beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ครอบครัวตึ๋งหนืด <๒๕> ไม่ยอมขาดทุนเมื่อซื้อและจ่ายเบี้ยประกันชีวิต


"ลงทุนในประกันชีวิต มีแต่ขาดทุน" จริงหรือ

บันทึกปีที่ ๑    

     เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ได้ไปจ่ายค่าใช้จ่ายในบัตรเครดิต UOB ที่ธนาคารยูโอบี พิษณุโลก...พอถามเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เรื่องการหักภาษีเบี้ยประกันชีวิต...เจ้าหน้าที่เรียกคุณภราดร มาบริการ 

     คุณภราดร แนะนำแผนประกันชีวิตดังนี้ (ไม่ใช่การแอบแฝงโฆษณา แต่ใช้เพื่อประกอบการเขียนบันทึก)

     บีแมนไม่ได้สนใจเรื่องการซื้อประกัน เพราะว่าไม่มีปัญญาจะจ่ายเบี้ยประกันที่คุณภราดรเสนอมา คือ ๕๐,๒๘๙ บาท ต่อปี และเม่ื่อฝากครบ ๕ ปี จ่ายเบี้ยประกันทั้งสิ้น ๒๕๑.๔๔๕ บาท แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาปี ๒๕๖๒ ถ้าขอรับเงินสด จะได้รับเงินคืนเพียง...๒๓๓,๑๐๐ บาท ขาดทุนไป ๑๘,๓๔๕ บาท...

    ถ้าคิดแบบคณิตศาสตร์ตรงๆ แบบนี้..เราก็ขาดทุนวันยังค่ำ ยังไงก็ไม่ซื้อประกันชีวิต จนกระทั่งมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังรายหนึ่งฟันธงไปเลยว่า "ลงทุนในประกันชีวิต มีแต่ขาดทุน"..

    สุดท้าย หลังจากใช้เวลาคิดทบทวนอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง (ขณะอยู่ที่ธนาคาร) แล้วบีแมน ยอมซื้อประกันตัวนี้ โดยรูดบัตรเครดิตยูโอบีเต็มจำนวน ๕๐,๒๘๙ บาท แต่แบ่งจ่าย ๑๐ เดือน...โดยไม่มีดอกเบี้ย

    ที่ยอมซื้อเพราะถ้าคิดให้ละเอียดแล้วเราไม่ขาดทุน....ดังเหตุผล

  1. ส่งสั้นแค่ ๕ ปี เว้นอีก ๒ ปี ก็ได้รับบำนาญรายเดือน ๑๕ เปอร์เซนต์ของทุนประกัน (๑ แสน) เท่ากับ ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อปี (เลือกที่จะไม่รับเงินก้อน) ถ้ามีชีวิตต่อไปหลังจากเกษียณ ๑๕ ปี ก็ได้เงินคืนเกือบคุ้มแล้ว (คุ้มทุนใน ๑๗ ปี..แบบไม่ต้องคิดดอกเบี้ย)
  2. กรมธรรม์ที่ได้รับ เป็นกรมธรรม์แบบบำนาญ ซึ่งทางรัฐบาลออกกฏหมายให้นำไปหักภาษี ส่วนที่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ได้ หมายความว่าถ้าเรามีเบี้ยประกันชีวิตที่ส่งในปีหนึ่งๆ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อยู่แล้ว เบี้ยประกันชีวิตตัวนี้ จะไปคิดใน ๑๐๐,๐๐๐ บาทที่ ๒...ซึ่งบีแมนทดลองแล้วนำไปหักภาษีได้เต็มในแสนบาทที่สอง ซึ่งของบีแมนตกในเรท ๑๐ เปอร์เซนต์ ได้เครดิตเงินคืนปีละ ๕,๐๒๘.๙๐ บาท รวม ๕ ปี เป็นเงิน ๒๕,๑๔๔.๕๐ บาท
  3. นำตัวเลขเบี้ยประกันที่จ่าย ๕ ปี ๒๕๑.๔๔๕ บาท ลบด้วยเครดิตเงินคืนทางภาษี ๕ ปี ๒๕,๑๔๔.๕๐ บาท เราจ่ายเงินเบี้ยประกันจริง ๕ ปี เท่ากับ ๒๒๖,๓๐๐.๕๐ บาท นำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าเงินสดที่จะได้รับในปีที่ ๗ คือ ๒๓๓,๑๐๐ บาท เราคงยังมีกำไรอยู่เล็กน้อย คือ ๒๓๓,๑๐๐ บาท ลบ ๒๒๖,๓๓๐.๕๐ บาท เท่ากับ ๖,๗๙๙.๕๐ บาท..ยังคงมีกำไร ๖,๗๙๙.๕๐ บาท.. ผลตอบแทนเท่ากับ ๖,๗๙๙.๕๐ คูณ ๑๐๐ หาร ๒๒๖,๓๐๐.๕๐ เท่ากับ ๓ เปอร์เซนต์ต่อ ๗ ปี หรือปีละ ๐.๔๒ เปอร์เซนต์ (ร้อยละ ๔๒ สตางค์) ซึ่งก็ยังไม่น่าสนใจเท่าไร
  4. ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ คือ เมื่อฝากครบ ๖ ปี กรมธรรม์จะมีมูลค่าเงินสด ๒๒๖,๐๐๐ บาท ซึ่งเราสามารถจะกู้ได้ ๙๐ เปอร์เซนต์ ของมูลค่าเงินสด เอาเป็นตัวเลขกลมๆ คือ ๒๐๐,๐๐๐ บาท...ผมก็จะไปกู้มา ๒ แสนบาท เสียดอกเบี้ยปีละ ๔.๕ เปอร์เซนต์ แล้วเราก็เอาเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปลงทุน..ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็ไปลงทุนซื้อหุ้นสหกรณ์ ก็จะได้ผลตอบแทนปีละ ๖ เปอร์เซนต์ เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว เราจะได้กำไรปีละ ๑.๕ เปอร์เซนต์ คือ ปีละ ๓,๐๐๐ บาท จะกู้ ๒ ปี กำไร ๖,๐๐๐ บาท พอถึง ๒ ปี เราก็เกษียณพอดี เอาเงินบำเหน็จดำรงชีพซึ่งจะได้รับก่อน ๑๕ เปอร์เซนต์ คือ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปใช้หนี้กรมธรรม์..
  5. จากข้อ ๔ อาจมีข้อสงสัยว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากกรรมธรรม์เป็นเท่าไร ให้ไปดูที่หน้าแรกของกรมธรรม์จะเขียนไว้ว่า "การประกันชีวิตใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ....ต่อปี ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย" ในกรมธรรม์ของ บีแมน ตรงที่เว้นไว้เขียนว่า "ร้อยละ ๒.๕ ต่อปี"
  6. จากข้อ ๕ เมื่อไปดูหมวดการกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ จะมีข้อความเขียนไว้ทำนองว่า "บริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยอีกร้อยละ ๒ ต่อปี...หมายความว่าเราจะเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในที่นี้เท่ากับ ๒.๕+๒% เท่ากับร้อยละ ๔.๕

หมายเหตุ..ในข้อ ๕ และ ๖ นี้เขียนไว้ในกฎหมายประกันชีวิต (กรมธรรม์) แต่คนส่วนมากจะไม่ทราบ (เพราะไม่ได้อ่าน) แม้แต่ตัวแทนขายประกันส่วนมากก็จะไม่ทราบเหมือนกัน..ดังนั้น ก่อนซื้อประกันฯ ให้ถามเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากกรมธรรม์ด้วย...ให้เจ้าหน้ที่หาข้อมูลให้ เผื่อว่าเราจำเป็นจะต้องใช้เงินนี้ในอนาคต.....

     บีแมนผ่อนเบี้ยประกันปีที่ ๑ กับบัตรเครดิต ยูโอบี เดือนละ ๕,๐๒๘.๙๐ บาท เป็นเวลา ๑๐ เดือนจ่ายเงินไปทั้งสิ้น ๕๐,๒๘๙ บาท ....ซึ่งยังมีโปรโมชั่นอีกว่า ถ้ารูดเงินผ่านบัตรเครดิต จ่ายเบี้ยประกันกรมธรรม์เต็มจำนวน ยอดตั้งแต่ ๕ หมื่นบาทขึ้นไป จะได้รับ Gift Voucher จากห้าง Tesco Lotus จำนวน ๓,๐๐๐ บาท

    สรุปว่า จากการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีทีท่าว่าจะขาดทุนตั้งแต่แรก หรือมีผลตอบแทนจากการลงทุนน้อย แต่เมื่อเรามีวิธีคิดที่ดี เราก็สามารถเพิ่มมูลค่าจากการลงทุนครั้งนี้ได้เป็นเงินทั้งสิ้น

  • ๖,๗๙๙.๕๐+๖,๐๐๐+๓,๐๐๐ = ๑๕,๗๙๙.๕๐ บาท...เพิ่มผลตอบแทนอีกกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว..

บันทึกปีที่ ๒

     เมื่อใกล้กำหนดจะจ่ายเบี้ยประกันชีวิตปีที่ ๒ คือในวันนี้ (๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖) บีแมนไปที่ธนาคารยูโอบีเพื่อปรึกษาการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตปีที่ ๒...โดยหักจ่ายเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิต (จะตัดจ่ายวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖) ทางคุณภราดรและผู้จัดการเสนอทางเลือกให้ ๒ ทาง เมื่อจ่ายเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิตยูโอบี คือ

  1. ๐ % ๓ เดือน หรือ
  2. ๐.๒๙ % ๑๐ เดือน (เท่ากับอัตราดอกเบี้ย ๒.๒๙ % ต่อ ๑๐ เดือน)

   แต่ตึ๋งหนืดอย่างผมไม่เลือกทั้ง ๒ ทาง ตามที่เสนอ เพราะทางเลือกที่ ๑ นั้นเท่าทุน แต่ทางเลือกที่ ๒ นั้นเสียอัตราดอกเบี้ยปีละ ๓.๔๘ % ซึ่งคิดว่าไม่ควรจะเสีย...ผมจึงเสนอทางเลือกใหม่เป็นทางเลือกที่สามคือ 

    ทางเลือกที่ ๓ : จ่ายด้วยบัตรเครดิต First choice...ซึ่งมีเงื่อนไขว่ารูดเงิน ๒๐ บาท ได้ ๑ คะแนน แต่ช่วงนี้จะได้คูณคะแนนสูงสุด ๑๐ เท่า..โดยจ่าย ๑-๒๐,๐๐๐ บาท ได้คะแนนคูณ ๓ และ ๒๐,๐๐๑ ถึง ๖๐,๐๐๐ บาท ได้คะแนนคูณ ๕ เท่า

    ดังนั้นยอดจ่าย (รูดเต็มจำนวน) ๕๐,๒๘๙ บาท...จะได้คะแนนทั้งสิ้น 3,000 + (1514x5) 7,570 = 10,570 คะแนน ซึ่งสามารถนำคะแนนไปแลกเงินสดได้ประมาณ ๑ พันกว่าบาท...ทางเลือกที่สามจึงทำให้มีรายได้เข้ากระเป๋า

   สรุปว่า..การจะซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ต้องคิดก่อนซื้อ ต้องเลือกประกันที่เหมาะสมกับตัวเรา ภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้เรามากที่สุด โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เสียประโยชน์จากเรา คิดแบบ win win and integration. และเมื่อถึงคราวจ่ายเบี้ยประกันฯ ก็เลือกช่องทางจ่ายที่เหมาะสม โดยใช้บัตรเครดิตที่ทำ Promotion กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร..อย่างปีที่สอง เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร ก็จะได้เงินคืน ๑ พันกว่าบาท ซึ่งเป็นเงินประมาณ ๒ % ของยอดจ่ายเบี้ยประกัน เรา win, บริษัทบัตรเครดิต win, และบริษัทประกันก็ win ด้วย...

 

หมายเลขบันทึก: 546314เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำลังอยู่ในความสนใจครับอาจารย์ ;)...

เขียนจบแล้ว กรุณาเข้ามาติชมใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท