สารปรับปรุงดิน ที่เป็นอนินทรีย์ด่าง


ความนิยมเรื่องการใช้สารปรับปรุงดินในประเทศไทยรานับวันจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะพลิกฟื้นผืนดีที่แห้งแล้งโรยราให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง และในอีกเหตุผลหนึ่งก็อาจจะต้องการเห็นสิ่งมีชีวิตอย่างไส้เดือนกลับมากระดุ๊กกระดิ๊กพลิกความแปลกใหม่ให้ปุ๋ยแก่ดินอีกครั้งหนึ่ง เหมือนดังในโฆษณาสารปรับปรุงดินบางยี่ห้อในทีวี พี่น้องเกษตรกรจึงต้องเอาใจใส่ไขว่คว้าหาความรู้ให้มากๆ เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ แยกแยะให้ออกว่าดินอย่างไร ชนิดไหน ควรจะใช้สารปรับปรุงแบบใด  ดินบางพื้นที่ก็เป็นด่างจัด ดินบางพื้นที่ก็เป็นกรดจัด ดินบางพื้นที่ก็เหนียวจัด ดินบางพื้นที่ก็ร่วนจัด ดินบางพื้นที่ก็แน่นแข็งจัด ดินบางพื้นที่ก็เป็นดินทรายจัด ฯลฯ ดินแต่ละชนิดอาจจะมีการปรับปรุงบำรุงแก้ไขที่ไม่เหมือนกัน ข้อมูลพื้นฐานที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเหล่านี้สามารถที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไม่เสียเงินซื้อสารปรับปรุงสภาพดินที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือตรงกับปัญหาที่ต้องการก็เป็นได้

สารปรับปรุงบำรุงดินในประเทศไทยเรามีมาช้านานแล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่ภาครัฐจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างแล้วนำไปแจกให้แก่พี่น้องเกษตรกรในรูปแบบปูนมาร์ล ปูนขาว ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่สังเกตเห็นจะเป็นกลุ่มวัสดุอนินทรีย์ที่เป็นด่างเสียมาก (กลุ่มวัสดุ)ปูน) ถ้าใครยังนึกไม่ออก จำไม่ได้ลองค้นคว้าหาข้อมูลในห้องสมุดหรืออินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับกรณีที่มีรัฐมนตรีบางยุคสมัยนำดินผสมขี้เถ้าแกลบไปแจกจ่ายให้พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดปทุมธานี ก็มีให้เห็นเป็นข่าวครึกโครมอยู่เหมือนกันในยุคนสมัยนั้น สารปรับปรุงสภาพดินต่างๆ เหล่านั้น ถ้าเกษตรกรไม่สังเกตุดินของตนเองเสียก่อนก็เท่ากับว่าเป็นการใส่ปูนลงไปทับถมสะสมอยู่ในดิน จนทำให้ดินที่อยู่ในสภาพดินดี กลายเป็นดินด่างไปเสีย  ดินที่เหมาะสมต่อการละลายแร่ธาตุและสารอาหารออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชคือดินที่มีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 5.8 – 6.3 (กรดอ่อนๆ)  ไม่ควรจะเป็นด่างจัด หรือกรดจัด

จากเหตุผลที่สารปรับปรุงบำรุงดินในอดีตนั้น เป็นกลุ่มของอนินทรีย์ ดินหิน แร่ ที่มีสภาพความเป็นด่างจัดเสียมากกว่า กอร์ปกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นมักจะพบดินเปรี้ยวหรือดินกรดค่อนข้างมาก จึงทำให้ในยุค10 -20 ปีที่แล้วกลุ่มของสารปรับปรุงดินจึงชำเพาะเจาะจงไปที่กลุ่มของวัสดุปูนเป็นหลัก อีกทั้งอุปนิสัยของชาวไร่ชาวนาในยุคดังกล่าวนิยมใช้ใส่ปุ๋ยเคมีเสียเป็นส่วนใหญ่
จึงทำให้ดินที่ได้รับกรดจากปุ๋ยเคมีเหล่านั้นเกิดการสะสมมาเป็นระยะเวลานานจนก่อให้เกิดกลายสภาพเป็นดินกรดไปโดยปริยาย  การแก้ปัญหาเรื่องดิน การปรับปรุงดิน ในยุคนั้นการใช้กลุ่มวัสดุปูนจึงยังคงเห็นผลอยู่มากในหลายพื้นที่ที่มีสภาพดินเป็นกรดจัด
หรือดินเปรี้ยว หรือแม้แต่ในยุครัฐบาลทักษิณ 1 ที่เน้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกหรือการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ก็มีพ่อค้าขายปุ๋ยมากมายที่นำกลุ่มวัสดุปูนในรูปแบบต่างๆ นำไปผสมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแล้วขายลงไปยังแปลงพืชสวนไร่นาของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกทั่วไปหลายเท่าตัว  แล้วปรากฏว่าขายดีมาก เพราะชาวนาชาวไร่ใช้ได้ผลจากปูนที่ผสมมูลสัตว์ทำให้พีเอชของปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปุ๋ยชีวภาพเหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ที่เป็นด่างจัดไปสะเทินดินกรดในแปลงนา
ทำให้ปลดปล่อยปุ๋ยที่สะสมมานานหลายสิบปีออกมาเป็นประโยชน์ต่อข้าวได้มาก  จนทำให้บริษัทที่ทำเกี่ยวกับปุ๋ยชีวภาพร่ำรวยกันไปนักต่อนัก แต่ถ้าตามไปพิสูจน์ในอีก 3 – 4 ครอปถัดมาจะสังเกตเห็นว่าพืชหรือข้าวจะไม่งามเหมือนในครอปแรกๆ
เพราะปุ๋ยที่สะสมอยู่ในดินแต่เก่าก่อนเริ่มร่อยหรอลดน้อยลงไป ทำให้การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ผสมปูนจนเป็นด่างจัดเริ่มไม่เห็นผล  ชาวไร่ชาวนาจึงจะกลับมาใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนเดิม พ่อค่าปุ๋ยชีวภาพก็รอวันดินเป็นกรดในรอบใหม่แล้วค่อยนำปุ๋ยชีวภาพยี่ห้อใหม่มารับใช้อย่างเดิม

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

 

หมายเลขบันทึก: 546609เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท