The Reader: ช่วงรักต่างวัย กับ อาชญากรสงคราม: การศึกษาในเชิงการตีความ


     

     หลังจากที่ร้อนรุ่นน้องของผมได้นำหนังเรื่อง The reader มาให้เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ผมได้ดูและ “อ่าน” เรื่องนี้ไปแล้วรอบหรือเกือบสองรอบแล้ว เผอิญได้รู้ข่าวว่านิสิตจุฬาฯได้ติดรูปฮิตเลอร์ไปในงานรับปริญญาปีนี้ ทำให้ผมหยิบหนังเรื่องนี้มา “อ่าน” อีกครั้ง และก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ได้อะไรที่มากกว่าเดิมอีก ทั้งนี้ผมจะขอเล่าเรื่องย่อๆ พร้อมกับการตีความเป็นส่วนๆไปครับ

     The Reader เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกัน แต่งโดยเบิร์นฮาร์ด ชลิงก์ (Bernhard Schlink) ภาพยนตร์นอกจากได้เคตส์แล้วยังมี ราล์ฟ ไฟน์ มาร่วมแสดงด้วย โดยมี สตีเฟ่น เดลดรี้เป็นผู้กำกับ และ The Reader ก็กลายเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญมากที่สุดแห่งปีเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะชาวเยอรมัน เพราะนอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่ละเมียดในเรื่องความรักแต่สุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรมของสาววัย 36กับหนุ่มน้อยวัย 15 ยังกระชากอารมณ์ในครึ่งหลังของเรื่องด้วยการพิพากษาคดีอาชญากรรมแห่งสงครามที่กระทบต่อคนทั้งสองไปตลอดชีวิต

      หลังสงครามโลกครั้งที่สองหมาดๆ ไมเคิล เด็กหนุ่มวัย15 ปี (เดวิด ครอส) ขณะที่กำลังกลับบ้านเกิดป่วยเป็นไข้และได้รับการช่วยเหลือจากสาววัย 36 ปี ฮันนา ชมิดท์ (เคตส์ วินส์เลต) และจากความประทับใจนั้นเองทำให้เด็กหนุ่มไมเคิลหาทางมาพบกับฮันนา และภาพของสาวสวยฮานาที่น่าจดจำทำให้เด็กหนุ่มหลงใหลจนก้าวลึกไปสู่สัมพันธภาพที่สุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรม ทุกๆวันหลังเลิกเรียนไมเคิลจะรีบมาหาฮันนาและก่อเกิดบทรักที่แสนละเมียด โดยเฉพาะไมเคิลจะอ่านหนังสือให้ฮันนาฟังก่อนจนเป็นที่พอใจของเธอจึงจะได้รางวัลอันดูดดื่มเป็นการตอบแทน สัมพันธภาพที่กลายเป็นความทรงจำแต่ก็เป็นความลับที่ปวดร้าวในอนาคตของทั้งคู่

     ฮันนาได้เลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้น  แต่แทนที่เธอจะดีใจเหมือนคนทั่วไปกลับกลายเป็นรู้สึกตื่นตระหนกและเศร้าซึม  ข้อเรียกร้องด้านความรู้ความสามารถในตำแหน่งใหม่กำลังทำลายเส้นรางที่เคยชัดเจน  ฮันนาไม่อาจรับมือกับบทบาทใหม่ที่เป็นเหมือนแดนสนธยา เธอพึงใจแต่จะเป็นคนเก็บตั๋วธรรมดาไปชั่วชีวิต ฮันนาหายตัวไปโดยปราศจากคำอธิบาย  เมื่อวันหนึ่งฮันนาหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไมเคิลพกพาความทรงจำที่ค้างคาอยู่ในใจ ภาพยนตร์เป็นที่วิจารณ์มากในฐานะที่อ้างถึงประวัติศาสตร์อันโหดร้าย การทารุณกรรมของนาซีที่มีต่อเหยื่อชาวยิว แม้จะไม่มีฉากสงครามใดๆก็ตาม บางคนเรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็น “เยอรมันรุ่นที่สอง” ก็คือรุ่นของชาวเยอรมันที่ได้รับผลจากการกระทำของรุ่นก่อนหน้าคือนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์แบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนในช่วงแรกเป็นบทรักที่ละเมียดละไมแต่อาจะทำร้ายจิตใจต่อระบบคุณธรรมแต่มนุษย์ก็เกิดมาพร้อมกับโลกีย์วิสัยอยู่แล้วแต่มักจะถูกปฏิเสธตามเหตุผลของสังคมที่จะยกระดับจิตใจทั้งตั้งใจหรือไม่ก็เป็นพวกถือสากปากถือศีล ความหลงใหลในบทรักของไมเคิลวัยเด็กอาจจะเรียกเป็นการทารุณกรรมหรือล่วงละเมิดทางเพศโดยหญิงสูงวัยก็ได้ (หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจเป็นผู้ใหญ่สูงวัยทำทารุณกรรมต่อเด็กก็ได้) เพียงแต่การบาดเจ็บของไมเคิลไม่ใช่ร่างกายเหมือนการทารุณทางเพศทั่วไปแต่เป็นการบาดเจ็บทางใจในอนาคตที่ส่งผลมากมายต่อไมเคิลในวัยผู้ใหญ่รวมทั้งครอบครัวของไมเคิลด้วย ในนัยยะเดียวกันฮันนาก็อาจเจ็บไม่น้อยกว่าไมเคิลเลยก็ได้

     ในฉากช่วงแรกของ The Reader  พยายามอธิบายความซับซ้อนของเหตุการณ์ในอดีตซึ่งบ่อยครั้งก็คลุมเครือเกินกว่าจะตัดสินหรือวินิจฉัยความถูกผิด  แม้กระทั่งบางพฤติกรรมของมนุษย์ก็ยังยากต่อความเข้าใจตามมาตรฐานวิญญูชน (เรียกตามหนังกำลังภายใน 5555)  ในหนังเรื่อง The Reader ก็มีอยู่หลายฉากที่สะท้อนถึงความบริสุทธิ์ใจภายในแต่กลับสวนทางกับมาตรฐานสังคมซึ่งมักตัดสินความผิดถูกจากภาพลักษณ์ภายนอก  เช่นฉากความสัมพันธ์หรือ การลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ของสาวใหญ่กับเด็กหนุ่ม การวินิจฉัยหรือพิพากษาการกระทำของมนุษย์จึงเป็นเพียงพิธีกรรมในสังคมเพื่อธำรงเส้นมาตรฐานสมมติซึ่งบ่อยครั้งก็สวนทางกับ “ความยุติธรรม” ในความเป็นจริง
       การชำระล้างร่างกายเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ  The Reader  ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องที่ไมเคิลอาเจียนและฮันนามาช่วยเช็ดหน้าทำความสะอาด  ฉากเขม่าถ่านที่เปื้อนหน้าไมเคิลก่อนการเปิดบริสุทธิ์ครั้งแรก  ฉากอาบน้ำขัดตัวของทั้งสองรวมถึงฉากว่ายน้ำซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง  รอยเปื้อนบนเนื้อตัวร่างกายอาจถูกชำระล้างออกได้ไม่ยากนัก  ในขณะที่ความรู้สึกผิดอันเป็นรอยเปื้อนในจิตใจกลับฝังแน่นยากแก่การชำระล้าง ประเด็นนี้ขยายความต่อถึงรอยด่างในประวัติศาสตร์  เป็นความทรงจำเลวร้ายซึ่งฝ่ายจำเลยของสังคมถูกตราหน้าให้ไม่อาจลุกขึ้นมาชี้แจงหรือแก้ตัวเพื่อเรียกร้องความเข้าใจจากใครได้  The Reader  นำประเด็นนี้มาสวมครอบทัศนคติของผู้ชมที่เคยมีต่อกลุ่ม “นาซี”


หมายเลขบันทึก: 542656เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

..... ขอบคุณ ความรู้ใหม่ ดีจังเลยค่ะ ... ระบบคุณธรรมแต่มนุษย์ก็เกิดมาพร้อมกับโลกีย์วิสัยอยู่แล้วแต่มักจะถูกปฏิเสธตามเหตุผลของสังคมที่จะยกระดับจิตใจทั้งตั้งใจหรือไม่ก็เป็นพวกถือสากปากถือศีล ......



ตามมาอ่านให้ครบค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท