พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

จดหมายถึงประะธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลา เพื่อขอคุ้มครองสิทธิของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ผู้ประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร


จดหมายถึงประะธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลา

เพื่อขอคุ้มครองสิทธิของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ผู้ประสบปัญหาสิทธิ           ในการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร

 

๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

 

เรื่อง

ขอความอนุเคราะห์ดำเนินการติดตามและคุ้มครองสิทธิของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งขาดไร้บุพการีตามกฎหมาย และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 

เรียน

ประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลา

 

สำเนาถึง

 

 

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย

๑.      ประธานคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามผลการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

๒.      หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

 

๑.      รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของ

น้องมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ

๒.      กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของ

เด็กซึ่งถูกทอดทิ้งเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

พ.ศ. ๒๕๕๑

๓.      การแจ้งการเกิดกรณีเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

ที่อยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์

 

๔.      ลำดับเหตุการณ์การให้ความช่วยเหลือน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมเด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ

 

ด้วย โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล[1] ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับข้อหารือจากคุณมานะ งามเนตร์ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่เด็กชาย มูฮัมหมัด นูกาซิม วัย ๑๒ ปี ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าผู้มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่เคยถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐ และถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาที่ตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นคนต่างด้าวไม่มีเอกสารแสดงตน พร้อมกับกำลังจะถูกส่งออกนอกประเทศไทยในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

               แต่ด้วยความเข้าใจข้อกฎหมายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสงขลา ประกอบกับหลังจากประสานความเข้าใจในข้อกฎหมายเบื้องต้นไปยังสภ.เมืองสงขลา บ้านพักเด็กและเยาวชนสงขลา และเครือข่ายทำงานจัดการประชากรเพื่อสันติสุขของสงขลา ทำให้สามารถยุติการส่ง เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ออกนอกประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแก่เด็ก ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งข้อกล่าวหาเด็กวัย ๑๒ ปีว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้แน่ชัด และการจับกุมคุมขังเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตเนื้อตัวร่างกายของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม แล้ว เพราะการส่งเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขาดไร้บุพการีออกไปนอกประเทศไทย โดยไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เด็กมีประเทศต้นทางที่จะยอมรับ หรือมีครอบครัวในประเทศอื่นที่จะดูแลเด็กได้ ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกบัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๒๒ โดยรายละเอียดสถานการณ์และวิเคราะห์ข้อกฎหมายส่วนนี้ ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายที่ ๑ และ ๔

                   ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม จะอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาในฐานะเด็กกำพร้าผู้จำต้องได้รับการสงเคราะห์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ แต่โดยข้อเท็จจริงเด็กชายมูฮัมหมัด ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความด้อยโอกาสอื่นที่รุนแรง คือ ปัญหาความไร้สถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร หรือคนไร้รัฐ ซึ่งปัญหานี้เป็นความด้อยโอกาสอย่างที่สุดของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม เพราะเมื่อเขาไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ก็ส่งผลให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์คนที่ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล เป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงตน จึงเสี่ยงต่อการถูกจับกุมด้วยความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่อย่างเช่นครั้งที่ผ่านมา รวมถึงเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

               ดังนั้นเพื่อขจัดปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาในฐานะหน่วยงานรัฐซึ่งรับอุปการะเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลอยู่ในขณะนี้จึงมีหน้าที่ตาม        มาตรา ๑๙/๑ และ มาตรา ๑๙/๒ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่จะต้องดำเนินการแจ้งการเกิดของเด็กต่อ นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา หรือหน่วยงานที่รับดูแลเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิมขณะนี้ ตั้งอยู่ เพื่อให้นายทะเบียนออกเอกสารรับรองการเกิด แต่ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ การยื่นขอจดทะเบียนการเกิดแก่เด็กชายมูฮัมหมัด โดยบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย คือ นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ต้องจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กชายมูฮัมหมัดไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ หากบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาไม่ดำเนินการดังกล่าวก็จะเป็นความผิดและถูกกำหนดโทษตาม มาตรา ๔๗ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ และเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗ ตามประมวลกฎหมายอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

               ทั้งนี้คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกฯ ได้แจ้งผู้ปกครองบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาเพื่อทราบถึงหน้าที่ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ แต่ทางบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา แจ้งว่าไม่มีองค์ความรู้ในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กชายมูฮัมหมัดในเรื่องการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในทะเบียนราษฎร จึงยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว

               ดังนั้น คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกฯ จึงเรียนมาเพื่อขอท่านได้โปรดประสานงานและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาทราบถึงกระบวนการคุ้มครองสิทธิในสถานะบุคคลของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม และขอท่านได้โปรดดำเนินการติดตามคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายโดยพลัน ของเด็กชายมูฮัมหมัด        โดยคณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกฯ ได้นำส่ง รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของ น้องมูฮัมหมัด       นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ พร้อมทั้งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ตลอดจน ขั้นตอนดำเนินการแจ้งการเกิดกรณีเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์ ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายที่ ๑ ๒ และ ๓ ตามลำดับ  ทั้งนี้การประสานงานติดตามความคืบหน้าทางคุณมานะ งามเนตร์ คณะอนุกรรมการประเมินและติดตามผลการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก จะเข้ามาเป็นผู้ประสานงานหลักต่อไป

               จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ดำเนินการตามกฎหมาย

 

 

   ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

 

   (นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์)

นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ

 

 

(นางสาวศิวนุช สร้อยทอง)

นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ

 

 

 

 



[1] ทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลที่เข้ามาร้องขอคำปรึกษากฎหมาย โดยมีท่านรองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นที่ปรึกษาของโครงการฯ วัตถุประสงค์ของโครงการคือ (๑) ให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคลที่มีปัญหาดังกล่าวที่ร้องเข้ามาทาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการทั่วไป (๒) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีที่เร่งด่วน หรือ กรณีที่สามารถพัฒนาเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลอย่างเป็นระบบได้ และ (๓) ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายนโยบาย หรือ ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายนโยบาย โดยใช้ข้อเท็จจริงของกรณีศึกษาเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบความใช้ได้ของกฎหมายนโยบายรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายนโยบายด้วย และมีหลักการในการดำเนินงานของโครงการฯ จะให้เจ้าของปัญหาเป็นผู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองภายใต้การควบคุมดูแลของคณะทำงานของโครงการฯ

หมายเลขบันทึก: 546969เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท