตรกรรายหนึ่งที่เข้าร่วมอบรมกับโครงการวิจัยฯปลูกพริก 2 งาน เริ่มเก็บพริกขายแล้ว เกษตรกรมีการทำบัญชีการขายพริก ได้เงินประมาณ 7,000 บาท ซึ่งเหลือเวลาเก็บพริกอีก 2 เดือน พริกปลูกเป็นพันธุ์ลูกผสม ปลูกพริกระบบพริกปลอดภัย โดยขายพริกในตลาดท้องถิ่น ตลาดสดอำเภอปัว
          ต่อมาในช่วงบ่าย จัดฝึกอบรมเกษตรกร บ้านก๋ง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จำนวน 9 คน ทำการขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อนำไปใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ตั้งแต่ระยะเพาะกล้า

          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า ตำบลยมเป็นพื้นที่ปลูกพริกหลังเก็บเกี่ยวข้าว คือปลูกพริกเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว โดยปลูกพริกตามภูมิปัญญาดังเดิม คือ ใช้พริกพันธุ์พื้นเมือง เพาะกล้าพริกโดยการหว่านเมล็ดพันธุ์บนแปลงเพาะกล้า หลังจากเกี่ยวข้าวเกษตรกรจะตัดตอต้นข้าวให้ต่ำแล้วใช้ข้าวคลุมแปลงนา ถ้าที่นามีความชื้นสูงก็ไม่ต้องปล่อยน้ำเข้านา เพราะที่นาอยู่ระดับต่ำกว่าร่องน้ำ จากระบบเหมือง-ฝายหรือที่นาใดความชื้นไม่พอก็สูบน้ำจากบ่อน้ำตื้นหรือแหล่งน้ำใกล้เคียงได้ ที่นาที่จะปลูกพริกไม่ต้องไถ ไม่ต้องยกร่องทำแปลง แต่ต้องคลุมฟางข้าวเพื่อรักษาความชื้นในดินและไม่ให้วัชพืชขึ้นได้ การปลูกพริกก็ใช้แวก ซึ่งมีลักษณะคล้ายเสียม แหวกฟางข้าวที่คลุมแล้วขุดดินปลูกพริก เสร็จแล้วใช้ฟางข้าวกลบโคนต้นกล้าพริก หาใบต้นสักหรือวัสดุอื่นบังแสงแดดประมาณ 10 วัน เพื่อให้ต้นกล้าพริกตั้งต้นได้ แต่ปัญหาที่สำคัญคือพริกเกิดโรคกุ้งแห้งและมีหนอนเจาะผลพริกระบาดมาก
          วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ในช่วงเช้า จัดฝึกอบรมการขยายเชื้อราเมตตาไรเซียมให้กับเกษตรกรบ้านศรีมงคล  ตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  และได้เรียนรู้วิธีการเพาะกล้าพริกของเกษตรกร เพราะหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านปลูกผักส่งตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และปลูกผักเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขาย
          ในช่วงบ่าย ร่วมกับ นายพงษ์พิริยะ วิระขันคำ ปลัดอำเภอบ้านหลวง และ นายกฤษณายุทธ ณ น่าน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เข้าร่วมสรุปบทเรียนการปลูกพริก ที่บ้านโป่งศรี ตำบลบ้านฟ้า อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านขยายพื้นที่โครงการปิดทองหลังพระ และสาธิตการเตรียมดินเพาะกล้าพริก การวางแผนปลูกพริกในฤดูต่อไป เช่น พื้นที่การปลูกพริก การให้น้ำและการดูแลรักษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกพริก ช่วงปลูกพริกที่เหมาะสมที่จะให้ให้ขายพริกได้ราคาที่สูง การกำหนดตลาดเป้าหมายที่จะขายพริก
          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า เกษตรกรบ้านโป่งศรี เริ่มมีการวางตำแหน่งสินค้าของตัวเอง เช่น เดิมเคยมีการวางแผนจะส่งพริกเข้ากรุงเทพ แต่ปริมาณพริกมีน้อย  จึงหันมาขายส่งและขายปลีกพริกในเขตอำเภอ ทำให้ขายพริกราคาสูงกว่าตลาดขายส่งพริกเข้ากรุงเทพฯและ ปรากฏว่าเกษตรกรจำนวน 9 ราย ที่เข้าอบรมกับโครงการฯ ปลูกพริกพันธุ์ลูกผสม พื้นที่ปลูกต่อครัวเรือนประมาณ 1 งานถึง 1 ไร่ เกษตรกรพึ่งเริ่มปลูกพริกเพื่อการค้าปีแรก เกษตรกรรายที่ผลผลิตดี มีรายได้ 60,000 บาทต่อพื้นที่ปลูกพริก 2 งาน ส่วนที่ผลผลิตเสียหาย เพราะการดูแลยังไม่ดีพอ  มีรายได้ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 งาน โดยราคาขายพริกสดประมาณ 35 บาทต่อกิโลกรัม
          และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556  ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยมีนางสาวอริสา เบญจประทานพร เจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบลทุ่งน้าว และนายเมืองคำ สมใจ ประธานศูนย์ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทุ่งน้าว และสมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดแพร่ ประสานงานและให้ความช่วยเหลือสนับสนุน จัดฝึกอบรมเกษตรกร จำนวน 106 คน โดยนางวิไลวรรณ เทียมแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อนำไปผสมวัสดุเพาะกล้าพริก เพื่อลดปัญหาโรคพริกที่เกิดจากเชื้อรา ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกพริก จัดขึ้น ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทุ่งน้าว บ้านทุ่งน้าว อำเภอสอง จังหวัดแพร่
          “การติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัย การพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่าน และชัยภูมิ ในครั้งนี้ ได้มีการสรุปบทเรียนการปลูกพริกในอดีตและฝึกอบรมการขยายเชื้อราไตโครเดอร์มาและเชื้อราเมตตาไรเซียม ซึ่งเชื้อราทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคและกำจัดแมลง กล่าวคือ เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์มา ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า ยอดไหม้ ยอดเปื่อย โรคกุ้งแห้ง ส่วนเชื้อราเมตตาไรเซียม ใช้กำจัดแมลงปากกัดปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว แมลงวันพริก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมี สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด

อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

       

 

หมายเลขบันทึก: 547351เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2013 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับท่านอาจารย์ ที่นำกิจกรรมดีๆมาแบ่งปัน

-สวัสดีครับอาจารย์...

-ตามมาเียี่ยมชมการอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรครับ..

-เมื่ออาทิตย์ก่อน จังหวัดกำแพงเพชรจัดกิจกรรมเหมือนกันครับ ..

-เก็บภาพมาฝากครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท