ตำบลศรีภูมิ......ตำบลจัดการสุขภาพเข้มแข็ง


แนวคิดการจะหนุนเสริมพลังอำนาจให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางสุขภาพมีมานานตั้งแต่ยุคเริ่มใช้การสาธารณสุขมูลฐาน เน้นให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองได้ โดยเฉพาะด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยใช้ หลักการ ๓ ก ๑ข คือ มีแกนนำสุขภาพที่เข้มแข็ง มี กิจกรรมการทำงานที่ต่อเนื่อง มีกองทุนที่จะใช้ในการดำเนินงาน และนำ ข้อมูลปัญหาสุขภาพของพื้นที่มาใช้ในการวางแผน กำกับ ติดตาม ประเมินผล เป็นหลักการที่ได้ใช้มาจนปัจจุบัน

วันนี้ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตำบลจัดการสุขภาพเข้มแข็ง ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บ้านดอนตัน นำโดย ผอ.ศรีวรรณ โนศรี และทีมงาน รวมถึงแกนนำชุมชน ตั้งแต่รองนายกอบต. ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อสม. ส.อบต. ที่ได้มาคุยให้ฟังถึงการจัดการสุขภาพของชุมชนเอง เนื่องด้วยชุมชนที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีถึง ๑๒ หมู่บ้านประชากร ๗,๒๖๑ คน มี รพ.สต. ๒ แห่ง และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน(สสช.) อีก ๑ แห่ง แต่การทำงานของที่นี่มีการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน และส่วนราชการในตำบล จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ที่นี่มีปัญหาสุขภาพหลายด้านที่สำคัญได้แก่ มะเร็ง NCD ไตวาย COPD โรคอุจจาระร่วง ไข้เลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและปัจจัยแวดล้อม


รพ.สต.และแกนนำชุมชนตำบลศรีภูมิจึงได้จัดเวทีคืนข้อมูลด้านสุขภาพให้กับชุมชน และให้ความรู้ด้านสุขภาพ และได้มีการระดมหาปัญหาสุขภาพที่สำคัญของชุมชน แล้วคัดเลือกปัญหาได้

อันดับ 1 ปัญหาด้านเหล้า/บุหรี่

อันดับ 2 ปัญหาอาหารปลอดภัย/สารเคมี

อันดับ 3 ปัญหาการออกกำลังกาย/ไร้พุง

จึงดำเนินการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้

- ไม่บริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในงานศพ งานผ้าป่า และงานบวชที่วัด

- ร่วมกันรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา



- มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารปลอดภัย มีการจัดการสุขาภิบาลอาหารให้ถูกหลักอนามัย


- ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ และจัดประกวดครัวเรือนปลูกผักปลอดสารพิษ


- คัดกรองภาวะสุขภาพ/ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

- อาหารว่างเลี้ยงแขกในงานต่างๆ ในชุมชน ให้เป็นอาหารพื้นบ้าน เช่นผลไม้ตามฤดูกาล น้ำสมุนไพร น้ำเปล่า นมจืด ไม่บริการ หรือ ลดของหวาน ลูกอม ขนมปัง ขนมหวาน

- ให้จัดพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายตามสภาพของแต่ละหมู่บ้าน


ผลของการดำเนินงานทำให้เกิดความร่วมมือกันในชุมชน ทำให้ปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้รับการส่งเสริมและป้องกันแก้ไข จนเป็นที่ยอมรับของตำบลอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างขยายผล


นอกจากนี้ในปี ๒๕๕๖ CUP ท่าวังผา นำโดย นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวังผา และคุณธัญญา วิเศษสุข สาธารณสุขอำเภอท่าวังผา ได้กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของอำเภอโดยนำแนวทาง DHS(District Health System) SHA CUP หลักเวชศาสตร์ครอบครัว และตำบลจัดการสุขภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน ได้ดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพของอำเภอ โดยคัดเลือกบ้านดอนตัน ๓ ตำบลศรีภูมิ เป็นพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งมี ๑๔๐ หลังคา ประชากร ๔๙๕ คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตร มีอาชีพเสริมคือการทำหัตถกรรมหวาย จากการคัดกรองสุขภาพคนในชุมชนพบว่ามีกลุ่มเสี่ยงความดันโลหิตสูง ๖๔ คน เสี่ยงโรคเบาหวาน จำนวน ๑๕ คน และเสี่ยงทั้งความดันโลหิตสูงและเบาหวาน จำนวน ๘ คน ทีมสุขภาพจึงได้มีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการทำงานร่วมกัน คืนข้อมูลด้านสุขภาพ และให้ความรู้ด้านสุขภาพให้กับชุมชน และร่วมกันจัดเสวนาชุมชนในกลุ่มผู้นำ, กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง, กลุ่มอสม. เกิดแนวทางมาตรการร่วมกันดังนี้


กลุ่มผู้นำชุมชน

- ห้ามจัดเลี้ยงน้ำหวานในงานสีดำ

- ห้ามจำหน่ายอาหารหวานในโรงเรียนและสถานที่ใกล้โรงเรียน

- กำหนดเส้นทางในหมู่บ้านให้เป็นเส้นทางร่วมจักรยาน

- จัดให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพผู้พิการ /ลานออกกำลังกายหน้าตลาดบ้านดอนตัน

- จัดบริการหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในการส่งต่อผู้ป่วยโดยองค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ

- การจัดทำแผนที่ชุมชนแสดงบ้านที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง

กลุ่มอสม.

- การคัดกรองภาวะสุขภาพกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง

- การติดตามกลุ่มเสี่ยง ความดัน/เบาหวาน เดือนละ 1ครั้ง

- ส่งเสริมการจัดกิจกรรมกลุ่มทางกายในชุมชน

- การส่งเสริมพฤติกรรมบริโภค “ลด หวาน มัน เค็ม ในชุมชน"

- การจัดการเข้าถึงบริการแก่กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย

กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

- จัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในการดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มละ 6 คนมีการทำกิจกรรมรายกลุ่มและมีการวัดความดันโลหิตสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และรายงานผลที่รพ.สต.เดือนละ 1 ครั้ง มีการจัดให้รางวัลแก่กลุ่มที่สามารถดูแลความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- จัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 6 กลุ่มๆละ 5-6 คน มีการเจาะเลือดติดตามผลการรักษา เดือนละ 1ครั้ง



แล้วนำข้อคิดเห็นข้อเสนอจากกลุ่มย่อยต่างๆ มาเข้าเวทีประชาคมของหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแนวทางต่างๆ

เห็นความเข้มแข็งของชุมชนในการที่จะร่วมกันจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองแล้วก็รู้สึกเป็นสุขใจที่มิติสุขภาพไม่ได้อยู่ที่มือหมอเท่านั้น หากแต่อยู่ในมือของทุกคน

เป็นกำลังใจให้ทีมงานทุกคนครับ

หมายเลขบันทึก: 544959เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกิจกรรมดีที่น่าสนใจมาก ๆ จ้ะ

...เข้มแข็ง ทุกๆด้านเลย ค่ะ .... ความรู้ + กิจกรรม + การมีส่วนร่วม นะคะ ..... ขอบคุณค่ะ  

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท