ต้นทุนชีวิตที่ต่าง การดูแลต้องต่าง


ต้นทุนชีวิตที่ต่าง  การดูแลต้องต่าง

หรือ การจัดการดูแลรายกรณี

( Case Management Unit : CMU )

จากที่โรงเรียนบ้านหนองกุงเป็นแนวร่วมการจัดการเรียนรู้รายกรณี จาก สสค.ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 โรงเรียน ของจังหวัดมหาสารคาม ในการพัฒนาหน่วยการจัดการเรียนรู้รายกรณีของเด็กกลุ่มเสี่ยงนั้น จึงทำให้ผมได้สัมผัสกับตัวเด็กที่มีปัญหาและภาวะความเสี่ยงของการดำเนินชีวิตของแต่ละคน แต่ละด้านมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญทำให้มองเห็นต้นทุนของชีวิตที่แตกต่างกันของเด็ก จึงทำให้ได้รู้และเข้าใจว่า ในเมื่อมีต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ปัญหาและความเสี่ยงของชีวิตที่ดูเหมือนคล้ายกัน แต่สาเหตุของปัญหานั้นกลับต่างกัน แล้วเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวกันได้อย่างไร ตอนนี้โรงเรียนของเรามีทั้งหมด 6  Case  ครับ ผมขอยกตัวอย่าง Case  เด็กชายศุภเชษฐ์  โพคาเทศ  นะครับ

 

ความเป็นมาและสภาพปัญหาโดยย่อ

ทางโรงเรียนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทางเทศบาลตำบลหนองกุงว่ามีเด็กตกสำรวจไม่ได้รับการศึกษาหลังจากที่จบการศึกษาชั้น ป.6 มาแล้ว 1 ปี เนื่องจากครอบครัว บิดา – มารดา แยกทางกัน และทอดทิ้งให้อยู่กับยายที่ตาบอด อายุ 62 ปี ตามลำพัง ส่วนบิดาและมารดาไม่มีการติดต่อมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งในช่วงปีการศึกษา 2555 เด็กจำเป็นต้องหยุดการเรียนเพื่อคอยดูแลยาย และหลังจากโรงเรียนได้รับแจ้งข้อมูลจึงได้ติดตามและให้เด็กได้เข้ารับการศึกษาในชั้น ม.1 ในปีการศึกษานี้  หลังจากที่เด็กได้เข้ามาเรียนทางโรงเรียนจึงได้จัดทีมเพื่อประเมินสภาวะความเป็นอยู่ของนักเรียนโดยการออกเยี่ยมบ้าน พบว่า สภาพแวดล้อมของบ้านเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว โดยเด็กอาศัยอยู่กับยายซึ่งตาบอดมาแล้ว 2 ปี และเด็กยังต้องคอยปรนนิบัติยายที่เลี้ยงดูกันมาตั้งแต่เด็ก จึงเป็นสาเหตุให้เด็กต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 1 ปี  ซึ่งตัวเด็กและยายมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ยังขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต เนื่องจากไม่มีรายได้ใดๆ เลยมาจุนเจือในการเลี้ยงชีพนอกจากเบี้ยผู้สูงอายุ สภาพสภาพจิตใจของยายและหลานห่อเหี่ยว หมดกำลังใจ ต้องพึงพาบ้านไกลเรือนเคียง จากการสังเกตและสอบถามจากเพื่อนบ้าน เด็กจะมีนิสัยชอบเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา พูดกับผู้ใหญ่มักจะก้มหน้า

 

โรงเรียนจะต้องทำอะไร

  - ดูแลทางด้านงบประมาณเพื่อจุนเจือครอบครัว

  - ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ 

  - ดูแลเรื่องสุขภาพและอนามัย

  - ดูแลปัจจัยในการดำรงชีวิต ส่งเสริมทางด้านอาชีพให้มีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อเลี้ยงตัวเองและยาย

โรงเรียนจะทำอย่างไร

  - ประสานกับทางเทศบาลตำบลหนองกุงในเรื่องการดูแลทางด้านงบประมานเสริมเพื่อจุนเจือครอบครัวในเบื้องต้น

  - ประสานทางผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนให้ช่วยสอดส่องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ 

  - ประสานทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดูแลเรื่องสุขภาพและอนามัย

  - โรงเรียนให้การปรึกษา ช่วยหาปัจจัยในการดำรงชีวิต ดูแลให้การส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้ระหว่างเรียน(เด็กอยากเลี้ยงปลาดุก ซึ่งอยู่ระหว่างการรองบประมาณในการลงทุน)

  - โรงเรียนประสานไปทางหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ)เพื่อจดทะเบียนคนพิการ

  - ประสานกับทางเทศบาลตำบลหนองกุงเพื่อดำเนินงานขอเบี้ยยังชีพคนพิการ

         

          นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาสังคมที่พบเจอได้แทบทุกที่ และมีอีกมากมายที่ต้องรอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลและแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กนักเรียน ผู้ที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ครู ผู้ที่จะคอยดูแล และอบรมสั่งสอนให้เขาเข้าใจในตัวเขาเองให้มากที่สุด และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเข้าใจ ยอมรับ และยอมเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอด และพัฒนาตัวเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

 

คำถามที่อยากรู้ที่สุดสำหรับผมในตอนนี้คือ  เด็กคิดอะไรอยู่

 

 

หรือท่านมีความคิดเห็นอย่างไร และมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร……. จักขอบพระคุณยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 545334เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2013 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2013 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ในความคิดเห็นส่วนตัวขอแนะนำว่า...หากมีการช่วยเหลือส่งเสริมให้เด็กมีอาชีพเลี้ยงปลาดุกที่บ้าน เด็กจะสามารถดูแลยายที่ตาบอดได้...และสามารถเรียนนอกระบบในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งนะคะ

อยากให้ดอกไม้สักพันดอกครับ  ปัญหาที่ผมเจอ คิดว่าหนักแล้ว เทียบกับสถานการณ์ของท่านอาจารย์ไม่ติดเลยครับ  อย่างไรก็แล้วแต่ ขอเสนอแนวทางดังนี้ครับ

  1. หาซื้อวิทยุ ที่สามารถเล่น ไฟล์ mp3 ให้ และจัดให้คุณยาย ได้ฟังสิ่งที่ท่านชอบก่อน แล้วค่อยแทรกเทปธรรมะบ้าง หากเครียดต้องหยุด และเลือกธรรมะที่ฟังสบายง่าย สนุก  ในขณะเดียวกัน ก็ให้ศุภเชษฐ์ ศึกษาการใช้วิทยุนั้นด้วยตนเอง เมื่อไปเยี่ยม ก็ให้ลองสาธิตและเล่าให้ฟังว่าเครื่องนั้นทำอะไรได้บ้าง
  2. ต่อไฟฟ้าเข้าไป หากซื้อทีวีและเครื่องเล่นวีดีโอซีดี (มือสองก็ได้ครับ) หาหนังที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้และอยากเรียนรู้ให้ศุภเชษฐ์ดู เมื่อไปเยี่ยมก็ถามถึงรายการต่างๆ ที่เขาดู  เพื่อนำสู่บทเรียนต่างๆ  เมื่อเขามีความมั่นใจและทักษะพอสมควรแล้ว ให้อัดวีดีโอการสอนของท่านอาจารย์ แล้วอัดลงซีดี แล้วนำไปให้เขาดู ..(Flip classroom)

ได้แต่คิดครับ .... คงทำแบบนี้ไม่ได้.... แต่ท่านอาจารย์อาจทำได้ เขียนบันทึกให้อ่านด้วยนะครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์มากเลยครับสำหรับคำแนะนำ และเป็นประโยชน์อย่างมากเลยที่เดียวครับ......ผมไปเจอสภาพแล้วจนทำให้ผมนึกว่าโทรทัศน์ mp3 ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเขา....แต่หลังจากที่ได้อ่านข้อเสนอแนะอาจารย์ ก็เข้าใจว่า มันเป็นสื่อที่ใช้ในปัจจุบันที่อาจจะมีอะไรช่วยกระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจและแปลเปลี่ยนเป็นพลังในการดำเนินชีวิตได้...ขอบคุณมากเลยครับ ^_____^ 

- ตอนนี้ได้ประสานไปทางเทศบาลแล้วเห็นว่าจะมีงบมาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ยายกับหลานด้วยครับ

- และอีกอย่างที่ไม่ได้นำเสนอ คือ เด็กคนนี้อ่านหนังสือไม่ออกด้วยครับ ผมกำลังจะแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน (Flip classroom) น่าจะแนวทางที่จะช่วยได้ดี

........................................................ขอบคุณอีกครั้งครับ ^_______^...........................................................................

ตามมาให้กำลังใจ

มีพลังพอทำแบบนี้ได้ไหมครับ

เอาแค่ครอบครัวเดียวก่อน ค่อยๆเริ่มเล็กๆครับ

ค่ายครูอาสาโรงเรียนบ้านรางมูก

ปลูกผักให้น้อง(3)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท