วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2556 วันสำคัญของปวงชนชาวไทย


วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2556 วันสำคัญของปวงชนชาวไทย

  วันสำคัญที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศจะต้องตระหนักและระลึกถึงวันแม่แห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของชาติ ในปีนี้ก็ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่งซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2556 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9  ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 81 พรรษา จึงยึดถือเอาวันสำคัญนี้เป็นวันแม่แห่งชาติของทุกปี

  ความหมายของคำว่า”แม่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้  แม่ หมายถึง หญิงในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน ในทางพระพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า”แม่” คือ หญิงที่มีครอบครัวไว้หลายนัยยะ เช่น

  1. แม่ บางทีเรียกว่า มารดา มารดร หมายถึง ความเป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ แม่กองอันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ภายในกิจการนั้น ๆ  ในที่นี้มาใช้กับผู้ให้กำเนิดแก่ลูกและหาตัวแทนไม่ได้

  2. ชนนี หมายถึง ผู้ให้กำเนิดลูกเป็นที่บังเกิดเกล้าของลูก

  3. ภรรยา หรือ ภริยา หมายถึง เมียหรือหญิงผู้เป็นคู่ครองของชาย ผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลสมาชิกครอบครัว

  โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2556 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2556 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า "คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

  วันแม่แห่งชาติ  ของทุกๆปี หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมให้ลูก ได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรักความเคารพต่อแม่โดยจัดเป็นกิจกรรมต่างๆกันไป ล้วนเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการฉุกคิดถึงพระคุณของแม่เป็นอย่างดี การคิดถึงพระคุณท่านนั้นดีแล้ว แต่จะให้ดียิ่งๆขึ้นไป ต้องพร้อมไปด้วยการปฏิบัติต่อท่านตลอดไปชั่วชีวิต ในสิ่งที่ลูกพึงกระทำ นั่นคือทำหน้าที่ของลูกที่พึงปฏิบัติต่อผู้ให้กำเนิด ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหน้าที่ของลูกพึงปฏิบัติต่อแม่และพ่อ 5 ประการ ดังนี้[1]

1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบแทน  ข้อนี้มิได้หมายถึงว่าแม่พ่อเลี้ยงเรามา ก็เพื่อหวังมาเอาคืนในภายหลัง ความรู้สึกนั้นไม่มีแน่นอนกับแม่พ่ออย่างแท้จริง แต่ให้เราคิดว่าถ้าเราไม่เลี้ยงท่านแล้วใครจะเลี้ยง เหมือนเช่นเราครั้งเป็นทารก ถ้าหากท่านไม่เลี้ยงเราใครจะเลี้ยง แม้นปล่อยทิ้งๆขว้างๆก็คงลำบากยากแค้นไปแล้ว

2.ทำกิจธุระของท่าน  งานของท่านที่ได้ทำมาแล้ว และยังคงดำเนินการอยู่ หรือภาระใดๆที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ลูกควรต้องสอบถาม แสดงน้ำใจทั้งช่วยท่านแบ่งเบาภาระ เพราะอายุท่านก็เยอะแล้ว คนอื่นทำก็คงไม่ทำให้ท่านสบายใจได้มากเท่ากับลูกของท่าน

3.ดำรงรักษาวงศ์สกุล ให้คงอยู่และไม่เสื่อมเสียหาย การได้กำเนิดลูกมาคนหนึ่ง อย่างน้อยก็หวังให้ได้สืบทอดวงศ์สกุล ไม่ให้สังคมได้ดูแคลนว่าลูกบ้านนั้นบ้านนี้ไปทำเสื่อมเสีย จนต้องออกมาถามว่า ลูกใครหนาช่างเป็นเช่นนี้ การที่จะให้สกุลคงอยู่ได้ลูกจึงต้องคบหาแต่เพื่อนที่ใฝ่ดี ไม่ชักชวนไปในทางเสื่อม โดยเฉพาะต้องทำหน้าที่ของตน ในเบื้องต้นคือเชื่อฟังคำสั่งสอนท่าน เรียนและศึกษาตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แม้ไปทำงานจะมีครอบครัว ก็ต้องปรึกษาท่านเพื่อให้ได้มาซึงสามีภรรยาที่ดี

4.ปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นผู้สมควรรับมรดก มรดกสมบัติที่ท่านมีอยู่ สุดท้ายก็มอบให้กับผู้เป็นลูก แต่ก็จะเป็นผู้รับมรดกนั้น ต้องทำตนให้สมควรรับ เพื่อให้ท่านได้สบายใจว่าสมบัตินี้จะไม่สูญไปเมื่อมอบให้ นั้นคือต้องเป็นผู้อยู่ในศีล ในธรรม อย่างน้อยก็ศีล 5  นอกจากนั้นก็ต้องศึกษาวิชาการที่เหมาะสมกับมรดกนั้นว่า จำเป็นต้องใช้ศิลปวิทยาใดบ้างจึงจะรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องศึกษาเรื่องนั้นๆอย่างเต็มที่

5.เมื่อท่านล่วงลับ ทำบุญอุทิศให้  เป็นหน้าที่ของลูกโดยตรง ที่จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน เพราะนอกจากจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแล้ว ยังได้รู้จักบริจาคทาน เข้าหาพระ เข้าหาวัด นี้เองที่จะเป็นสิ่งไม่ให้เราเสื่อมไป แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว [2]

กล่าวโดยสรุป หากแม้นวันนี้ไม่มีแม่พ่ออยู่กับเราแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้ที่ปกครองดูแลเรานั้นแหละคือแม่พ่อของเราเช่นกันที่เราก็ควรต้องปฏิบัติไม่ต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใดเราคนไทยทุกคนมี “แม่พ่อ” คนเดียวกัน ที่ทุกคนในพื้นแผ่นดินไทยรับรู้ด้วยใจว่าท่านคือ “แม่และพ่อแห่งแผ่นดิน” นอกจากหน้าที่ทั้ง 5 ที่ลูกควรทำกับพ่อแม่แล้ว ความสามัคคีคือสิ่งสำคัญที่แม่และพ่อ

แห่งแผ่นดิน หวังให้ลูกหลานไทยทุกภาคส่วนและทุกสีเสื้อก่อเกิดและรักษา นั่นคือ รู้รักสามัคคีและปรองดองกัน”

   ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ นอกจากดอกมะลิ หรือพวงมาลัยที่จะให้ท่านแล้ว ก็ขอฝากหน้าที่ทั้ง 5 นี้ไว้เป็นพื้นฐานหน้าที่ ธรรมะที่เราจะพึงปฏิบัติต่อท่านตลอดไปแล้ว “ความเจริญ” ต่อท่านและคนรอบข้างรวมถึงประเทศไทย ก็อยู่ไม่ไกล แค่ลงมือกระทำ



[1] www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?...read... - แคช

[2] วิกูล  โพธิ์นาง.  [email protected]  www.oknation.net/blog/wikulponang


หมายเลขบันทึก: 544660เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท