ความคิดคำนึงที่ผุดขึ้นเกี่ยวกับการเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตน


  • พิจารณาคำ Transformative Learning (TL) ประกอบด้วยคำ transform ที่อาจแปลว่า แปรรูป เปลี่ยนรูป หรือแปลงรูปแบบ กับคำ learning ที่แปลว่า การเรียน ดังนั้น หากจะเขียนตามคำแปลแบบคำต่อคำ ตรงไปตรงมา ก็อาจเขียนเป็นไทยได้ว่า การเรียน(เพื่อ)เปลี่ยนรูปแบบ   แต่หากแปลโดยนัยตามเจตนาที่ผู้สร้างคำ (Jack Mezirow) ต้องการสื่อก็ครอบคลุมไปถึง เนื้อหาและกระบวนการด้วย ไม่ใช่แต่รูปแบบอย่างเดียว
  • เหตุใดจึงไมใช้คำ change ซึ่งฟังง่ายกว่า? ผมไม่ทราบ แต่สันนิษฐาน (เดาใจคนคิดคำ) ว่า คำ Transform มีความหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะคำนี้มีความหมายถึงการเคลื่อนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง หรือจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง คลายๆ "การกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง" 
  • โปรดสังเกตว่า ผมไม่ได้ใช้คำว่า การเรียนรู้ เนื่องจากตามความเข้าใจของผม การ เรียน กับการ รู้ เกิดจากสองคำมาต่อกัน "การเรียน" เป็น กระบวนการ ส่วน "รู้" เป็น ผล จากการเรียนอีกทีหนึ่ง
  • อนึ่ง ในภาษาอังกฤษ คำ "รู้" และคำ "ความรู้" ก็ยังเป็นคนละคำกัน คำ รู้ ใช้ know ส่วนคำ ความรู้ ใช้ knowledge 
  • ผลจากการเรียน นอกจากการ "รู้" แล้วยังมีอื่นๆ อีกเช่น จำได้ ทำได้
  • รศ.ดร.สวนิต ยมาภัย ที่ปรึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต เสนอให้แปลคำ Transformative Learning ว่า "การเรียนรู้เชิงปริวรรต" ด้วยเหตุว่าคำ ปริวรรต แปลว่า เปลี่ยน เช่นในคำ ปริวรรตเงินตรา ซึ่งผมเห็นด้วย   ท่านยังเห็นว่า ใช้แค่คำ เปลี่ยน ก็พอ ไม่ต้องมีคำ แปลง เนื่องจากคำ แปลง เช่น ในคำ แปลงกาย ยังไม่ใช่การเปลี่ยนอย่างแท้จริง แต่ในความเห็นส่วนตัวผมยังเห็นว่า คำ "เปลี่ยนแปลง" ที่ใช้รวมกันใช้ได้ในความหมายที่คำ แปลง เป็นคำเสริมคำ เปลียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปลียนนั้นเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ในความหมายเดียวกับคำ "กลายเป็น" (becoming) ผมเห็นว่าการใช้คำอยู่ที่การ "ให้ความหมาย" ของผู้ใช้ เพียงแต่นิยามคำนั้นให้ชัด 
  • การเรียนที่ยากสุด คือ เรียนให้เกิดผลด้านการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน  หรือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (บางคนเรียก ทัศนะแม่บท ซึ่งหมายถึง ทัศนะการมองโลกจากความเป็นจริงชุดหนึ่ง อันเป็นที่มาของวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า เป็นฐานในการกำหนดวิถีชีวิตของคนๆ นั้น - เสรี พงศ์พิศ, ร้อยคำที่ควรรู้. พลังปัญญา, ๒๕๕๓) ซึ่งจัดให้อยู่ในการเรียนด้าน จิตพิสัย 
  • ปรมาจารย์ด้านการศึกษาตั้งแต่สมัยจอห์น ล็อก (1632 - 1704) จนถึง เบนจามิน บลูม (1913 - 1999) จำแนกการเรียนออกเป็น ๓ พิสัย(domain) คือ พุทธิพิสัย (cognitive domain เป็นการเรียนให้รู้ ให้จำ ให้เข้าใจ ให้นำไปประยุกต์ได้ วิเคราะห์ได้ สังเคราะห์ได้ วิพากษ์ได้) ทักษะพิสัย (psychomotor หรือ skill domain) เป็นการเรียนให้ทำได้ ที่เขาเอาคำ psycho กับ motor มารวมกัน เนื่องจากอยากให้เรียนแล้วการใช้สมองและกายเพื่อทำอะไรให้สัมพันธ์กัน และ จิตพิสัย (
  • การเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตน เป็นการเรียนเพื่อการเติบโตของบุคคล (personal growth)
  • การเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตน เริ่มจากการเรียนให้รู้จักตนเองทั้งกาย ใจ อุปนิสัยตนก่อน
  • ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนใครได้ มีแต่ตนเองจะเปลี่ยนตนได้ คนอื่นทำได้เพียงตั้งข้อสังเกต แนะนำ ชี้แนะ สอน ทำให้ดู/ดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ
  • ยังไม่จบ คิดขึ้นมาแล้วจดไว้ก่อน (จะมาเขียนเพิ่มในบันทึกนี้ไปเรื่อยๆ)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
เริ่มเขียน ๒๓ ส.ค. ๕๖
ปรับปรุงเพิ่มเติมครั้งแรก ๒๙ ส.ค. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 546334เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท