ไอน์สไตน์ : อัจฉริยะกับพลังจิตตสมาธิ


       ผู้เขียนเองได้หนังสือ ไอน์สไตน์ : ชีวประวัติ และ จักรวาล (ฉบับสมบูรณ์)มาประมาณเดือนแล้ว...แต่ก็ยังอ่านไม่จบ (ซะที) มีเวลาเมื่อไหร่ก็หยิบขึ้นมาอ่าน...

       จากที่อ่านนั้นมีบางอย่างที่ผู้เขียนได้มองเห็นในบางสิ่งที่มีเสมือนเป็นเงาตามติดไอน์สไตน์ก็คือ พลังจิตตสมาธิ ที่มีอิทธิพลกับความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษผู้นี้

 

        ไอน์สไตน์เคยกล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าผมคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพได้อย่างไร มันมีความซับซ้อนหลายอย่างซ่อนอยู่ที่มากระตุ้นความคิดของผม

       มีอยู่เรื่องหนึ่งที่พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจ นั่นคือ จุดเริ่มต้นสำคัญของไอน์สไตน์ เขาพูดบ่อย ๆ ว่า เส้นทางที่นำเขามาสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพเริ่มจากการทดลองทางความคิดเมื่อเขาอายุได้ ๑๖ ปี ว่า...จะเป็นอย่างไรถ้าเขาได้ท่องเคียงคู่ไปกับลำแสงด้วยความเร็วแสง ซึ่งไอน์สไตน์กล่าวในภายหลังว่า ความคิดนี้กลายเป็น ความขัดแย้งที่รบกวนเขาตลอดเวลาอีก ๑๐ ถัดมา

 

     นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า...ไอน์สไตน์มีจิตมุ่งมั่นและฝักใฝ่ในการค้นหาคำตอบทางแนวคิดที่เกี่ยวกับ แสงมาตลอด ๑๐ ปี จนในที่สุดก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ...

     อีกครั้งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังจิตตสมาธิของเขาคือ...

     จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการเป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์ คือ ความสามารถในการขจัดสิ่งรบกวนออกไปจากห้วงของความคิดทั้งหมดแล้วจดจ่อกับงานที่ทำ...

        ฮันส์ อัลเบิร์ต (ลูกชายคนโต) เล่าว่า แม้แต่เสียงเด็กร้องไห้จ้า...ก็ดูเหมือนไม่อาจรบกวนพ่อได้เลย พ่อทำงานได้โดยไม่สนใจเสียงหนวกหูเลย

     มีอยู่วันหนึ่ง...ทันเนอร์แวะมาหาที่บ้านและพบว่าไอน์สไตน์อยู่ในห้องทำงาน กำลังง่วนกับการอ่านเอกสารทั้งกอง มือขวากำลังขีดเขียนอะไรบางอย่าง มือซ้ายอุ้มเอดูอาร์ด ส่วนฮันส์ อัลเบิร์ต กำลังเล่นของเล่นและพยายามเรียกร้องความสนใจ

     ไอน์สไตน์บอกว่า...รอเดี๋ยว ใกล้เสร็จแล้วแล้วก็ส่งเอดูอาร์ดให้ทันเนอร์อุ้ม จากนั้นก็หันกลับไปรีบเขียนสมการ

     ทันเนอร์เล่าว่า ภาพที่เห็นทำให้ผมเข้าใจถึงพลังสมาธิอันแน่วแน่ของเขาเลยทีเดียว

 

     แม้กระทั่งบางครั้งไอน์สไตน์สามารถแก้สมการคณิตศาสตร์ได้ภายใต้เสียงอึกทึกครึกโครมของบุคคลล้อมข้าง...

     ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าไอน์สไตน์มีจิตใจที่จดจ่อเพื่อใช้ความคิดกับงานอย่างมีสมาธิ...แม้อยู่ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการใช้สมาธิในความคิดนั้น...

                    

          ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ  เป็นจิตที่มีระเบียบสูง พร้อมที่จะปฏิบัติกิจใด ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงจิตที่มีสมาธิมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ

              ๑. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายไป

              ๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระหรือบึงน้ำใหญ่ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว

              ๓. ใส กระจ่าง มองอะไร ๆ ได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่งไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด

              ๔. นุ่มนวลควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การงาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย

 

             อานิสงส์ของจิตที่เป็นสมาธิ

                  -     สร้างภาวะที่พร้อมจะปฏิบัติงานใด ๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  -     จิตเบิกบาน แจ่มใส สงบร่มเย็น

                  -     มีความปีติปราโมทย์ และอิ่มเอิบในการปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา

                  -     เป็นจิตที่มีพลัง มีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำโดยง่าย

                  -      มีความสุขุม เยือกเย็น สุขภาพจิตดี

                  -      ตื่นและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

                  -      ไม่เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ง่าย เป็นต้น

 

        การเจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท

          อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์ หรือความสำเร็จ) หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือแปลง่าย ๆ ว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความคิดจดจ่อ) และวิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) แปลให้จำง่ายตามลำดับว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช่ปัญญาสอบสวน

           อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสพัวพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น โดยนัยนี้จึงมีสมาธิ ๔ ข้อ คือ

           ๑. ฉันทสมาธิ     สมาธิที่เกิดจากฉันทะ     หรือสมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

           ๒. วิริยสมาธิ      สมาธิที่เกิดจากวิริยะ     หรือสมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

           ๓. จิตตสมาธิ     สมาธิที่เกิดจากจิตตะ     หรือสมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

           ๔. วิมังสาสมาธิ   สมาธิที่เกิดจากวิมังสา    หรือสมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่

         อนึ่ง สมาธิเหล่านี้ จะเกิดมีควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า ปธานสังขาร แปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร หรือความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง ขอแปลง่าย ๆ ว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์ หรือความเพียรสร้างสรรค์...

 

                          อิทธิบาท ๔ : พระพรหมคุณาภรณ์

 

 ********************************************************************************************

       จากหนังสือ ไอน์สไตน์ ชีวประวัติ และ จักรวาล (ฉบับสมบูรณ์) : หน้า.๑๓๖”    

      จากหนังสือ ไอน์สไตน์ ชีวประวัติ และ จักรวาล (ฉบับสมบูรณ์) : หน้า.๑๙๓”  

      จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). หน้า ๘๔๒- ๘๔๘.

      เครดิตภาพจาก : http://www.nine.co.th/news/news_2013-04-23.php

 

หมายเลขบันทึก: 545298เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีจังเลยครับ

ได้ศึกษาทั้งวิทยาศาตร์และพุทธศาสนา 

สบายดีไหมครับ

.."หนังสือ..สติ คือ ธรรมเอก"..ของท่าน..คาเวสโก..วัดป่า..สุนันทวราราม  กาญจนบุรี..เป็นหนังสือ"ดี"..ที่..น่า..หามาไว้อ่าน..เพราะ..อาจจะหายากมากในอนาคต..หนังสือเล่มนี้...เจ้าค่ะ..ยายธี

ขอบคุณ อ.ขจิต และคุณยายธี มากครับที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

ขอบคุณ ทุกท่านสำหรับกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้มาให้ครับ...:)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท