นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะ ?


ช่วงนี้มีข่าวนำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ว่า ยังมีนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หลายข่าว เช่น….

ข่าวรัฐมนตรี ศธ. ไปเจอนักเรียน ม.1 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้, ข่าว สพฐ.ว่าจะแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และข่าว สพป.สุโขทัย เขต 2 ได้ดำเนินการแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จนมีผลการเรียนดีขึ้น

.

จากข่าวนี้ ถือเป็นหลักฐานชั้นเยี่ยม ที่ยืนยันว่าการบริหารจัดการการศึกษาของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ และการประเมินภายนอกของผู้ประเมิน สมศ.ส่วนใหญ่  รวมทั้งการทำงาน ของ สมศ. ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ (จะเรียกว่า “หลอกแดก” งบประมาณรัฐก็ได้) การตรวจก็สักแต่ว่าไปตรวจเอกสาร   เชื่อแต่ผู้บริหารและครูที่ชอบ “บอกเล่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้” ในที่เขาจัดต้อนรับ  แต่ไม่เคยไม่ตรวจสอบเด็กจริงๆ  

นี่ยังดีว่าการประเมินภายนอก ในตัวบ่งชี้ที่ 5 ให้ใช้ผลการประเมินจาก O-net มาเป็นตัดสินผ่านหรือไม่ผ่าน (ขนาดให้ค่าเฉลี่ยเกิน 0.7 จากคะแนนเต็มก็ผ่านได้ และคิดจากจำนวนนักเรียนที่เกินครึ่งจากค่าเฉลี่ยของโรงเรียนในแต่ละวิชานะนี่   ซึ่งถ้าไปคิดจากจำนวนนักเรียนที่ได้คะแนนเกิน 50 % จากข้อทดสอบของ O-net มีหวังไม่ผ่านทั้งประเทศ)  

แต่ถ้าให้ผู้ประเมินภายนอกตัดสินตัวบ่งชี้ที่ 5 นี้เหมือนตัวบ่งชี้อื่นๆ รับรองว่าทุกโรงเรียนผ่านการประเมินว่ามีคุณภาพแน่นอนทุกมาตรฐานและทุกตัวบ่งชี้ (แต่ล้มเหลวคุณภาพจริงๆ)   ผมเสียดายงบประมาณครั้งละสองพันกว่าล้านบาท รวมตั้งแต่มีการประเมินภายนอกก็คงราวๆ แปดพันล้านบาทแล้วมั้งที่ใช้ไป  เสียดายมากครับ  !!!

คราวหน้าผมจะเล่าประสบการณ์ที่ไปเป็นผู้ประเมินภายนอก 6 ปีกว่าๆ ประเมินโรงเรียนรวม 174 โรงเรียน ประเมินทุกระดับตั้งแต่โรงเรียนที่มีนักเรียน 10 กว่าคน จนถึงสี่พันกว่าคน มาให้ท่านได้อ่านกัน

ทำให้ผมคิดว่า แล้วปัญหานี้อยู่ที่ใดกันแน่ อยู่ที่ครูไม่รับผิดชอบที่จะสอนอย่างจริงจัง หรือครูขี้เกียจ หรือว่าครูสอนเป็นคำ ไม่ยอมสอนแบบสะกดคำ หรือว่าอยู่ที่ผู้บริหารที่ไม่ชอบรับผิดชอบ  ชอบแต่มีตำแหน่งและเงินประจำตำแหน่งมากกว่า ฯลฯ หรือสารพัดสาเหตุตามที่ผู้บริหารทุกระดับออกมาแก้ตัว ยกเว้นตัวผู้บริหารเอง  ???

.

แต่...จากการที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนหลายโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ได้เข้าไปดูครูสอนทุกระดับ ทุกวิชา และรวมทั้งเคยไปประเมินภายนอกตามโรงเรียนต่างๆ หลายร้อยโรงเรียน ผมพบว่า

อันดับหนึ่ง  อยู่ที่ผู้บริหารไม่สามารถเป็นที่พึ่งด้านการทำงานได้เลย (กัลยาณมิตรนิเทศ) และไม่สามารถกำกับ ควบคุม ติดตามครูให้เก่งขึ้นอย่างเป็นระบบทั้งความรู้และวิธีการสอน    ถนัดแต่คิดโครงการพัฒนาอาคารสถานที่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียน  มากกว่าการเรียนปกติในห้องเรียน

อันดับสอง คือ ครูส่วนใหญ่ปัจจุบันไม่เก่งทั้งด้านความรู้และวิธีสอน (คงลืมจากที่เรียนครูไปหมดแล้ว) ไม่รับผิดชอบ ไม่มีจิตวิญญาณครู (รักเด็ก อยากช่วยเหลือเด็ก อยากแก้ปัญหาให้เด็ก)  ไม่ตั้งใจ ทุ่มเท การสอนอย่างจริงจัง ดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล   ถือว่าสอนเสร็จครบกำหนดตามชั่วโมงที่ให้มาก็เป็นอันเสร็จภารกิจหน้าที่  นักเรียนจะรู้หรือไม่รู้ อ่านได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ฉันแล้ว   ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากผู้บริหารหางานพิเศษมาให้ทำมาก็ได้  หรือ พอจะใช้วิธีการสอนของตนเองบ้าง  ทาง สพฐ. ก็ขยันคิดโครงการอบรมการสอนใหม่ๆ มาให้ครูเปลี่ยนวิธีการสอนเกือบทุกปีการศึกษา  จนขี้เกียจคิด  เพราะเดี๋ยว สพฐ. ก็เปลี่ยนแนวสอน หรือจุดเน้นอีกแล้ว   

.

แต่สำหรับปัญหาเด็กที่อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง หรืออ่านไม่ค่อยจะออก เขียนไม่ค่อยจะถูกนั้น  เท่าที่ผมสังเกตและพบเห็นในตอนผมไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาทั้งในฐานะกรรมการ  หรือในฐานะที่ปรึกษา และในฐานะผู้ประเมินภายนอกในระดับประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส  ผมเจอเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อนหลายโรงเรียน ส่วนมากยังเห็นครูส่วนใหญ่มักให้นักเรียนอ่านออกเสียงตามหนังสือพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้ว  ร้อยกรอง (นี่แหละคือปัญหาที่แท้จริงที่ส่งผลให้นักเรียนส่วนหนึ่งยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ถ้าให้อ่านด้วยตนเอง  ที่เป็นอย่างนี้เพราะเด็กส่วนหนึ่งที่ขี้เกียจ หรือเก่งน้อย จะคอยออกเสียงอ่านตามเพื่อน ไม่ได้อ่านตามตัวหนังสือที่อ่าน  และเด็กบางคนก็ฉลาดทำปากขมุบขมิบตามเพื่อน รวมทั้งทำให้การอ่านหนังสือผิดอักขระวรรคตอนไปหมด  ตลอดจนการต้องอ่านพร้อมกันทั้งชั้น เด็กๆ จึงต้องออกเสียงแบบลากเสียง  ช้าๆ เพื่อให้อ่านและออกเสียงทันกัน)

บางโรงเจอแต่เด็กกำลังอ่านหนังสือกันเอง  จึงถามว่าทำไมครูให้อ่านหนังสือล่ะ แล้วครูไปไหน แกตอบว่าครูไม่อยู่ ไปอยู่ที่ห้อง ผอ. เพื่อทำงานเอกสารให้โรงเรียน หรือ ทำให้ ผอ.   แต่ครูได้สั่งให้อ่านหนังสือดังๆ เพื่อให้ได้ยินไปครูที่กำลังทำงานอยู่ที่ห้อง ผอ.ด้วย  (แต่ผอ. และครูชี้แจงว่า กำลังเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงผู้ประเมินภายนอก 555)

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นก็ยังเกิดขึ้นได้ หลายโรงเรียนที่ผมเคยไปประเมิน ยกตัวอย่าง เช่น บางโรงมีนักเรียนชั้น ป.1 อยู่ไม่เกิน 10 คน แต่เชื่อไหมครับว่า ยังมีนักเรียน อ่านหนังสือไม่ออกอยู่เกินครึ่ง ครั้งหนึ่งผมไปเจอกำลังอ่านคำว่า "ป้า" อยู่ ผมจึงเขียนคำใหม่บนกระดานดำหน้าห้องว่า "ม้า" แกอ่านไม่ได้ แกบอกว่า ครูยังไม่ได้สอน

หลายโรงเรียน ผมก็ให้ลองอ่านหนังสือที่แกกำลังเรียนกัน โดยถามแกว่ากำลังเรียนถึงไหน เช่น เรียนถึงหน้า 20 ผมก็ลองให้อ่าน หน้า 21 บ้าง หน้า 9 บ้าง เป็นต้น (แล้วแต่จะนึก) โดยให้อ่านเป็นรายบุคคล พบว่า อ่านไม่ได้เลยก็มี อ่านแบบตะกุกตะกัก สะกดผิดก็มี รวมแล้วที่ไม่อ่านไม่ได้ เกินครึ่งก็แล้วกัน

ผมถามคุณครูที่สอนว่าเป็นเพราะอะไรเด็กชั้นนี้  ถึงยังอ่านไม่ได้  นี่ก็ใกล้้นสุดภาคเรียนแล้วนะ

คุณครูส่วนใหญ่ ตอบว่าเด็กขี้เกียจไม่ค่อยสนใจเรียน ผมก็ย้อนว่าแค่เด็กไม่ถึง 10 คนนี่นะ ครูยังกำกับ เอาใจใส่ไม่ได้ทั่วถึง และแถมเป็นครูประจำชั้นสอนทุกวิชาด้วย เป็นไปได้อย่างไรที่ครูจะไม่รู้ปัญหานี้เลย (ในใจผมคิด(นินทา)ว่า คุณไม่มีใจให้เด้ก และสังคมเลย   คุณไม่ได้เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  คุณแค่มาอาศัยเงินเดือนจากอาชีพครูเลี้ยงตัวคุณเท่านั้น)

ครูบางคนก็ตอบว่า เด็กมันน้อยสอนไม่สนุก ผมก็ย้อนว่าผมเคยไปประเมินโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดหลายจังหวัดครูกลับตอบว่า เด็กที่อ่านไม่ได้ เพราะเด็กมันเยอะดูแลไม่ทั่วถึง แล้วผมจะเชื่อว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงกันแน่  แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อว่าเรื่องอยู่ที่ครูไม่ตั้งใจสอนจริงๆมากกว่า

 

และอีกเหตุการณ์หนึ่งในห้องเรียนที่มักพบบ่อย คือ ครูชอบสอนแบบสอนอ่านเป็นคำ  และให้นักเรียนออกเสียงตาม  ไม่ชอบสอนอ่านแบบสะกดคำเมื่อเจอคำใหม่   แต่ถึงแม้บางโรงเรียนจะมีครูสอนแบบสะกดคำ  แต่ครูเหล่านั้นก็ยังไปเอาวิธีการสอนสะกดคำแบบ “เพื่อเขียน” มาใช้ในการสอนอ่านสะกดคำ “เพื่ออ่าน”  ดังนั้น เมื่อเด็กเจอคำใหม่ ก็เลยไม่รู้ว่าจะอ่านแบบประสมคำให้ถูกได้อย่างไร  (เช่น หมา  ครูส่วนใหญ่มักสอนให้สะกดคำว่า ห-ม-า = หมา  อันนี้  สะกดคำเพื่อเขียน  ถ้าสะกดคำเพื่ออ่าน ต้องสะกดว่า  หมอ-า = หมา)  จึงต้องรอครูมาสอนอ่านออกเสียงให้ฟังทุกครั้ง  เพื่อจะได้ไม่ผิด  จนครูดุว่าอีก   (ถ้าเป็นอย่างนี้ วานพี่ ป.6 สอนน้องๆยังดีเสียกว่า)

แล้วเวลาผู้บริหาร หรือผู้นิเทศที่ออกไปตรวจเยี่ยมทุกระดับ  ที่ไปติดตามการสอน  ก็ไม่เคยเอาใจใส่ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ค่อยลงไปตรวจสอบการอ่านของเด็กนักเรียนตามห้องเรียน ชอบไปตรวจแต่เอกสารที่ครูและผู้บริหารนำมาเสนอ ก็เลยไม่รู้ว่าเด็กรู้หรือยังไม่รู้จริงกันแน่

.

ยังไง ๆ ก็ขอขอบคุณ ท่าน ผอ. มานพ ษมาวิมล ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 ที่เอาใจใส่แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ผู้บริหารโรงเรียนดิ้นรนด้วยตนเอง ผมถือว่านี่คือภารกิจหนึ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้บริหารระดับเขตต้องเอาใจใส่ติดตาม กำกับการบริหารจัดการศึกษา ช่วยผู้บริหารและครูแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ไปห่วงแต่การจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ประชุม อบรม สัมมนา หรือจัดอบรมแต่การทำให้ครูทำผลงานทางวิชาการ แต่ผลงานการศึกษาของโรงเรียนที่ตนเองอยู่กลับไม่ได้เรื่อง


ขอบคุณอีกครั้งนะครับ ท่าน ผอ.มานพ

หมายเลขบันทึก: 546607เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2024 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท