อาหารปลอดภัย ยกระดับสุขภาพอนามัย กินดี สุขภาพดี เรื่องดีของทุกคน


เรื่องของพฤติกรรมการบริโภคซึ่งมีเป้าหมายคือการมีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องที่จะเริ่มพูดคุยแต่เฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงานหรือผู้ใกล้วัยสูงอายุที่ต้องหันมาดูแลสุขภาพเป็นการเร่งด่วนเท่านั้น เพราะกับกลุ่มนักเรียนที่ยังอยู่ในวัยเด็ก -เยาวชนเองก็สามารถจะรู้จักวิธีป้องกันตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆกิจกรรมที่สร้างกระบวนการแห่งวิถีบริโภคที่ว่านี้ มีชื่อว่า “โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยกับการยกระดับสุขภาพอนามัยในโรงเรียน” ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อยอดจากโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าโดยไม่ลืมนำความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์มาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงแทนที่จะเอาหลักวิทยาศาสตร์มาเพื่อทำข้อสอบหรือท่องจำให้เกิดความน่าเบื่อ 


“ชายกร สินธุสัย” นักวิชาการศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล่าว่า กิจกรรมจะท้าทายให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องการตรวจสอบหาสารพิษในอาหารที่รับประทานภายในโรงเรียน การตรวจสอบความสะอาดในโรงอาหาร การวิเคราะห์สารอาหารคุณค่าทางโภชนาการ การตรวจสอบสลากสินค้า ฯลฯ มาพัฒนากระบวนการบริโภคของนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนของตัวเองมีสุขภาวะทางบริโภคไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนให้รับประทานผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น การลดอัตราท้องร่วง อาหารเป็นพิษโดยเทียบกับสถิติเดิมที่เคยสำรวจ การลดภาวะโรคอ้วน น้ำหนักเกินในหมู่นักเรียนรวมไปถึงการออกกำลังกายแทนการหน้าคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว“เราอยากให้ความเป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์มาพัฒนาสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการบริโภคอย่างเป็นรูปธรรม เพราะอย่าลืมว่า พฤติกรรมการบริโภคคือที่น่าเป็นห่วง เพราะการกินส่งผลถึงประสิทธิภาพในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะด้านสติปัญญา สุขภาพ ความไม่เจ็บป่วยที่เป็นส่วนสำคัญกับการเรียนโดยตรง”


“โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยกับการยกระดับสุขภาพอนามัยในโรงเรียน” จึงเป็นการปลุกเร้าให้นักเรียนตั้งคำถามกับความเป็นไปเรื่องอาหารภายในโรงเรียนและชุมชนรอบตัว ก่อนนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง สร้างลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี บนเวทีเสวนาระหว่างการถอดบทเรียนและประสบการณ์ภายหลังทำกิจกรรม ในช่วงครึ่งปีแรก  ของกลุ่มนักเรียนพื้นที่ จ.นครนายก และ จ.ฉะเชิงเทรา  จุฑามาศ เดชเกาะเก่า นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนบ้านนา นายกพิทยากร จ.นครนายก เล่าว่า พวกเธอและเพื่อนเริ่มคิดโรงงานวิทยาศาสตร์อาหารปลอดภัยโดยเริ่มจากโรงอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่ทุกคนในโรงเรียนต้องมาใช้ทานอาหารโดยแบ่งงานกันสังเกตเรื่องภาชนะ ขั้นตอนการปรุง และการสุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนด้วยชุดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ หากส่วนใดมีข้อสงสัยโรงเรียนจะขอความร่วมมือกับผู้ค้าให้พัฒนาให้ดีขึ้น ถ้ายังไม่ปรับปรุงอีกอาจนำไปสู่การเสนอไม่ต่อสัญญาได้จากนั้นจึงพัฒนาต่อด้วยการรวมข้อมูลเผยแพร่ในวงกว้างผ่านเสียงตามสาย บอร์ดของโรงเรียนถึงโทษและผิดภัยของการบริโภค พร้อมๆกับเชื้อเชิญให้มาร่วมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างผัก ผลไม้ การออกกำลังกายลดโรคอ้วน การหาเครือข่ายร่วมปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการได้อาหารปลอดภัยไว้บริโภคเอง มากกว่านั้นยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้วย“เราต้องสร้างกระแสให้เพื่อนๆหันมาสนใจ ทำให้เรื่องการกินสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รูปร่างปกติ อ้วนไปหรือผอมไป”เธอว่า 


ส่วน “อภิญญา โพนคำ” ชั้น ม.5 โรงเรียนพระราชทานนายาว จ.นครนายก บอกว่า ทุกคนรู้ดีว่าต้องรับประทานอาหารที่มีคุณค่า สะอาด ปลอดภัย พร้อมกับที่ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่พฤติกรรมในแต่ละวันกลับตรงข้าม เพื่อนๆบางคนใช้เวลามากกับการโทรศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ การสร้างกิจกรรมจึงมีจุดประสงค์เพื่อเตือนสติคนในโรงเรียนให้ลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง ทำอย่างสนุกสนาน และที่สำคัญไม่ยากจนเกินไป“เราไม่รู้ว่าอาหารที่เราซื้อไปนั้นผ่านวิธีการอย่างไรบ้าง นอกจากจะร่วมกันตรวจสอบแล้วอีกทางหนึ่งคือการผลิตอาหารเอง จึงร่วมสร้างกิจกรรมทำผักสวนครัว ที่ได้ทั้งความสนุกสนาน ใช้บริโภคเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายและได้ประโยชน์ หรือจะเป็นการเต้นแอโรบิคร่วมกันในชั่วโมงกิจกรรม การทำเช่นนี้เป็นการนำความรู้ให้มาใช้ได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี อะไรมีประโยชน์หรือโทษ แต่รู้แค่ในห้องเรียนไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง”เธอสรุปบทเรียนหลังการทำกิจกรรมส่วนความคิดเห็นอื่นๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคักบนเวทียังเสนอกลวิธีการสร้างความน่าสนใจแก่การทำกิจกรรมที่ว่าด้วยวิถีการบริโภค อย่างการสร้างผลิตภัณฑ์ที่คนทุกกลุ่มชอบ เช่นการทำน้ำสมุนไพร


ในโรงเรียน ที่เอื้อให้นักเรียนได้มีโอกาสได้บริโภคได้ง่ายๆ และราคาถูก การตั้งชมรมกีฬาอย่างการขี่จักรยาน เต้นแอโรคบิค โดยการดึงคนในชุมชนที่ออกกำลังกายอยู่แล้วมามีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเครือข่ายแนวร่วมเป็นวงกว้าง เกิดพลังที่จะทำให้กิจกรรมสำเร็จได้ตามเป้าหมายทำให้เรื่องการบริโภค การมีสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องของทุกคน มิใช่รอให้โรคเริ่มถามหาถึงค่อยเปลี่ยนพฤติกรรม

หมายเลขบันทึก: 542544เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...... ช่วยกันรณรงค์ อาหารปลอดภัย ...ตลาด.... โรงเรียน .... ร้านค้า .... สุขภาพดีถ้วนหน้า นะคะ....

น่ายินดีอย่างยิ่งที่โรงเรียน ชุมชน เริ่มใส่ใจให้ความสำคัญกับอาหาร นอกเหนือจากให้เป็นธุระของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหลังจากกระทรวงสาธารณสุขเริ่มรณรงค์ตรวจสารเคมีปนเปื้อนในอาหารตั้งแต่ประมาณปี 2548 พบว่ามีการใช้สารเคมีเหล่านี้ลดลงอย่างมากเช่นสารบอแรกซ์ลดลงมากกว่า 90% แต่ช่วงหลังเริ่มให้งบประมาณด้านนี้น้อยลง ผู้ค้าอาจเริ่มใช้สารเคมีเพิ่มอีก ถ้าชุมชนรณรงค์ตรวจตราแบบนี้ สมาชิกในชุมชนคงมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้าค่ะ

...เลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ ควรอ่านฉลากโภชนาการด้วยนะคะ เพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยอย่างจริงจังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท