ชีวิตที่พอเพียง : 1955c. ศาสตร์ว่าด้วยการทะเลาะกันของผัวเมีย


ชีวิตที่พอเพียง  : 1955c. ศาสตร์ว่าด้วยการทะเลาะกันของผัวเมีย  

นิตยสาร นิวสวีก ฉบับวันที่ ๑๗ ก.ค. ๕๖  ลงเรื่องApology Not Accepted : When Fighting with Your Partner, Think Twice Before Resorting to ‘I’m sorry’  โดยอ้างถึงผลงานวิจัยของ  Keith Sanford เรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างคู่ (partner)  ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Social and Clinical Psychology 

ทำให้ผมตามไปค้นได้ abstract ของบทความ เรื่อง What Married Couples Want From Each Other During Conflicts : An Investigation of Underlying Concerns  

สาระสำคัญของการวิจัยนี้ บอกเราว่า ผัวเมียมักทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง  แต่ที่น่าสนใจสำหรับผม คือนักวิจัยเขามีวิธีตั้งโจทย์  วิจัยเรื่องพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน  ด้วยประเด็นที่เป็นวิชาการด้านจิตวิทยา  มองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง (conflict) ระหว่างคู่ (partner)

เขาแยกความขัดแย้งออกเป็น ๒ แบบ  ตามความรู้สึก (perception) ของฝ่ายหนึ่ง  แบบแรก รู้สึกว่าถูกคุกคาม  แบบหลังรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง   และผลการวิจัยก็เป็นไปตามคาด  ความขัดแย้งแบบแรกแก้ได้โดยหยุดการคุกคาม  และแบบหลังแก้ได้โดยการแสดงความรัก ความเอาใจใส่ 

ผลการวิจัย ที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อเดิมๆ คือ  คู่ขัดแย้งไม่ได้คาดหวังให้อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวคำขอโทษ  หรือการกล่าวคำขอโทษ จะไม่ทำให้ความรู้สึกทั้งสองอย่างนั้นหายไป  ผู้วิจัยอธิบายว่า คำขอโทษ เป็นคำพูดง่ายๆ ที่ไม่จริงจัง  ไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคลายความรู้สึกทั้งสองแบบข้างต้นได้

ความขัดแย้ง ต้องแก้ด้วยการกระทำ  ไม่ใช่ด้วยคำพูด

ทำให้ผมนึกถึงคำโบราณ  ที่ว่า ผัวเมียทะเลาะกันมาก ลูกจะดก

แต่นั่นเป็นผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา  คนไทยคิดและมีพฤติกรรมแบเดียวกันหรือไม่  นั่นคือโจทย์วิจัย 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๕๖


 


หมายเลขบันทึก: 543346เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2013 05:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2013 05:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์ที่นับถือ

อ่านบทความของอาจารย์ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์มากๆๆค่ะ ขอขอบคุณค่ะ

อ.นิ่มอนงค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท